ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    เรื่องสั้น

    เรื่องของคนสองคน ตอนที่ 1 "จาก พ่อ ถึง ลูก"

    ถึงวันพ่อ พ่อนำเอาความรัก             ทั้งดวงจิตคิดพิทักษ์ปกป้องเจ้า
    ความอบอุ่นมีให้แต่วัยเยาว์             คอยเร่งเร้าปลุกจิตช่วยคิดการ
    แต่ยามลูกมีคู่อยู่เคียงข้าง                  จะอ้างว้างฤารักสมัครสมาน
    พ่อไม่อาจป้องปัดหรือทัดทาน           สุดแต่ลูกจะบันดาลกันลำพัง
    ได้แต่เพียงเขียนพร่ำทำเป็นหลัก         เพื่อลูกจักมีภูมิเป็นปูมหลัง
       เป็นความรู้ก่อร่างสร้างรวงรัง            ให้สมหวังอบอุ่นละมุนละไม
    ยามลูกสุขสดใสในชีวิต                  เหมือนลิขิตชีวิตพ่อก่อเกิดใหม่
    ไม่ว่าลูกผ่านคู่สู่วัยใด                   ความห่วงใยในตัวเจ้ายังเท่าเดิม

    จากพ่อ ( ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ )


    เรื่องของคนสองคน   จาก "พ่อ"


    คนสองคนที่ตัดสินใจแต่งงานกันนั้น โดยส่วนใหญ่ย่อมมีความรักเป็นพื้นฐาน และเป็นเค้ามูลแห่งการตัดสินใจ ซึ่งนับว่าเป็นเค้ามูลที่ถูกต้องที่สุด เพราะความรักที่มีต่อกัน ย่อมจะเป็นปัจจัยสำคัญ ในอันที่จะทำให้ชีวิตคู่ยืนยง และอยู่กันอย่างมีความสุข แต่มิได้หมายความว่า เพียงลำพังความรักอย่างเดียว จะทำให้เกิดความยืนยง หรือความสุขได้ตลอดไป เพราะคนทั้งสอง ย่อมมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน และด้วยเหตุนี้การอบรมบ่มนิสัย ความเคยชินความชอบหรือไม่ชอบ จึงย่อมแตกต่างกัน เมื่อจะต้องมาอยู่ด้วยกัน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่การปรับตัวเข้าหากันนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย ต้องอาศัยทั้งความอดทนความรอมชอม และการอ่อนข้อให้แก่กันและกัน ใครที่เคยนึกในขณะที่กำลังรักกัน และยังไม่ได้แต่งงานกันว่า "เราสองคนช่างมีอุปนิสัย ใจคอ คล้ายคลึงกัน" นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเป็นการสรุปจากสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของแต่ละคน


    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมี "ความรัก" เป็นพื้นฐาน และมีความตั้งใจที่จะทำความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว สิ่งที่ว่ายากก็อาจกลายเป็นง่ายได้ ข้อคิดดังต่อไปนี้ คือสิ่งที่พ่อได้เฝ้าสังเกตมาจากตัวเองบ้าง จากการรับฟังปัญหาของคนอื่นบ้าง และคิดว่าถ้าได้ตระหนักไว้ ก็น่าจะช่วยให้การปรับตัวเข้าหากันทำได้ง่ายยิ่งขึ้น


    1. พื้นฐานแห่งครอบครัวเดิม


    ความรักของคนสองคนที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่า จะต้องเกิดขึ้นกับคนที่มาจากพื้นฐาน และวิถีชีวิตแห่งครอบครัวที่ใกล้เคียงกัน และถึงแม้จะใกล้เคียงกันอย่างไร ก็ยังมีสิ่งแตกต่างกันอยู่นั่นเอง


    สิ่งแรกที่ทั้งสองคนจะต้องทำ จึงได้แก่การลืมพื้นฐาน และวิถีชีวิตแห่งครอบครัวเดิมของตนเสีย แล้วเริ่มร่วมกันสร้างพื้นฐาน และวิถีชีวิตแห่งครอบครัวของตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะมีแนวทางเหมือน ใกล้เคียงหรือแม้แต่จะแตกต่างไปจากครอบครัวเดิมของทั้งสองก็ได้ สุดแต่ว่าทั้งสองจะตั้งเป้าหมาย แห่งครอบครัวของตนไปในแนวทางใด


    บางกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจจะมีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี หรือสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่มีพื้นฐานดีกว่า ก็จะต้องลืม "ความดีกว่า" หรือ "เหนือกว่า" นั้นเสีย เพื่อมิให้เกิดความรู้สึก Superior หรือติดยึดกับความสะดวกสบายที่เคยชินมาก่อน อันจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างครอบครัวที่เริ่มต้นใหม่ ส่วนฝ่ายที่มาจากพื้นฐานที่ด้อยกว่า (ซึ่งอาจจะด้อยกว่าจริงในทางใดทางหนึ่ง หรืออาจจะคิดเอาเองว่าตนด้อยกว่าก็ตาม) ก็ต้องลืมพื้นฐานเดิมของตนเช่นเดียวกัน เพื่อมิให้เกิดปมด้อย ซึ่งสำหรับบางคนอาจลบล้างด้วยการสร้างปมเด่นให้เกิด ขึ้น เพื่อเป็นการข่มอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายชายรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า)


    เมื่อปล่อยวางพื้นฐานและวิถีชีวิต ของครอบครัวเดิมของทั้งสองคนได้แล้ว จึงค่อยๆ ปรึกษาหารือกันว่า ครอบครัวใหม่ "ของเรา" จะเดินหน้ากันไปอย่างไร มีวิธีการดำเนินชีวิตกันอย่างไร ที่ให้ลืมพื้นฐานเดิมนั้น มิได้หมายความจะต้องปฏิเสธสิ่งที่ดีๆ จากครอบครัวเดิมเสียทั้งหมด เพราะคนเราย่อมหนีไม่พ้น ที่จะเลือกสรรตัวอย่างที่ดีๆ ที่พบเห็นจากที่ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างได้ ดังนั้น จึงอาจจะเลือกสรรตัวอย่างดีๆ ที่เคยประทับใจจากครอบครัวเดิมของตนก็ได้ แต่ตัวอย่างที่ว่านั้น ต้องเป็นตัวอย่างที่ทั้งสองฝ่าย เห็นดีเห็นงามว่า สมควรจะใช้เป็นแนวทางได้