เรียน ท่านอาจารย์มีชัย ที่เคารพ
ท่านเตือนใจ หรือคุณแดง และผมมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่อยากเรียนถามท่านอาจารย์ครับ กล่าวคือ ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (กรณีคนไทยพลัดถิ่น) ให้นิยามคำว่าคนไทยพลัดถิ่น หมายความว่า"ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นโดนเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ประเด็นที่เป็นปัญหาและต้องการความกระจ่างได้แก่ การที่นำคำว่าก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปไว้ต่อจากคำว่าคณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ระหว่าง
(๑) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ครม.กำหนดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับเท่านั้น จะทำการสำรวจจัดทำทะเบียนคนไทยพลัดถิ่นที่ตกหล่นไม่ได้แล้ว หรือ
(๒) สามารถสำรวจจัดทำทะเบียนสำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่ตกหล่นได้อีกแต่ต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิมที่ ครม.กำหนดไว้แล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ
ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่เรียกร้องกฎหมายฉบับนี้ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
ถ้าแปลจากข้อความที่บอกมา ก็น่าจะหมายถึงกรณีที่ ๑ คือ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจแล้วก่อนวันที่ พรบ.นี้ใช้บังคับ แต่การเขียนอย่างนี้ต่อไปก็คงถกเถียงกันไม่จบสิ้น ถ้าประสงค์จะให้หมายความถึงกรณีที่ ๑ ก็ควรเขียนเสียให้ชัดว่า "โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด" ส่วนถ้าต้องการให้หมายความถึงกรณีที่ ๒ ก็ควรเขียนว่า "โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเฉพาะที่กำหนดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"
อนึ่ง การเขียนนิยามในลักษณะนี้ จะมีช่องทางให้คนไทยพลัดถิ่นยากที่จะมีโอกาสได้สัญชาติไทย เพราะความเข้าใจของเจ้าตัวกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องระยะเวลาการเข้ามาอยู่ในประเทศไทย กับการมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย อาจแตกต่างกัน เพราะทั้งหมดที่เขียนนั้น (รวมทั้งหลักเกณพ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดด้วย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะกำหนดอย่างไร ) เป็นนิยามคำว่า "คนไทยพลัดถิ่น" ถ้าผิดไปจากนั้น ก็ไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่น คนเหล่านั้นจึงไม่ได้รับประโยชน์ เช่น คณะรัฐมนตรีกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องมายื่นคำขอภายใน ๑๕ วัน พอพ้น ๑๕ วันแล้วใครยังไม่ได้มายื่นคำขอ คนนั้นก็เลยไม่เข้าข่ายเป็น "คนไทยพลัดถิ่น" เป็นอันว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็ไม่ได้สัญชาติไทย การเขียนนิยามจึงต้องเพียงแต่อธิบายให้เห็นลักษณะ ส่วนจะกำหนดเงื่อนไขหรือกำหนดวิธีการในการขอหรือให้สัญชาติกันอย่างไรต้องไปกำหนดไว้ในตัวบท ถ้ายังสงสัยหรือติดใจอย่างไรก็ลองสอบถามจากกฤษฎีกาเขาดู บางทีเขาจะอธิบายหรือช่วยร่างให้ได้ ต่อสู้กันมาแทบตาย มาจบเห่กันตอนเขียนคำนิยาม ก็น่าเสียดาย