ปพพ.733 เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่
วันที่27 กันยายน 2551 เรียนท่านอาจารย์มีชัยที่เคารพอย่างสูง, ผมมีปัญหาคับอกคับใจที่หาทางแก้ไขไม่ได้ จึงช่วยกันกับเพื่อน เขียนบทความขึ้น เพื่อขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์
ข้อตกลงที่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากขายทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ จะใช้ได้หรือไม่ ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มีการกู้และให้กู้เงินกันมาก เพื่อการขยายการลงทุน ยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ เศรษฐกิจของประเทศไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมาก จากการเปิดเสรีทางการค้า เสรีทางการคลังการธนาคาร การกู้เงินสกุลต่างประเทศเข้ามาในไทยมาก ในระยะ ปี2537-2540 ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมากและเปราะบางที่เรียกกันว่าฟองสบู่ และเมื่อเกิดฟองสบู่แตก และการโจมตีค่าเงินบาทของกองทุนจากประเทศร่ำรวย ทำให้ฐานะทางการเงินของประเทศ รวมทั้งประชาชนคนไทย ย่ำแย่อย่างมากโดยทั่วหน้า ปัจจุบันหาคนไทยที่มีความสุขจริงๆได้ยากยิ่ง ปัญหาในระบบเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจระดับโลก เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกกำลังตระหนกว่าแม้กระทั่งมหาอำนาจของโลกเจ้าของทฤษฎี เสรีนิยม ก็กำลังลำบากอย่างมาก คนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆ คงได้แต่ศึกษาดูโดยไม่อาจทำอะไรให้เป็นผลในทางที่ต้องการได้ นอกจากตั้งใจทำภาระกิจในหน้าที่ของตนให้เต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องที่ใกล้ตัวกว่านั้น มีบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลสำคัญต่อคนไทยเจ้าของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และคงอยู่กับคนไทยมานาน ทั้งคงกระพันและมีผลสำคัญต่อทุกคนยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ บทบัญญัติและผลของกฎหมายดังกล่าวควรได้รับการศึกษาทบทวนและปรับแนวทางเพื่อให้โอกาสคนในสังคมได้มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก และกลับเข้ามามีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของตนและของหน่วยเล็กๆของตน ซึ่งจะมีผลดีต่อส่วนรวมได้ในที่สุด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คือ มาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดของลูกหนี้ ในกรณีที่มีการบังคับจำนองแล้วได้ไม่พอชำระหนี้ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหนี้กลับสามารถติดตามบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ได้จนสิ้น เป็นไปได้อย่างไร เป็นธรรมหรือไม่ จะแก้ไขได้อย่างใดหรือไม่ ใครจะแก้ไขได้ และท่านจะมีความเห็นของท่านอย่างไร โปรดได้ติดตามและให้ความเห็น ของท่านอย่างเต็มที่ 1. ความเป็นมา มีหลักในเรื่องความรับผิดของลูกหนี้ในเรื่องทั่วไป ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า
มาตรา 214 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย และหลักในเรื่องความรับผิดของลูกหนี้ในเรื่องจำนองว่า มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณ ต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ต้องใช้จงครบ หมายความว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ขาดอีกเท่าใด,เจ้าหนี้สามารถติดตามบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ได้จนครบ
2. ต่อมา เมื่อ 27 กันยายน 2478 ได้มีพระราชกฤษฎีกาในรัชกาลที่ 6 ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม52 หน้า 1320 วันที่ 29 กันยายน 2468 มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องส่วนนี้ว่า มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์อื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น
มาตรา 6 บทบัญญัติมาตรา 52 แห่งกฎหมายลักษณะล้มละลาย ร.ศ. 130
และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นใดซึ่งเกี่ยวถึงสิทธิของผู้รับจำนองจะนำมาใช้บังคับได้เพียงเท่าที่ไม่
ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งข้อความที่เกี่ยวกับ มาตรา 214 และ 733 รวมทั้งข้อความในมาตรา 6 ด้วย
นั้น เป็นข้อความใน กฎหมายที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ทุกถ้อยคำ 3. ผลในทางกฎหมาย จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่ปี 2478 กฎหมายได้เปลี่ยนหลักใหม่ว่า ว่า หากบังคับจำนอง ได้ไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ชั้นต้นคือ ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของ กฎหมาย หรือ เหตุผลในการตรากฎหมายว่า
ปรากฏตาม
. 3.1 มีข้อความในพระราชกฤษฎีกา ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม52 หน้า 1320 วันที่ 29 กันยายน 2468 ดังกล่าวนั้นเองว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขความในมาตรา 214 และมาตรา 713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดของลูกหนี้ที่มีจำนองเป็นประกัน จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
แสดงว่าเจตนารมย์ของกฎหมายคือต้องการเปลี่ยนความรับผิดของลูกหนี้ที่มีจำนองเป็นประกัน ซึ่งในกฎหมายก่อนนั้นให้ต้องรับผิดหากบังคับจำนองได้ไม่พอใช้หนี้ เปลี่ยนให้ไม่ต้องรับผิด 3.2 และเห็นได้ชัดอีกจาก มาตรา 6 ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่ว่า มาตรา 6. บทบัญญัติมาตรา
และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นใดซึ่งเกี่ยวถึงสิทธิของผู้รับจำนองจะนำมาใช้บังคับได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งนี้ การที่กฎหมายถึงกับบัญญัติว่า กฎหมายอื่นใช้ได้เท่าที่ไม่ขัดกับ บทบัญญัติมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงว่าท่านยังกำหนดให้กฎหมายอื่นทั้งหมด ใช้ได้เฉพาะส่วนที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่ง ปพพ.733 ที่แก้ไขใหม่นี้ แสดงว่า ผู้บัญญัติกฎหมายส่วนนี้ มีเจตนาให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายข้อนี้ศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่ากฎหมายอื่น เอกชนจึงไม่มีสิทธิ์ตกลงกันเองได้ 4. คำว่า ลูกหนี้ ใน ปพพ.733 หมายถึงใคร ในบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องจำนอง คือหมวด 1-6 คือตั้งแต่มาตรา 702-746 มีบุคคล 3 ฝ่ายด้วยกันคือ ผู้รับจำนอง ,ลูกหนี้หรือลูกหนี้ชั้นต้น (ตาม ม.737-738 ) และ ผู้จำนอง โดยที่บางกรณีผู้จำนองและลูกหนี้ชั้นต้นอาจเป็นคนเดียวกันได้ แต่ในการศึกษา ปพพ.733 ควรต้องเข้าใจให้ได้ชัดเจนว่า คำว่า ลูกหนี้ ใน ปพพ.733 หมายถึงใคร กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ ของลูกหนี้และผู้จำนองไว้อย่างแตกต่าง และมี 2 มาตราที่ มีการกล่าวถึง ลูกหนี้และผู้จำนอง ไว้ในมาตราเดียวกัน เช่น ม. 724และ 729 ซึ่งแสดงว่าบุคคลทั้งสองนั้นเป็นคนละคนกันได้ และมีภาระหน้าที่ต่างกัน
ดังนั้น คำว่า ลูกหนี้ ใน ปพพ.733 ต้องหมายถึง ลูกหนี้ชั้นต้นนั่นเอง ไม่ได้หมายความรวมถึงผู้จำนอง และเมื่อศึกษากฎหมายในเรื่องจำนองแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติใดให้ ผู้รับจำนองต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ค้าง หากบังคับจำนองได้ไม่พอชำระหนี้ได้ทั้งหมดเช่นกัน 5. จะนำหลักเสรีภาพในการทำสัญญา มาใช้ในเรื่องนี้ได้หรือไม่
โดยหลักประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะตกลงทำสัญญากันเองได้ แต่บทบัญญัติกฎหมายใดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เอกชนย่อมไม่สามารถตกลงกันเองให้เป็นอย่างอื่นได้ เกี่ยวกับ ปพพ.733 นี้ ในการทำสัญญาจำนองค้ำประกันซึ่งตามปกติเป็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากกว่าสัญญาหนี้สินที่มีค้ำประกันอย่างอื่นๆ เอกชนโดยเจ้าหนี้จะจัดการให้มีข้อตกลงยกเว้นไม่ให้ใช้บทบัญญัติของมาตรานี้เป็นประจำตลอดมา เจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการให้ลูกหนี้และผู้รับจำนองเมื่อภถูกบังคับจำนองไปแล้ว สามารถลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ จึงไม่สามารถเป็นไปได้ตลอดมา ซึ่งนักนิติศาสตร์มักจะข้อตกลงนี้เรียกว่า ข้อตกลงยกเว้น ปพพ. 733 จึงมีข้อกังขาว่า ข้อตกลงยกเว้น ปพพ.733 นี้จะใช้ได้หรือไม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า ปพพ.733 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ 6. ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคืออะไร ผู้เขียนขออนุญาตนำคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่อง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ของศาตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน บางตอนมาดังนี้ ๗.การที่จะให้คำจำกัดความว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีความหมายอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และคิดว่าคงไม่มีผู้ใดสามารถให้คำจำกัดความได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ แต่ถ้าจะกล่าวถึงแต่เพียงวัตถุประสงค์ของคำดังกล่าวนี้ อาจพูดได้ว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีความมุ่งหมายที่จะให้ยกขึ้นมาใช้ในกรณีที่ผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมขัดกับผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนรวมย่อมมีความสำคัญกว่า และเนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของสังคม ดังนั้น คู่กรณีจะแสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น ยกเลิกไม่นำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับไม่ได้ ๘. โดยสรุป ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงหมายถึงประโยชน์โดยทั่วไปของประเทศชาติและสังคม ส่วน ศีลธรรมอันดีของประชาชน หมายถึงทัศนะโดยทั่วไปทางจริยธรรมของสังคม ฯลฯ ๙. แนวความคิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มักจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และแตกต่างไปบ้างในแต่ละประเทศ นอกจากนั้นยังอาจมีทั้งที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง และที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้การที่จะจำแนกหรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวโดยทั่วไปว่า สิ่งใดขัดหรือไม่ขัด ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมไม่อาจกระทำได้โดยถูกต้อง กฎหมายแพ่งของนานาประเทศจึงได้กำหนดหลักการว่าด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในลักษณะที่ยืดหยุ่น และมอบให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ ว่าการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เป็นกรณีๆไป
ฯลฯ ๑๐. อย่างไรก็ดีการที่จะวินิจฉัยว่าการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่นั้น เพื่อให้เหมาะสมแก่การดำเนินชีวิตในสังคมแห่งยุค ศาลสมควรจะได้ศึกษาจากแนวคำพิพากษาศาลสูงประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและบุคคลทั่วไป ตลอดทั้งให้ความสนใจศึกษาและสังเกตุการณ์ในเรื่องระบบสังคมและลัทธิทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย ดังที่ Wormser นักนิติศาสตร์ชาวอเมริกันได้กล่าวว่า ทัศนะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมจะแปรเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางสังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งทัศนะของมหาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้พิพากษาในระบบกฎหมายอังกฤษจึงจำต้องให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการพิพากษาคดี ( The law by Rene A.Wormser p.216 ) ฯลฯ 7 . สภาวะทางสังคม และเศรษฐกิจ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 7.1 หนี้สินภาคประชาชนมีมากขึ้นเรื่อยๆ และ ปัจจุบันในกรณีที่ผู้กู้มีทรัพย์สินอื่นๆอยู่ ธนาคารจึงนำมาฟ้องเรียกให้ผู้กู้ และปล่อยให้ตัวเลขดอกเบี้ยวิ่งไปเรื่อยๆ และนำมาบังคับชำระหนี้ได้มากไม่รู้จักจบ เพราะดอกเบี้ยวิ่งเร็วมาก ได้มีข้อมูลสถิติตัวเลข ที่แสดงว่า หนี้สินของลูกหนี้สถาบันการเงินได้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก นับแต่ปี2536 ซึ่งเป็นปีที่ ธปท.เริ่มให้ ธนาคารพาณิชย์ มีสิทธิ์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเอง และดอกเบี้ยเงินกู้ยิ่งสูงขึ้นหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นในสถาบันการเงินจำนวนมาก ทำให้กิจการสถาบันการเงินอันมีความสำคัญยิ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย กลายเป็นกิจการที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นหลักสำคัญต้องกลายเป็นต่างชาติ เป็นอันมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ประกาศธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สำหรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในกรณีผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่สูงถึง 75% ต่อปี ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2547 แม้อาจจะชอบด้วยกฎหมาย เพราะธนาคารมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ย่อมทำให้ท่านเห็นภาพชัดและเข้าใจได้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น ทั้งมีแนวโน้มอย่างไร และน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกหนี้คนใดจะสามารถหามาจ่ายได้ และใครจะแก้สถานการณ์นี้ได้ 7.2 สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอง ในทางที่เอาเปรียบและซ้ำเติมประชาชนผู้กู้เกินสมควร ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากมากเกินควร ดอกเบี้ยเงินกู้ผิดนัดยิ่งสูงมาก และผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินมาพอชำระหนี้ได้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นมากๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังต่ำมาก ส่วนต่างระหว่าง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ หรือspread ที่สูงมากกว่าชาติอื่นๆ และการที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้หนี้ต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น มีส่วนสำคัญที่ทำลายความสามารถของผู้ประกอบการและทำลายความสงบสุขของประชาชนจำนวนมาก แน่นอนว่ากระทบครอบครัวต่างๆในประเทศจำนวนมากถึงค่อนประเทศ 7.3 เศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยวิกฤตการณ์น้ำมันและระบบโมเดอร์นเทรดของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นความจริงที่คนไทยทุกคนทราบดี 7.4 นโยบายรวมทั้งกลไกของรัฐบาลอ่อนแออย่างต่อเนื่อง และให้ความสนับสนุนคุ้มครองแก่สถาบันการเงินมากจนเกินไป นโยบายของสถาบันการเงินส่วนมากควบคุมและกำหนดจากต่างประเทศ และไม่ได้มุ่งรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของสังคมไทย แต่มุ่งที่ผลกำไรสูงสุดอย่างเดียว ปกติ ในการกู้เงินจำนวนมาก เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้กู้ทำสัญญากู้และจำนองทรัพย์สินเป็นประกัน ซึ่งในการจำนอง ก็มีการประเมินราคาทรัพย์สินและให้กู้เพียงประมาณ 70-75 % ของราคาประเมิน และ ในการฟ้องเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ สามารถเลือกที่จะฟ้องตามสัญญากู้ หรือฟ้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง บังคับจำนอง ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมเลือกบังคับจำนอง และโดยวัฒนธรรมของคนไทยที่มักเอื้ออารีและไม่นิยมซื้อทรัพย์สินที่ดินของลูกหนี้ผู้ลำบาก รวมทั้งสภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังเงินมากพอที่จะซื้อทรัพย์สินใหญ่ได้ง่ายๆ เมื่อชนะคดีเจ้าหนี้สถาบันการเงินจึงซื้อทรัพย์สินไว้เอง ในราคาต่ำๆ เพื่อเอาไว้บีบขายให้แก่ลูกหนี้ หรือขายให้แก่ บุคคลทั่วไปในราคาที่ทำกำไรสูงสุดให้แก่สถาบันการเงิน 7.6 ที่สำคัญโดยอาศัยข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติของ ปพพ.733 เจ้าหนี้จึงยังมีสิทธิ์ที่จะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้เรื่อยๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ผลประโยชน์ของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นฝ่ายผู้กำหนดฟอร์มสำเร็จรูปของสัญญานั้นไม่เป็นธรรม และสูงเกินสมควร
ภาวะการเป็นหนี้ของผู้ลงทุนและผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนชาวไทยที่พอกพูนขึ้นมาก ได้ทำให้ประชาชนไม่สามารถฟื้นตัว ไม่อาจกลับมาเริ่มทำสิ่งใดใหม่ขึ้นมาอีกได้ ผู้นำและสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สามารถหาเงินใช้หนี้ให้ทันแก่ดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนผิดธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจทุกระดับ ต่อการจ้างงานและการมีงานทำของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง ทำความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบัน ภาพการเข้าคิวยาวเหยียดนับ 4 ชม. เพื่อจองพื้นที่เปิดท้ายขายของ หรือขายสินค้าของใช้แล้วแบกับดิน ในช่วงเวลาหัวค่ำ ในพื้นที่จอดรถของห้างใหญ่ และตลาดนัดแผงลอยใหม่ในต่างจังหวัด เป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นปัญหาหนี้สินและความไม่สามารถฟื้นตัวเพื่อประกอบธุรกิจเป็นชิ้นเป็นอันของชาวไทยเจ้าของประเทศ เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหนี้จะมาตามเอาไปเสียหมดได้เป็นอย่างดี 8. หากบังคับจำนองได้ไม่พอชำระหนี้ จะให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดได้หรือไม่ จากข้อ 3 ข้างบนนี้เห็นได้ว่า บทบัญญัติของกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้ ตามมาตรา 733 มีว่า หากบังคับจำนอง ได้ไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ลูกหนี้ หรือลูกหนี้ชั้นต้นคือ ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของ กฎหมาย และจากข้อ 7 เห็นได้ว่า บทบัญญัติแห่ง ปพพ.733 มีผลสำคัญต่อประชาชนจำนวนมาก และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยตรง เอกชนไม่สามารถตกลงกันยกเว้นหรือตกลงกันให้เป็นอย่างอื่นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อข้อความในสัญญาทั้งหลาย รวมทั้งข้อความยกเว้นบทบัญญัติแห่ง มาตรา 733 ย่อมทำขึ้นโดยผู้ที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า คือเจ้าหนี้ และทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบอย่างมาก และการที่ในความเป็นจริงในสภาพเศรษฐกิจเป็นเวลานานต่อมาจนถึงปัจจุบันว่าประฃาชนชาวไทยหนี้สินเป็นจำนวนมาก แทบทุกครัวเรือน ข้อบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับประโยชน์สุขของประชาชนจำนวนมาก และไม่อาจพิจารณาได้ว่าข้อบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน 9. สภาพความเป็นจริงของกฎหมายในปัจจุบัน ศาลฎีกามีแนวความเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา733ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นได้ ทั้งนี้ ตาม ฎีกาที่ 1507/2538 , 168/2518 ฯ ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาล ผู้เขียนมีความเห็นว่า ศาลฎีกาควรทบทวนความเห็นนี้เพื่อให้สมเจตนารมย์ของผู้ร่างกฎหมาย และเพื่อให้ระบบยุติธรรมเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาสังคมดังที่ศาลได้กระทำอยู่แล้วอย่างดียิ่งในหลายๆปีมานี้ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองคือทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภามีภาระยุ่งเหยิงอยู่กับการไขว่คว้าหาอำนาจ และการปฏิบัติตามพันธะสัญญาในประชาคมโลกและกระแสสังคมโลกที่ทำให้ไทยจำต้องเปิดเสรีทางการเงินและการธนาคาร ทั้งๆที่ไม่มีความพร้อม วิกฤตการณ์น้ำมันและปัญหาความซบเซาทางเศรษฐกิจได้ถาโถมเข้ามาซ้ำเติมคนไทยอย่างที่สุดแล้ว ประชากรในวัยทำงานของไทยกำลังจะมีน้อยลงเรื่อยๆเพราะมีคนเกิดใหม่น้อย หวังให้ศาลได้โปรดให้โอกาสแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นคนไทยเจ้าของประเทศจำนวนมากได้มีโอกาสแก้ตัวใหม่ และมีโอกาสที่จะมีความสุขในชีวิตบ้าง
ขอความกรุณาอาจารย์แนะนำต่อด้วยว่า เรื่องนี้ท่านมีความเห็นอย่างไรและท่านจะกรุณาแนะนำอย่างไรต่อได้บ้าง การคัดบางส่วนของบทความหรือข้อเขียนของ ท่านศาตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ควรจะต้องติดต่อขออนุญาตท่านก่อนหรือไม่อย่างไรดีครับ นายเกียรติ คนเป็นหนี้ |