ต่อคำถามที่ 046692
เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง
ผมขอกราบขอบพระคุณท่านที่กรุณาให้คำตอบในเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ยังมีความสงสัยที่ยังค้างคาใจและต้องการคำตอบจากท่านอาจารย์อีกครั้ง
ข้อความในพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ มาตรา ๙/๑ (๓) เป็นดังนี้ครับ "ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมนุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ"
ผมได้สอบถามผู้ที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในชั้น ส.ส.ได้รับคำตอบว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการครบทั้ง ๓ ด้านๆละ ๑ คนหรือมากกว่าก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการฯในเรื่องวิชาการ เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะต้องทำหน้าที่พิสูจน์และให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า
๑. การที่ตัวบทใช้ข้อความตามที่ผมคัดลอกมาข้างต้น หมายความว่าการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องมีนักวิชาการครบทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านสัญชาติหรือสถานะบุคคล อย่างน้อย ๑ คน ด้านสังคมวิทยาหรือมนุษยวิทยา อย่างน้อย ๑ คน และด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์ อย่างน้อย ๑ คน และต้องมีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างน้อย ๑ คน และผู้แทนภาคประชาชน อย่างน้อย ๑ คน เป็นความเข้าใจถูกต้องหรือไม่
๒. ตามข้อ ๑ ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การที่รัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีนักวิชาการไม่ครบทุกด้าน คำสั่งนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร เช่น เรียกประชุมได้ไหม ลงมติได้ไหม ครับ
ขอพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูง |