เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม เพราะรัฐบาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ ไทยก็เลยพลอยแพ้ไปด้วย อังกฤษส่งทหารเข้ามาปลดอาวุธ แต่ไทยเราก็ได้อาศัยอ้างขบวนการของเสรีไทยอ้างว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ อเมริกันไม่ค่อยติดใจมากนัก แต่อังกฤษตั้งใจจะเอาไทยเป็นเมืองขึ้นให้ได้ ได้ยื่นสัญญาให้ไทยเซ็น มี ๒๐ กว่าข้อ สาระสำคัญคือ ทำให้ไทยเป็นเมืองขึ้น และอยู่ในการควบคุมของอังกฤษ เช่น ไทยต้องมอบเมืองท่า เรือทุกชนิดให้อังกฤษ การปกครองและฝึกทหารต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการของอังกฤษ จะขายข้าว ยางพาราหรือไม้สักให้ใคร ก็ต้องได้รับอนุญาตจากอังกฤษ ฯลฯ อาจารย์เสนีย์ ปราโมช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้อดทนค่อย ๆ เจรจากับอังกฤษ ไปทีละข้อ ข้อไหนพอยอมได้ไม่ถึงกับเสียเอกราช ก็ยอม ข้อไหนที่จะทำให้ไทยเสียเอกราช ก็ไม่ยอม เจรจากันอยู่ ๓ เดือน จึงตกลงกันได้อังกฤษก็ได้ไปบางส่วน ไทยก็รักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ อังกฤษอยู่ในเมืองไทยไม่นานดูเหมือนไม่ถึงปี ก็ถอนทหารกลับไป
การปรองดองก็คือการพูดคุยกัน เพื่อดูว่าอะไรที่ควรยอมกันได้ อะไรที่จะทำให้ถึงกับเสียระบบ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งก็ได้ในส่วนที่สำคัญ ส่วนประเทศก็รักษาระบบเอาไว้ได้
คนไทยนั้นเป็นคนใจอ่อน และมักจะเห็นใจคนมีทุกข์เสมอ ถ้าค่อย ๆ พูดค่อย ๆ จากัน อะไรที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็อาจเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย เหมือนกับที่อาจารย์เสนีย์ท่านเคยเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จมาแล้ว
ถ้าในสมัยก่อนนั้นอังกฤษถือตัวว่าเป็นผู้ชนะ แล้วจะหักลำเอาตามที่ตัวต้องการทั้งหมด ไทยก็คงไม่ยอม อเมริกันและประเทศอื่น ๆ ก็คงไม่ยอมเช่นกัน เพราะประเทศเหล่านั้นก็ถือว่าตนได้ร่วมรบจนชนะสงครามมาด้วยกัน อังกฤษจะมาชุบมือเปิบแต่คนเดียวได้อย่างไร เมื่ออังกฤษยอมออมชอมเท่าที่ไทยพอรับได้ และได้ประโยชน์ไปพอสมควร เรื่องก็จบและหันกลับมาเป็นเพื่อนกันได้จนทุกวันนี้
การใช้กำลังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร จริงอยู่คนที่มีกำลังมาก ก็อาจเอาชนะไปได้ชั่วขณะหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ไปสะสมกำลังเพื่อกลับมาเอาชนะใหม่ หมุนเวียนอย่างนี้ก็ไม่มีวันสงบ และเมื่อมีการใช้กำลังกันคราวไร ประชาชนมักจะเป็นฝ่ายรับเคราะห์กรรมเสมอ
มีชัย ฤชุพันธุ์ 1 มิถุนายน 2555 |