ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    049789 เลื่อนวันเลือกตั้งคุณชัยครับ17 ธันวาคม 2556

    คำถาม
    เลื่อนวันเลือกตั้ง
    กราบสวัสดีอาจารย์ครับ กระผมมีข้อสงสัยอยู่ว่า การที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 ก.พ.2557 แล้ว ถ้าดูตามข้อเท็จจริงของสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้จะสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องได้หรือไม่ครับ และถ้าเกิดไม่มีการเลื่อนวันเลือกตั้ง เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วปรากฎว่า มีพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคเกิดบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือมีการเคลื่อนไหวสกัดกั้นทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้างครับ กราบขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าครับ
    คำตอบ

    รัฐธรรมนูญ ม. ๑๐๘ วรรคสอง บัญญัติว่า การยุบสภาให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชขอาณาจักร ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็ฯว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า การกำหนดวันเล่ือกตั้ง ภายในอย่างช้าไม่เกินหกสิบวัน และต้องเล่ือกตั้งในวันเดียวกัน

       เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ในเวลาที่ กกต.ให้ใบแดง หรือใบเหลือง แล้วก็กำหนดวันเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นระยะเวลาที่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาแล้วทั้งนั้น กกต.ทำได้อย่างไร  และเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องจัดการเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร  แต่ทำไม กกต.จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งในต่างประเทศวันหนึ่ง  กำหนดให้มีการมาลงคะแนนล่วงหน้าอีกวันหนึ่ง และวันเลือกตั้งทั่ว ๆ ไป อีกวันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนกับไม่ตรงกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  กกต.ทำได้อย่างไร

          คำตอบก็คือ  การกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับไว้ให้ต้องกำหนดไว้พร้อมกับการยุบสภา และกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้  ก็เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ดำเนินการยุบสภา อาศัยการยุบสภาแล้วอยู่รักษาการเป็นการตีกินไปเป็นเวลานาน ๆ  เช่น ถ้าไม่กำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ รัฐบาลก็อาจยุบสภา แล้วกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกหนึ่งปีหรือสองปีข้างหน้า  ระหว่างนั้นรัฐบาลก็บริหารงานในฐานะผู้รักษาการไปเรื่อย ๆ สนุกดี ไม่ต้องมีสภาคอยควบคุม ไม่มีใครทำอะไรได้ (อย่าคิดว่าคงไม่มีใครทำอย่างนั้น สมัยนี้อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีรัฐบาลไหนปฏิเสธอำนาจศาล หรือส่งคนไปข่มขู่ศาลไม่ให้พิจารณาคดีปักหลักข่มขู่อยู่เป็นเดือน ๆ โดยรัฐบาลคิดว่านั่นเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ใครจะคิดว่ามีขึ้นได้)

          แต่การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.นั่น เป็นคนละเรื่องกับการกำหนดวันเลือกตั้ง  เพราะการเลือกตั้งนั้น อาจมีเหตุต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีเหตุที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแบ่งเป็นหลายวัน ซึ่งบางทีก็เนิ่นนานไปกว่าระยะเวลาสูงสุดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ เกิน ๖๐ วัน หรือเกิน ๙๐ วัน ซึ่งเราก็คงเห็นกันอยู่เป็นประจำ (เพียงแต่ไม่มีใครตั้งคำถามหรือสงสัย หรืออาจจะเป็นเพราะรู้ข้อกฎหมายอยู่แล้ว ก็สุดแต่) นั่นแสดงว่า การจัดการเลือกตั้ง มีกฎหมายให้อำนาจ กกต.ที่จะดูแลตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

         ดังนั้น ถ้า กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเขตใดไม่สุจริต ก็สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ (ที่เรียกกันว่า ให้ใบแดงหรือใบเหลือง นั่นแหละ)  ถึงตอนนี้ดูเหมือนไม่มีใครสงสัยเลยว่า วันที่จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่น่ะ เกิน ๖๐ วันแล้วหรือไม่   คราวนี้ถ้าเกิดเหตุทุจริตกันทั้งประเทศ การเลือกตั้งทั้งประเทศก็ต้องทำใหม่หมด ซึ่งก็จะเลยกำหนด ๖๐ วันเช่นกัน  และเคยเกิดมาแล้ว ดูเหมือนเมื่อปี ๔๙ ได้มีการเลือกตั้งใหม่อีก ๕ - ๖ เดือนถัดมา (ดูมาตรา ๘ และ ม. ๙ ของ พรบ.ฯว่าด้วยการเลือกตั้งฯ)

         นั่นเป็นผลจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต

         แต่ถ้ามีเหตุอันทำให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเหตุเกิดจราจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น  กฎหมาย (ม.๗๘) ก็ให้อำนาจ กกต.ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้ โดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเลื่อนไปถึงเมื่อไร  เพราะกฎหมายก็คงบอกไม่ได้ว่าเหตุนั้นจะหมดเมื่อไร

         ถ้ามีการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๓ ซึ่งน้ำท่วม ครึ่งประเทศ ก็คงจะยอมรับการเลื่อนการเลือกตั้งกันได้โดยไม่มีใครคิดอะไร และเมื่อน้ำท่วมเป็นเดือน กว่าจะแห้งพอที่จะไปจัดการเลือกตั้งกันได้ ก็คงต้องกิจเวลาหลายเดือน

        อย่าลืมว่าสาเหตุที่จะเลื่อนนั้น มีทั้งเหตุธรรมชาติ คือ  อุทกภัย

    และเหตุที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เช่น อัคคีภัย การจราจล เหตุสุดวิสัย (ซึ่งมีทั้งที่อาจเกิดจากธรรมธชาติ หรือเหตุอื่นใด) และเหตุจำเป็นอื่น ๆ  ดังนั้น เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเกิดขึ้นจนทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้  ก็ย่อมเลื่อนได้ โดยไม่ต้องนึกถึงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเหตุนั้นมีอยู่นานเท่าไร และจะสามารถจัดการเล่ือกตั้งได้เมื่อใด  ถ้าเหตุนั้นเกิดเฉพาะบางที ก็เลื่อนวันเลือกตั้งไปเฉพาะที่นั้น  แต่ถ้าเหตุมันเกิดครึ่งประเทศ ก็ใช่ว่าจะควรเลื่อนเพียงครึ่งประเทศ เพราะถ้าทำเช่นนั้น การเลือกตั้งจะกลายเป็นสองวัน และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ เพราะจะรู้ผลการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียหายได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจำเป็นต้องเลื่อนทั้งประเทศ

           ต้องเข้าใจว่า คำว่า เหตุสุดวิสัย  และ คำว่า เหตุจำเป็นอย่างอื่นนั้น ไม่มีนิยามกันไว้ชัดเจน  สำหรับเหตุสุดวิสัยอาจอาศัยคำอธิบายที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้  แต่เหตุจำเป็นอย่างอื่นนั้น คนที่จะวินิจฉัยคือ กกต.เท่านั้น  ถ้า กกต.เห็นว่ามีเหตุอันจำเป็น จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้  หรือจัดการไปแล้วก็จะก่อให้เกิดความไม่สุจริต เที่ยงธรรม ขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องพิจารณาตามสมควร พร้อมทั้งบอกเหตุผลและความจำเป็นให้เป็นที่ประจักษ์  เพราะการที่มีการตั้ง กกต.ขึ้นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรอิสระ ก็เพื่อให้สามารถใช้ดุลพินิจในยามจำเป็นได้  ไม่ใช่ให้เดินเอาหัวชนฝาเหมือนเจ้าหน้าที่ในระดับทั่ว ๆ ไป ถ้าดุลพินิจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ย่อมไม่มีใครสงสัยในการใช้ดุลพินิจนั้น และถึงแม้จะมีใครคัดค้านหรือฟ้องร้อง ก็ย่อมอยู่ในฐานะที่จะอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล

         ที่ตอบมาทั้งหมดเป็นการบอกถึงกฎหมายที่มีอยู่ ก็ไปคิดดูเอาเองว่าเลื่อนได้หรือไม่ได้  


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    17 ธันวาคม 2556