ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    044354 ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ขอแยกทางคนอาภัพรัก22 เมษายน 2554

    คำถาม
    ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ขอแยกทาง

    เรียนอาจารย์มีชัยที่เคารพ

                กระผมต้องขอความกรุณาจากอาจารย์เป็นอย่างมากเพราะเรื่องราวของผมค่อนข้างเยอะและซับซ้อน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจารย์จะให้ความเมตตารับฟังปัญหาและให้ความกระจ่างทุกข้อความสงสัย

    ผมแต่งงาน(ถูกต้องตามประเพณี) กับภรรยาผมมาได้ประมาณ 4 ปีแล้วครับ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีบุตรชายร่วมกันหนึ่งคน ตอนนี้อายุ 1 ปีเจ็ดเดือนแล้วครับ เราอยู่ด้วยกันมาก็นับว่าราบรื่นดีครับ แม้ว่าเราจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เราก็สร้างฐานะ สร้างครอบครัวร่วมกัน หลาย ๆ อย่างดังนี้ครับ

                1.เช่าซื้อรถยนต์ร่วมกันหนึ่งคันโดยที่มีชื่อผมเป็นผู้เช่าชื้อ และภรรยาผมเป็นผู้ค้ำประกัน รายละเอียดเรื่องการเช่าซื้อรถยนต์มีดังนี้ครับ วางเงินดาวน์ 120,000 บาท โดยแม่ภรรยา (แม่ยาย) เป็นผู้ออกเงินดาวน์ให้ 100,000 บาท ส่วนตัวผมเองออกเงินดาวน์ 20,000 บาทต้องผ่อนชำระทั้งหมด 72 งวดๆ ละ 10,315 บาทโดยแต่ละงวดผมจะจ่าย 6,315 บาทครับส่วนภรรยาจะจ่าย 4,000 บาทครับ เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงงวดที่27  ส่วนงวดที่ 28 จนถึงงวดล่าสุดคืองวดที่ 30 กระผมเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด และอาจจะได้ส่งผู้เดียวเช่นนี้จนหมดงวด เพราะภรรยาไม่ยอมช่วย เนื่องจากมีปัญหาทะเลาะกัน ซึ่งผมจะได้นำเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับภรรยาต่อไป

               2.ซื้อที่นาหนึ่งแปลง (6ไร่ 2 งาน) ราคา 500,000 บาทโดยที่เป็นเงินของผมครึ่งหนึ่ง และภรรยา พ่อ และแม่ของภรรยารวมกันแล้วก็ได้ครึ่งหนึ่ง โดยโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อร่วมระหว่างผมกับพ่อภรรยา (พ่อตา)

                3.สร้างบ้านหนึ่งหลังมูลค่าการก่อสร้างรวม 400,000 บาทโดยผมเป็นผู้ออกค่าก่อสร้าง 97% ส่วนภรรยาออกประมาณ 3% แต่สร้างบนที่ดินของแม่ภรรยาบนพื้นที่ 2 งาน เป็นที่ดิน ภทบ 5 โดยก่อนการสร้างแม่ยายอ้างว่าเมื่อสร้างเสร็จจะยกให้เป็นชื่อของลูกสาวเป็นเจ้าบ้านเมื่อทำการยื่นขอทะเบียนบ้าน แต่พอสร้างเสร็จแม่ยายกลับเปลี่ยนใจยื่นขอทะเบียนบ้านเป็นชื่อของตน จนเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายจนถึงขั้นที่แยกกันอยู่ครับ

                จากเหตุผลข้อ 3 ทำให้ผมรู้สึกไม่พอใจแม่ยายผมอย่างมากที่ไม่รักษาสัจจะจนเป็นเหตุให้ผมหมางเมินไม่ค่อยพูดจา และความสัมพันธ์ระหว่างผมกับแม่ยายก็เหินห่าง ทำให้ภรรยาก็ไม่พอใจผมเช่นกันที่ผมแสดงกิริยาหมางเมินต่อแม่ของตน จนถึงแยกกันนอนคนละห้องแต่อยู่บ้านหลังเดียวกัน ผมนอนคนเดียว ส่วนภรรยานอนกับลูก และแม่ของตนเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 2 เดือนผมก็พยายามง้อแต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกไม่ดีกับแม่ยายมากขึ้น ส่วนแม่ยายก็พยายามยุแยงตะแคงรั่วให้ลูกสาวเป็นพวกเดียวกับตนเพราะเขานอนด้วยกันทุกคืน ภรรยาพยายามกดดัน บ่นจู้จี้ตลอดเวลา ทำให้ผมรำคาญและทะเลาะกันแทบทุกวันยิ่งเราทะเลาะกันทุกวันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับภรรยายิ่งห่างกันมากขึ้น ไม่เข้าใจกันมากขึ้น พอหนักเข้าภรรยาผมก็บอกตัดว่าจะไม่ช่วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะงวดรถที่เคยช่วยกันมาโดยตลอด จากที่เราเถียงกันยืดยาวบวกกับบันดาลโทสะที่ภรรยาไม่ยอมร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เราร่วมกันสร้าง จนเป็นเหตุให้ผมทำร้ายร่างกายโดยการถีบเข้าที่ก้นหนึ่งที จากนั้นภรรยาก็ตอบโต้หลายครั้ง และผมก็ตบเข้าที่ใบหน้าหนึ่งที จากนั้นสติผมก็กลับมาสั่งให้ตัวเองหยุด และก็สั่งให้ภรรยาหยุดด้วย

                    จากเหตุการณ์ครั้งนี้ภรรยา แม่ยาย ได้พาลูกผมกลับไปอยู่ที่บ้านของแม่ยาย จนกระทั่งสัปดาห์หนึ่งผมก็ตามไปง้อแต่ก็ไม่สำเร็จ ภรรยากลับพูดถึงการแบ่งทรัพย์สมบัติ และขอแยกทางยิ่งทำให้ผมโกรธเข้าไปอีกก็เลยพาลไปลงกับแม่ยายอีกว่าเป็นสาเหตุให้สามีภรรยาทะเลาะกัน เป็นอย่างนี้ 1-2 ครั้งแต่ครั้งล่าสุดผมเถียงกับแม่ยายถึงขนาดชี้หน้าแม่ยาย ยิ่งทำให้ลูกสาวหรือภรรยาของผมเองยิ่งไม่พอใจผมมากยิ่งขึ้นที่ไม่ให้เกียรติมารดาของตน แต่ผมก็รูสึกผิดเหมือนกันช่วงสงกรานต์ผมก็เลยกะว่าจะไปขออโหสิกรรม เพื่อขอขมา และหวังว่าอะไรจะดีขึ้น แต่ทว่าแม่ยายไม่ยอมให้อภัย ส่วนลูกสาวก็ไม่ยอมใจอ่อนเช่นกัน ในที่สุดผมก็เลยท้อและก็ขอคุยว่าเราจะแยกทางกันแต่ติดตรงเรื่องการแบ่งทรัพย์สมบัติที่ไม่ลงตัว

                ลืมเล่าไปว่าเงินที่ผมได้มาสร้างบ้านและซื้อที่ดินตามรายละเอียดด้านบน คือเงินที่ได้จากการถูกเลิกจ้างเนื่องจากบริษัทปิดกิจการจึงได้นำเงินจำนวนนี้มาซื้อที่ดิน และสร้างบ้านจนหมดตัว และผมก็ได้งานใหม่แต่เงินเดือนไม่มากคือได้ประมาณ 15,000 บาท เงินเดือนภรรยาก็ประมาณ 14,000 บาท ซึ่งรวมกันแล้วก็อยู่ได้สบายเพราะมีภาระหนัก ๆ คืองวดรถอย่างเดียว แต่พอเกิดปัญหาดังกล่าวทำให้ฐานะทางการเงินของผมแย่มาก กล่าวคือผมต้องผ่อนชำระงวดรถเพียงคนเดียวบวกกับค่าจ่ายต่างๆ แล้วถึงกับติดลบเลยทีเดียว

                    ผมก็เลยคุยกับภรรยาเรื่องทรัพย์สมบัติอย่างคร่าว ๆ ดังนี้ครับ ผมจะยกบ้านให้ ส่วนที่นาที่เป็นชื่อผมกับพ่อตาผมจะทำเป็นพินัยกรรมยกให้เป็นสมบัติของลูกชายผมเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยต้องยกให้ทั้งผืนทั้งส่วนของผมเอง และส่วนของพ่อตาด้วย แต่ในระหว่างรอลูกชายของผมบรรลุนิติภาวะนั้นจะขอทำประโยชน์ร่วมกันคนละครึ่งตามสิทธิ์ผู้ถือครองใน นส3. แต่ภรรยาก็ไม่ยอมเพราะอ้างว่าตนเป็นผู้ดูแลลูก ทั้งที่ผมก็อยากดูแลเช่นกันแต่ด้วยฐานะทางเงินของผมตอนนี้ไม่สามารถทำได้

                จากเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้นจึงมีประเด็นคำถามจะถามอาจารย์ดังนี้ครับ

    1.     ผมมีสิทธิ์ในบ้านที่ผมสร้างหรือไม่เพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างเกือบทั้งหมดผมเป็นผู้ออก แต่ในการยื่นขอทะเบียนบ้านนั้นแม่ยายได้ยื่นขอเป็นเจ้าบ้าน และบ้านได้ถูกสร้างบนพื้นที่ของแม่ยาย แต่ทว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ใช้อ้างได้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของแม่ยาย เนื่องจากเป็นที่ ภทบ. 5 ที่เจ้าของเดิมได้ขายให้แม่ยายผม ซึ่งผมได้ทราบมาว่า ภทบ.5 เป็นที่ดินที่ซื้อขายกันไม่ได้ในทางกฏหมาย ดังนั้นเวลายื่นขอทะเบียนบ้านแม่ยายผมจึงขอหลักฐานยืนยันจากผู้ใหญ่บ้านว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของเดิมให้แม่ยายผมในฐานะที่เป็นญาติกัน นายทะเบียนจึงออกทะเบียนบ้านฉบับชั่วคราวให้ และมีชื่อแม่ยายผมเป็นเจ้าบ้าน ส่วนผม ภรรยาผม และลูกชายผมยังไม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในฐานะผู้อาศัย ยังคงอยู่ในทะเบียนบ้านเดิม

    2.     รถยนต์ที่ช่วยกันผ่อนมีเงินส่วนของแม่ยายที่ช่วยวางดาวน์ และค่างวดที่ลูกสาวช่วยส่งตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่ผมจ่ายมาถึงงวดล่าสุด พบว่าเป็นจำนวนเงินพอ ๆ กันคือราว ฝ่ายละ 200,000 บาท ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่อนชำระมาก็ใช้ประโยชน์ร่วมกันในฐานะสามี ภรรยาโดยทั่วไป คำถามในประเด็นนี้จึงมีอยู่ว่า

    2.1.    เมื่อภรรยาไม่ได้ร่วมผ่อนชำระตามที่ตกลงกันแล้ว งวดการผ่อนชำระที่เหลือผมจะเป็นผู้ผ่อนชำระเอง แม่ยายและภรรยามีสิทธิ์ที่จะมาเรียกร้องเงินในส่วนที่ฝ่ายตนเคยร่วมจ่ายเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์คันนี้จากผมได้หรือไม่ เพราะเขาจะยืมรถไปใช้แล้วผมไม่ให้ยืม เขาก็อ้างเงินที่ฝ่ายเขาได้เคยจ่าย สิทธิ์ในการใช้งานรถคันนี้ร่วมกันหมดไปตั้งแต่งวดที่ฝ่ายเขาไม่ร่วมส่งงวดใช่หรือไม่ หรือยังคงมีต่อตราบที่ผมยังเป็นผู้เช่าซื้ออยู่ แม้จะเป็นผู้ชำระงวดรถต่อเพียงผู้เดียวก็ตาม

    2.2.    หากกระผมไม่ส่งงวดรถต่อเพื่อให้ไฟแนนส์ขายทอดตลาดแล้ว เพื่อให้การเช่าซื้อสิ้นสุด ทางฝ่ายภรรยาจะสามารถทวงเงินส่วนที่เคยร่วมกันจ่ายจากผมได้หรือไม่ หรือว่าต่างฝ่ายต่างเป็นโมฆะต่อกันเพราะรถถูกขายทอดตลาดไปแล้ว และถือว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นฝ่ายได้หรือฝ่ายเสียใช่หรือไม่ครับ

    3.     ผมสามารถฟ้องต่อศาลว่าภรรยาผมบกพร่องต่อหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะไม่ทำหน้าของภรรยาที่ดีเช่นไม่ได้ร่วมหลับนอนกับสามีตน ไม่เชื่อฟังสามีตน ฟังคำผู้อื่น(มารดาของตน) โดยไม่ใช้สติใตร่ตรองจนเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งกับสามีจนถึงขั้นต้องแยกทางกัน ไม่แสดงเจตนาว่ามีความรักต่อกัน เพราะหลังแต่งงานแล้วผมชวนภรรยาไปจดทะเบียนสมรส แต่ภรรยาไม่ยอมไป อ้างว่าจะให้อิสระกับผม และเปิดโอกาสให้ผมไปหาภรรยาใหม่ได้ ไม่ว่าจะชวนกี่ครั้งก็จะพูดประโยคนี้เหมือนกันทุกครั้ง ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เมื่อได้สมบัติตามที่ตนต้องการแล้วก็หาเหตุเพื่อหนีไปจากสามีตนปล่อยให้สามีตนรับภาระหนีสินที่เหลืออยู่เพียงผู้เดียว

    เพื่อให้สมบัติที่ผมพึงได้ตกเป็นของผม รวมถึงสิทธิ์ในการดูแลบุตรด้วย

    4.     ภรรยามีสิทธิ์ที่จะกีดกันผมไม่ให้พบลูกได้หรือไม่ เพราะภรรยาอ้างว่าช่วงที่แยกกันอยู่ 2-3 เดือนเขาเป็นฝ่ายเลี้ยงดู แต่ก่อนหน้านี้ผมช่วยภรรยาเลี้ยงมาตั้งแต่แรกเกิด ทั้งการเลี้ยงดู ความอบอุ่น ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง แต่พอเจอปัญหาดังกล่าวข้างต้นผมก็ได้แค่ประคองตนเองให้รอดแต่ละเดือน แต่ภรรยาเองสบายตัวเรื่องสภาพคล่องเพราะเขาไม่มีภาระหนี้สินอะไรแล้ว แต่ถึงแม้ผมจะได้ส่งค่าเลี้ยงดูในช่วงนี้ แต่ทรัพย์สมบัติที่ผมสร้าง ผมหามาได้ก็ทำเพื่อครอบครัว เพื่อลูกทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน รถ เพียงพอหรือไม่ที่จะแสดงว่าผมมีความรับผิดชอบ รักลูก และเป็นเหตุที่จะไม่ทำให้อดีตภรรยาผมกีดกันผมไม่ให้พบลูก

    5.     เรื่องที่ดินที่ซื้อตามกฏหมายแล้วผมกับพ่อตามีสิทธิ์คนละครึ่งใช่ไหม แต่ภรรยาจะขอที่ดินในส่วนของผมเพราะอ้างว่าเป็นสินสมรสได้ไหมครับเพราะเขาอ้างว่าเขาเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตร แล้วถ้าหากผมจะขอเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบุตรเองผมจะขอบ้านที่ผมสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของผมได้ไหมครับเพื่อผมจะได้อาศัยและเลี้ยงดูลูก(แต่สร้างบนที่ดินแม่ยาย) และขอแบ่งแยกที่ดินกับพ่อตาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อผมเพื่อใช้ทำกินเลี้ยงลูกได้ไหมครับ

    6.   ตอนนี้ผมยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังที่ผมสร้าง เพราะตอนนี้ยังลำบากอยู่ หากจะไปหาที่อยู่ใหม่ รายได้ก็ยังไม่มากพอ เลยขออดีตภรรยาอยู่ก่อนไปจนถึงสิ้นปีนี้ คุยกันไว้ว่าผมจะยกบ้านหลังนี้ให้ภรรยาแต่ยังไม่ได้มีลายลักษณ์อักษร แต่อีกอย่างมันก็มีชื่อแม่ยายเป็นเจ้าบ้าน แล้วผมมีสิทธิ์ที่จะทำหนังสือมอบบ้านหลังนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของภรรยาและลูกได้หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบ้านที่ผมสร้างได้ตกเป็นทรัพย์สินของภรรยา และลูกโดยแท้จริง (ไม่ใช่ของแม่ยาย)หรือมีทางไหมที่ผมจะสามารถนำบ้านหลังนี้มาเป็นผู้ครอบครองเสียเอง

     

    เรียนถามอาจารย์เพียงเท่านี้ก่อน หากมีประเด็นอื่นเพิ่มเติม กระผมจะขอความกรุณาจากอาจารย์อีกครับ

     

    ขอขอบพระคุณมากครับ

    ด้วยความนับถือ

    คนอาภัพรัก

    คำตอบ

    1.-2.  ในทางกฎหมาย คุณกับภริยา เป็นแต่เพียงหุ้นส่วนกัน โดยไม่ได้เป็นสามีภริยากัน  เมื่อช่วยกันทำมาหากินและซื้อหาอะไรมาใครจะออกมากบ้างน้อยบ้าง ก็เป็นของธรรมดา  ก็เป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าจะแบ่งก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

    3. เขาไม่ได้เป็นภริยาคุณ ๆ จะไปให้เขามีหน้าที่อะไรเล่า

    4. เมื่อคุณและภริยาไม่ได้เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เด็กที่เกิดมาก็เป็นลูกของฝ่ายหญิง คุณไม่ได้เป็นพ่อ เว้นแต่คุณจะจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตร หรือจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก

    5. ส่วนของพ่อตาก็เป็นของพ่อตา ส่วนของคุณก็เป็นทรัพย์สินที่หามาร่วมกันกับภริยา เพราะคุณร่วมกันทำมาหากินด้วยกัน ต่างคนต่างมีเงินเดือนและต่างคนต่างช่วยกันออกเงินซื้อทรัพย์สิน ลักษณะจึงเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน

    6. ถ้าคุณทำหนังสือยกส่วนของคุณที่มีในบ้านให้บุตรและภริยา (ไม่ใช่ยกบ้าน) ส่วนนั้นก็ย่อมเป็นของภริยาและบุตร


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    22 เมษายน 2554