ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    016173 เมื่อแพทย์เป็นจำเลยคดีอาญาหมอใต้ผู้ร่วมชะตากรรม21 กุมภาพันธ์ 2549

    คำถาม
    เมื่อแพทย์เป็นจำเลยคดีอาญา

    เรียนอาจาร์ยมีชัยที่เคารพรักอย่างสูง

              วันนี้ได้อ่านจดหมายข่าวจากเพื่อนร่วมอาชีพว่า มีแพทย์ภาคไต้ถูกศาลประทับรับฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญา ในมาตราที่ 291 ว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท" เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้วแพทย์ผู้นั้นต้องต่อสู้คดีอาญา ซึ่งระหว่างนั้นแพทย์ผู้นันต้องเสียขวัญกำลังใจอย่างแรง เต็มไปด้วยควาทุกข์ทรมารอย่างไม่เป็นธรรมเลย ประเด็นคือการใช้กฎหมายอาญาในมาตราที่ 291 กับแพทย์ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ด้วยดวามตั้งใจเจตนาดีช่วยชีวิตคนป่วยด้วยหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไมได้นั้น แต่กลับมาต้องคดีอาญา กฎหมายได้ไห้ความเป็นธรรมกับแพทย์หรือไม่ เนืองจากถูกริดรอนสิทธิ์หลายประการ ต้องประกันตัวออกมา ไม่งั้นเข้าอยู่ในคุก ใส่กุญแจมือ และ การทำอะไรเช่นเดินทางไปใหนก็ต้องขออนุญาติศาลเป็นต้น  ในเมื่อแพทย์เจตนาดีช่วยเหลือคนป่วย ตามความรู้ความสามารถเท่าที่มี่อยู่แต่กลับมาเป็นผู้ต้องหาและต้องต่อสู้คดีอาญาในฐานะผู้กระทำผิดโดยประมาท ถ้าหากยังมีการรับประทับฟ้องอย่างเรื่อยๆแพทยคงไม่อยากกระทำรักษา(ยกเว็นผู้ป่วยฉุกเฉินต้องช่วยด่วนทันที) เพราะยิ่งกระทำหน้าที่มากเท่าไรยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ผลกระทบสุดท้ายตกที่ประชาชนผู้เสียประโยชน์ ความสัมพันธ์แพทย์กับผู้ป่วยจะเลวร้ายลงไปเรือยๆสังคมไทยไปแบบอเมริกัน จริงๆสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ดีมากๆกว่าหลายชาติ

     ถ้าเทียบกับมาตรา 302 "ผู้ใดทำไห้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหากการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงนั้นรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตายผู้กระทำนั้นต้องระวางโทษใม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" แต่ยังมีมาตรา 305 "ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของแพทย์และ (1)จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการกระทำผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 277 282 283 284 " ผู้กระทำไม่มีความผิด  ซึ่งจะเห็นได้ว่าโดยเจตนารมย์นั้นยังไห้แพทย์ผู้กระทำไม่มีความผิดได้ แต่ทำไมมาตรา 291 จึงไม่มียกเว้นอย่างเช่น มาตรา 305

     ถ้าหากไม่มีการคิดแก้ไขโดยเร็ว ในสถานการณ์ปัจจุบัน แพทย์คงไม่ได้ความเป็นธรรมในภาพพจน์และสังคมผลเสียตกไปที่ผู้ป่วยผู้ยากไร้ที่ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมถูกเอาเปรียบในสังคมอยู่แล้วลำบาทขึ้น  ทำอย่างไรถ้าหากจำเป็นไห้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายไห้ได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่าย

       สุดท้ายนี้ขอไห้บุญแห่งความดีทั้งหลายไห้อาจาร์ยมีสุขภาพแข็งแรงมีความสุขในครอบครัวตลอดไปครับ.....

     

                                                         เคารพรักอย่างสูง

                                                     หมอไต้ผู้ร่วมชะตากรรม

    คำตอบ

    เรียน หมอใต้ผู้ร่วมชะตากรรม

            เมื่อสังคมพัฒนาในเชิงเลียนแบบวิถีชีวิตของคนตะวันตกมากขึ้น ความเชื่อถือ ความนับถือ และความไว้วางใจที่มีต่อผู้ประกอบอาชีพแพทย์ ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป  ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เพียงแต่กระทบถึงแพทย์ผู้ปฏิบัติวิชาชีพ  หากแต่จะกระทบถึงคนทั่วไปที่ต้องพึ่งพาแพทย์ และที่เคยมีความเอื้ออารีต่อกัน ไปในอัตราเดียวกัน  ความขัดแย้งกันในเชิงความคิดระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ การเงิน การคลัง และนักสังคมศาสตร์ นับวันแต่จะรุนแรงขึ้น  เพราะกลุ่มแรกจะมุ่งให้เกิดความเจริญทางวัตถุมากกว่าทางด้านจิตใจ และมักจะเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ในสังคมทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในเชิงวัตถุ   ยิ่งผู้คนมีวิถีชีวิตที่รีบร้อน มุ่งหน้าสร้างโภคผลทางวัตถุมากเท่าไร แนวคิดของคนในกลุ่มแรกยิ่งได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม  ส่วนนักคิดกลุ่มที่สองนั้นไม่สามารถทำให้มองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้  เมื่อไรเกิดผลในทางรูปธรรมขึ้น ก็แปลว่าสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจนเกินจะหันกลับได้

             ยิ่งเกิดความขัดแย้งในทางการเมืองในสังคมมากเท่าไร รัฐบาลที่มุ่งหวังความนิยมจากประชาชนก็ยิ่งจะหันทิศทางของสังคมไปในเชิงวัตถุมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถทำให้คนทั่วไปมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ในทางที่คนนึกว่าจะดีต่อวิถีชีวิตของตนได้ง่ายขึ้น  ดังที่คุณหมอคงจะมองเห็นนโยบายใหม่ ๆ ที่ถูกผลักดันในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมา

             ในส่วนที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการยกเว้นไม่เอาผิดในกรณีแพทย์ทำแท้ง กับกรณีแพทย์รักษาคนไข้แล้วคนไข้ตายนั้น  ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า การทำแท้งที่กฎหมายจะไม่เอาผิด ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ๑ จำเป็นต้องกระทำเพื่อสุขภาพของหญิง  หรือ ๒ หญิงมีครรภ์เนื่องจากถูกกระทำโดยไม่ชอบ เช่นถูกข่มขืน เป็นต้น  อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์โดยตรงของหญิง   ส่วนการที่แพทย์รักษาคนไข้แล้วคนไข้เสียชีวิตนั้น จะเข้าข่ายเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อแพทย์ได้กระทำโดยประมาท  

             อันคำว่า "ประมาท" ในกฎหมายอาญานั้น ก็ค่อนข้างจะรัดกุม คือต้องเป็นการกระทำโดยปราศจากการระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีความวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  เพราะฉะนั้น โดยผลของกฎหมายดังกล่าว หากแพทย์ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และเกิดการเสียชีวิตขึ้น ก็จะไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำโดยประมาท

             แต่แม้ในที่สุดแพทย์ที่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรจะพ้นจากความผิดได้  แต่ความเดือดร้อนจากการถูกฟ้องร้องก็คงต้องมีอยู่ และความเดือดร้อนนั้นจะเป็นความเดือดร้อนชนิดที่ไม่เคยประสบกันมาก่อน  ครั้นจะออกกฎหมายห้ามไม่ให้คนไข้ฟ้อง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับไปจำกัดสิทธิพื้นฐานของคนทั่วไป  แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  ต่อไปแพทย์คงจะลำบากมากยิ่งขึ้น ความเอื้ออารีที่ยังพอมีเหลือต่อกันระหว่างแพทย์กับคนไข้ก็จะหมดไปในที่สุด ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมเป็นส่วนรวม  ทางออกเท่าที่นึกได้ในขณะนี้ก็คือ ควรจะมีกลไกอย่างน้อย ๒ ด้านที่ป้องกันไม่ให้แพทย์ต้องเป็นจำเลยในคดีอาญาได้ง่ายจนเกินไป  กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียหายร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ก็ควรมีคณะบุคคลที่ประกอบด้วยตำรวจ อัยการ และผู้มีวิชาชีพแพทย์จากแพทยสภามาร่วมพิจารณาเสียก่อน ถ้าเห็นว่าเป็นกรณีที่มิได้เกิดจากความประมาท ก็สั่งไม่ฟ้องเพื่อยุติเรื่อง ส่วนถ้าคนไข้ยังติดใจก็ให้ไปดำเนินคดีทางแพ่ง   สำหรับกรณีที่คนไข้นำคดีไปฟ้องศาลเสียเอง ซึ่งศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน ก็ต้องกำหนดกลไกในการไต่สวนมูลฟ้องให้เข้มงวดกว่าคดีอาญาธรรมดา   กล่าวคือในคดีอาญาธรรมดานั้น ศาลเพียงดูว่า มีการกระทำที่อ้างว่าเป็นความผิดเกิดขึ้นหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องหรือไม่  เช่นในกรณีคนไข้ตาย ศาลก็ดูว่ามีการตายเกิดขึ้นหรือไม่ และแพทย์ที่ถูกฟ้องนั้นเป็นผู้รักษาคนไข้นั้นหรือไม่ เมื่อได้ความเพียงเท่านี้ศาลก็อาจประทับรับฟ้อง ส่วนที่จะพิสูจน์กันว่าเป็นความประมาทหรือไม่ ศาลถือว่าจำเลยมีโอกาสจะไปต่อสู้คดีได้  แต่ความยุ่งยากของจำเลยในการถูกดำเนินคดีในฐานะจำเลยนั้นมีอยู่มากมายจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยไม่มีความผิด   ดังนั้น หากมีการสร้างกลไกอีกกระดับหนึ่ง คือให้ศาลดูถึงขั้นที่ว่ามีความประมาทเกิดขึ้นหรือไม่ โดยให้ศาลรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภาประกอบด้วย  ก็อาจช่วยทำให้แพทย์ที่ปฏิบัติดีแล้วรอดพ้นจากการเป็นจำเลยในคดีอาญาไปได้  คงมีความยุ่งยากแต่เฉพาะในขั้นตอนไต่สวนมูลฟ้อง (ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้) 

          การจะทำเช่นนี้ได้ทุกฝ่ายจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  คุณหมอจะเอาแนวคิดคร่าว ๆ นี้ไปลองสานต่อดูบ้างก็ได้

           ดีใจที่ยังได้รับข่าวคราวจากคุณหมอ  พอหายไปนาน ๆ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ หวังว่าความดีของคุณหมอจะคุ้มครองคุณหมอและครอบครัวให้ปลอดภัยตลอดไป

     

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    21 กุมภาพันธ์ 2549