เรียน ท่านอาจารย์มีชัย ที่เคารพ
ผมมีปัญหาขอเรียนถามความเห็นจากท่านอาจารย์ ดังนี้ครับ
ชายไทยคนหนึ่งไปอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ได้ว่าจ้างนางสาว ข.ซึ่งเป็นหญิงต่างชาติตั้งท้องในลักษณะของการอุ้มบุญ โดยใช้อสุจิของชายไทยผู้นั้นผสมกับไข่ของหญิงต่างชาติผู้หนึ่ง (ไม่ปรากฎชื่อ) แล้วนำไปฝากในครรภ์ของนางสาว ข จนกระทั่งคลอดเป็นเด็กผู้หญิงชื่อ เจ โดยนางสาว ข ได้มอบอำนาจการปกครองเด็กหญิง เจ ให้กับชายไทยเป็นผู้มีอำนาจปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว และมีคำสั่งศาลท้องถิ่นที่สั่งให้ผู้ชายไทยคนนั้นเป็นบิดาของเด็กหญิง เจ ต่อมาผู้ชายไทยได้ไปติดต่อสถานกงสุลไทยเพื่อขอแจ้งเกิดและขอสูติบัตรไทยให้กับเด็กหญิง เจ ในฐานะเป็นบุตรที่แท้จริงของตน
คำถามก็คือ กงสุลไทยในฐานะเป็นนายทะเบียนราษฎรในต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่รับแจ้งการเกิดสำหรับคนไทยในต่างประเทศตามมาตรา ๒๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ สามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กหญิง เจ ได้หรือไม่ และเด็กหญิง เจ จะได้สัญชาติไทยหรือไม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่านายทะเบียนสามารถรับแจ้งการเกิดให้ได้และเด็กหญิง เจ ย่อมได้สัญชาติไทยตามบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีคำสั่งศาลที่ให้ชายไทยคนนั้นเป็นบิดาของเด็กหญิง เจ ส่วนรายการมารดาของเด็กที่ต้องบันทึกลงในสูติบัตร คงต้องใส่ชื่อนางสาว ข ซึ่งเป็นผู้ตั้งครรภ์และคลอดเด็กดังกล่าว
รบกวนท่านอาจารย์ช่วยกรุณาให้ความกระจ่างด้วย ขอบคุณครับ