ในปกติแล้วการวินิจฉัยของศาลฎีกา มักมีอุปสรรคในเรื่องของภาษาอยู่บ่อยครั้ง คำพิพากษาดังกล่าวบางครั้งก็มีภาษาท้องถิ่น มาด้วย เป็นไปได้หรือไม่ค่ะว่า คำพิพากษาศาลฎีกาในบางเรื่องก็ยังมีโอกาสผิดพลาด เพราะความไม่เข้าใจในตัวภาษาท้องถิ่นดังกล่าว
กรณีไหนบ้างค่ะที่ศาลฎีกาอาจจะส่งให้ ศาลปกครอง หรือ สำนักงานกฤษฏีกา ตีความ
โดยปกติศาลจะไม่ใช้ภาษาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาษาทางราชการ เว้นแต่ภาษาท้องถิ่นคำนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งคู่ความก็จะต้องนำพยานมานำสืบให้ศาลเข้าใจว่าคำท้องถิ่นมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อนำสืบว่าอย่างไร ศาลก็จะใช้ในความหมายนั้น ถ้าหากผิด ก็แปลว่าคู่ความนำสืบผิดและอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้คัดค้าน
ศาลเป็นองค์กรอิสระที่ตัดสินคดีความจึงต้องแปลกฎหมายเอง และถ้าเป็นคำแปลของศาลฎีกาก็เป็นที่ยุติ มีผลบังคับกับคู่กรณี จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะส่งให้ศาลปกครองหรือกฤษฎีกาไปตีความให้ ตรงกันข้ามเวลาที่กฤษฎีกาจะตีความเรื่องใด จะต้องคอยชำเลืองดูอยู่เสมอว่าศาลแปลเรื่องนั้น ๆ ว่าอย่างไร เพราะจะได้ไม่ไปแปลอะไรให้ขัดกับคำพิพากษาของศาล เว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าศาลแปลไม่ตรงกับที่ตั้งใจว่า ก็ต้องคิดอ่านหาหนทางหาวิธีเขียนกฎหมายใหม่ เพื่อให้ศาลแปลให้ตรงตามที่คิดไว้ ซึ่งก็จะใช้สำหรับเรื่องต่อ ๆ ไป เคยมีตัวอย่างที่กฎหมายเขียนลักษณะต้องห้ามว่า "ต้องคำพิพากษาให้จำคุก" กับ "ได้รับโทษจำคุก" ซึ่งผู้ร่างตั้งใจว่า เมื่อมีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว แม้ศาลจะรอลงอาญา ก็จะเข้าข่ายแล้ว แต่ถ้าเขียนว่า "ได้รับโทษจำคุก" ก็หมายถึง การที่ได้รับโทษจำคุกจริง ๆ ถ้าศาลพิพากษาให้จำคุกแต่ให้รอลงอาญา ก็จะไม่เข้าข่าย แต่ศาลท่านแปลว่าไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็ต้องแปลอย่างเดียวกัน คือ ต้องได้รับโทษจำคุกจริง ๆ หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาแล้วก็ไม่เข้าข่าย ต่อมา จึงมีการเขียนกฎหมายใหม่ให้ชัดขึ้น ดูได้ได้จากมาตรา ๑๐๖ (๑๑) ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนว่า "ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ..." เป็นต้น