เรียน อาจารย์มีชัยที่เคารพ
ขอถามคำถาม ดังนี้
1. เพื่อนผมขออนุญาตซื้อปืน นายทะเบียนอนุญาตให้ซื้อแล้วโดยออกใบ ป.3 ให้ไปซื้อจากร้านปืนใน กทม. ได้ปืนมาแล้วจากร้านปืน แต่ยังไม่ได้ไปออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน หรือที่เรียกว่า ใบ ป.4 ก็มีอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ลูกชายไปขอโอนปืนเป็นของตนเอง (อายุ 25 ปี) นายทะเบียนบอกว่าโอนไม่ได้เนื่องจากพ่อยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ป.4) ลูกจึงไม่อาจขอรับโอนปืนในฐานะรับมรดกได้
กรณีนี้ผมเห็นว่า ลูกเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกปืน เพียงต่อต้องให้นายทะเบียนพิจารณาคุณสมบัติก่อน เมื่อนายทะเบียนอนุญาตจึงจะรับโอนอาวุธปืนได้ ความเห็นผมถูกต้องหรือไม่
2. อีกกรณีหนึ่งจากที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เขาอ้างว่า "เคยมีกรณีนี้เกินขึ้นแล้ว" กล่าวคือ บิดาเสียชีวิต ลูกไม่ได้ดำเนินการรับโอนอาวุธปืนมรดก ต่อมาลูกขายปืนให้นาย ก. และลูกไปอยู่เมืองนอก นายทะเบียนปฏิเสธไม่โอนอาวุปืนดังกล่าวให้นาย ก. เพราะอ้างว่าลูกยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ใบ ป.4) จึงยังไม่อาจโอน(ขาย) ปืนดังกล่าวให้แก่ผู้ใดได้ การกระทำดังกล่าวของนายทะเบียนอาวุธปืนถูกต้องหรือไม่ อย่างไร (ซึ่งเจ้าหน้าที่เอากรณีนี้มาอ้างเช่นเดียวกันกับกรณีที่ 1)
3. กรณีของผมเองผมมีปืนอยู่แล้ว 2 กระบอก ได้ไปขออนุญาตเพิ่มอีก 1 กระบอกเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน (ซึ่งก็ชอบกีฬายิงปืนอยู่ด้วย) แต่นายทะเบียนไม่อนุญาตให้มีกระบอกที่ 3 โดยอ้างว่า "เกินความจำเป็นเพื่อการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน" แต่ผมสงสัยว่าทำไมบางคน"ชาวบ้านธรรมดา" จึงมีอาวุธปืนได้ 10 กระบอก บางคน ถึง 50 กระบอกก็มี ผมรู้เพราะเป็นเพื่อนๆ กัน กรณีนี้ความเห็น เหตุผลของนายทะเบียนฟังขึ้นหรือไม่ ผมควรฟ้องศาลปกครองหรือไม่
นายแบ็งค์
เรียน นาย Bank
1.-2. ปืนเป็นสังหาริมทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิ การโอนสามารถกระทำได้โดยการส่งมอบ หรือตกทอดทางมรดก แต่เนื่องจากปืนมีกฎหมายกำหนดให้คนที่มีอาวุธปืนต้องได้รับอนุญาต การได้รับอนุญาตจึงเป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ แต่ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ เหมือนกับรถยนต์ ที่มีทะเบียนรถยนต์ แต่การโอนนั้นก็สามารถโอนกันได้เพียงการส่งมอบ เมื่อบิดาตาย ปืนนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาท แต่ทายาทนั้นก็ต้องไปขออนุญาตมีอาวุธปืน ตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องขายออกไป
3. คนที่ได้รับอนุญาตให้มีปืนถึง ๑๐ - ๕๐ กระบอกนั้น เห็นจะไม่ใช่ "ชาวบ้านธรรมดา" หรอก