ผมแต่งงานมา 4 ปีมีลูก 1 คน มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยาเป็นประจำ ปรับความเข้าใจก็หลายครั้ง เพราะเห็นแก่ลูก แต่สุดท้ายก็ทนไม่ไหว ผมแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว แต่กลับบ้านมาดูแลลูกสัปดาห์ละ 2-3 วัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากันอีกเลย ไม่ได้ไปไหนมาไหนด้วยกันนานกว่า 3 ปีแล้ว ที่ทนอยู่ก็เพราะรักลูกมาก เคยขอหย่าเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างไปและมาดูแลลูกร่วมกัน แต่ภรรยาผมบอกให้ผมไปรอชาติหน้า เค้าไม่ยอมหย่าเด็ดขาด ผมส่งเสียให้เค้าอยู่อย่างสบาย แต่ผมเป็นฝ่ายต้องย้ายออกมาอยู่ข้างนอกเองเพราะไม่มีความสุข ผมเคยปรึกษาทนายบน web แล้วมีแต่คนบอกว่าผมไม่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าเลย เรียนถามคุณมีชัยว่าถ้าผมจะต้องอยู่แบบเป็นทุกข์แบบนี้ไปตลอดชีวิต ดูแลลูกก็ไม่เต็มที่ ฝ่ายโน้นเองก็ใช่ว่าจะมีความสุขแต่ไม่ยอมหย่าเพราะอาจจะกลัวต้องอยู่คนเดียว ทั้งๆที่ก็ได้เคยเสนอเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน เค้าไม่มีทางตกระกำลำบากแน่นอน กฎหมายก็ช่วยอะไรไม่ได้แต่กลับผูกคนที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้แล้วเข้าไว้ด้วยกันตลอดชีวิตแบบนี้ แล้วมันจะมีความยุติธรรมเหลืออยู่บนโลกนี้อยู่หรือ ผมยังสงสัยข้อกฏหมายที่ว่าการแยกกันอยู่โดยสมัครใจเกิน 3 ปีสามารถฟ้องหย่าได้ ในกรณีของผม ผมแยกตัวออกไปอยู่ที่อื่น ภรรยาผมทราบว่าผมอยู่ที่ไหน แต่ไม่เคยตามไปอยู่ด้วยเลย เราจะถือเป็นเหตุอ้างว่าเค้าสมัครใจได้หรือไม่ ผมเคยอ่านฎีกาทำนองนี้มาก่อนดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2540 โจทก์จำเลยได้แยกกันอยู่โดยมิได้อยู่กินฉันสามีภรรยาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๑ ระหว่างที่โจทก์แยกไปนั้นจำเลยเองก็ทราบดีว่าโจทก์ไปพักอยู่ที่ใดแต่จำเลยก็มิได้ขวนขวายที่จะไปอยู่กินฉันสามีภรรยา โดยต่างคนต่างอยู่นับถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง ๖ ปี ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องแย้งคือวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๗ จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องคือวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๓๗ จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่จำเลยฟ้องแย้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา ๑๔๒ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
สุดท้ายนี้ ผมมีสิทธิ์ฟ้องหย่าหรือไม่
ลองพยายามอ่านข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาที่ยกขึ้นมานั้นให้ละเอียด แล้วทำใจเป็นกลาง ๆ ทบทวนดูว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับคุณเหมือนกันหรือใกล้เคียงวกับกรณีในคำพิพากษานั้นหรือไม่ หากเหมือนหรือใกล้เคียงกัน ก็ลองไปยื่นฟ้องหย่าดู