ค่าล่วงเวลา
เรียน อ.มีชัย
กระผมทำงานอยู่ธนาคารแห่งหนึ่ง ในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา ได้เข้าทำงานตั้งแต่เวลา 19.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป เนื่องจากเป็นการทำงานเลิกหลังเที่ยงคืน ธนาคารจึงจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมเป็นค่าชิพให้วันละ 220 บาท
ปัจจุบัน ธนาคารได้ปรับปรุงระบบงานใหม่ มีผลให้ต้องเปลี่ยนเวลาทำงานมาเป็น 14.00 น. ถึงเวลา 22.30 น. จากการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน มีผลทำให้พนักงานไม่ได้รับค่าชิพ เนื่องจากเวลาทำงานปรกติไม่ได้เลิกหลังเที่ยงคืน
แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 กระผมต้องทำงาน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึงเวลา 02.00 น. นับเวลารวมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 กระผมก็ต้องทำงาน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น. นับเวลารวมทั้งสิ้น 14 ชั่วโมง
ผู้บริหารยอมรับว่า การทำงานเกินเวลาของพนักงานทั้งสองวันดังกล่าว เกิดจากการบริหารจัดการกำลังคนที่ไม่สมดุลกับปริมาณงาน และจะหากำลังคนมาเพิ่มให้ในอนาคต
จากการทำงานหนักทั้งสองวันดังกล่าว ธนาคารไม่คิดค่าล่วงเวลาให้ โดยอ้างกฎระเบียบว่า ธนาคารไม่มีนโยบายจะจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร แต่จะจ่ายเป็นค่าชิพให้แทน โดยให้ถือเสมือนหนึ่งว่า เป็นการทำงานเลิกหลังเที่ยงคืน
กระผมอยากเรียนถามอาจารย์ว่า
1. ธนาคารมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงาน โดยอ้างว่าเป็นกฎระเบียบของธนาคารได้หรือไม่?
2. ความผิดพลาดอันเกิดจากการบริหารงาน ผู้บริหารสามารถที่จะผลักภาระต้นทุนไปให้กับพนักงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ได้หรือไม่?
3. หากจะมีการร้องเรียน หรือดำเนินคดีตามกฎหมาย ควรจะเริ่มต้นอย่างไร? |