เรียน อาจารย์มีชัย
มีข้อสงสัยมานานแล้วเกี่ยวกับการพิจารณาคดี การวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากองค์กรใดๆก้ตาม แต่ในที่นี่ขอเรียนถาม เฉพาะศาลฯต่างๆก่อน ไม่ว่าจะเป็นศาลประเภทใดๆก้ตาม
ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ก็ย่อมมี อคติ หรือ การเอนเอียงได้ สมมุติ ในการตัดสินคดีใดๆก้ตาม เช่น ถ้าศาลเห็นว่าผู้ต้องหามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต่อให้ไม่มีหลักฐาน ฯลฯ ต่างที่ชัดเจน ศาลจะสามารถที่จะไม่หา เหตุผลหรือข้อกฏหมายเพื่อมาสนับสนุนคำตัดสินนั้น เพื่อลงโทษ ในกรณีนี้ ได้หรือไม่
ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการกลั่นแกล้งกัน แม้ว่าหลักฐาน ฯลฯ ต่างๆจะออกมาในทางไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา ศาลจะหาเหตุผล หรือ ข้อกฏหมาย เพื่อช่วยในกรณีนั้นๆได้หรือไม่
สรุปคำถามก็ คือ ถ้าอยากจะให้ผลออกมาอย่างไร ก็ไปหา เหตุผล หรือ กฏระเบียบ ต่างๆ เพื่อไปสนับสนุน ตรงจุดนั้นๆ จะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้หรือไม่
อันนี้เป็นการถามโดยทั่วๆไปนะครับ ไม่ได้เจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะสงสัยมานานแล้ว
ขอบพระคุณอาจารย์ครับ
ในการพิจารณาของศาลมีกฎหมายวางหลักและวิธีในการพิจารณาคดีอยู่โดยละเอียด หลักสำคัญอยู่ตรงที่ว่าศาลจะต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อศาลในการนำสืบของคู่ความ เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ (ตามพยานหลักฐาน) นั้นแล้ว จึงจะปรับเข้ากับตัวบทกฎหมาย ศาลไม่อาจอาศัยความรู้สึก หรือความรู้ส่วนตัว หรือหาเหตุผลอะไร มาเป็นปัจจัยในการตัดสินคดีได้ ได้แต่อาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนของศาลเท่านั้น
หลักในการพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งก็ต่างกัน ถ้าเป็นคดีอาญา จำเลยนั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องนำสืบอะไรเลยก็ได้ ส่วนโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ ตามที่กล่าวหาจริง และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย ถ้านำสืบไม่ได้ หรือนำสืบแล้วไม่ได้ความกระจ่างชัดเป็นที่น่าสงสัย ศาลก็จะไม่ลงโทษจำเลย เช่น ฟ้องว่าจำเลยลักนาฬิกาข้อมือคนอื่นไป แล้วนำสืบเพียงว่าเมื่อตอนจับจำเลยได้นั้น พบของนาฬิกาข้อมือเรือนดังกล่าวอยู่ในตัวจำเลย จำเลยไม่ได้นำสืบอะไร อย่างนี้ ศาลก็ต้องยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป เพราะการที่จำเลยมีนาฬิกาอยู่ในตัว ไม่ได้แปลว่าจำเลยลักของเขามา จำเลยอาจซื้อมา ขอยืมมา เก็บตกได้และกำลังจะเอาไปคืน หรือรับฝากไว้ ก็เป็นได้ทั้งนั้น ส่วนในทางแพ่งนั้น มีหลักว่าคู่กรณีจะต้องรักษาประโยชน์ของตนเอง ศาลจะรับฟังพยานจากทั้งสองฝ่าย แล้วจึงชั่งน้ำหนักว่าพยานฝ่ายใดน่าเชื่อถือมากกว่ากัน การที่ฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้าง แล้วอีกฝ่ายหนึ่งเฉยเสีย กฎหมายถือว่าฝ่ายที่เฉยเสียนั้นยอมรับตามที่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้าง เช่น ถ้าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขอยืมเงินไป ๑๐๐ บาทแล้วไม่ชำระ จำเลยเฉยเสียไม่ไปต่อสู้คดี หรือไปต่อสู้คดีก็นำสืบแต่เพียงว่าตนร่ำรวยมหาศาลมีรายได้เดือนละหลายล้านบาท ศาลก็จะตัดสินว่าจำเลยยืมเงินเขาไปจริง และตัดสินให้ชำระ เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้ยืม เพียงแต่อ้างความร่ำรวยของตนเท่านั้น