คณะกรรมการกำหนดราคากลาง
เมื่อปี 2545 สามีรับราชการตำแหน่ง นักวิชาการเกษตร ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างถนนลาดยางบนดอย ร่วมกับนักวิชาการเกษตรอีก 1 คน และนายช่างชลประทานอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน
- เมื่อปี 2551 สตง.ได้เข้าตรวจสอบและกล่าวหาว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางประมาณเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยคำนวณปริมาณงานเกินกว่าที่กำหนดในแบบรูปรายการทำให้ราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย เป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท
- ทางสำนักงานของสามี (สมมุติว่าชื่อ สำนักงาน ก.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางมิได้ทำให้ราชการเสียหาย เนื่องจาก ข้อเท็จจริงที่สามีและกรรมการกำหนดราคากลางท่านอื่นเพิ่งจะทราบเหมือนกันเมื่อ สตง.กล่าวหาเช่นนั้น และได้ไปค้นหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (เอกสารได้มาไม่ครบ 100% สูญหายไปบ้างส่วน) คือ เมื่อคณะกรรมการฯ คำนวณราคากลางเสร็จสิ้นแล้วได้ส่งมอบ BOQ (แบบรูปรายการ) และเค้าโครงแบบก่อสร้างคืน พร้อมราคากลาง (สมมุติว่า 36 ล้านบาท) ให้แก่สำนักงาน ก. (ชื่อสมมุติ) ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง แต่ในขั้นตอนการเสนอผู้ว่าราชการลงนามประกาศประกวดราคา กลับแจ้งในหนังสือว่า ราคากลางเท่ากับ 33 ล้านบาท ซึ่งผู้ว่าฯ ก็อนุมัติตามนั้น (33 ล้านบาท) พร้อมทั้งเอกสารประกอบการประกวดราคาและแนบท้ายสัญญา เมื่อรวมราคาแล้วก็เท่ากับ 33 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนละรายการกับของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งเป็นราคาและแบบรูปรายการของ นาย ป. ซึ่งสำนักงาน ก. ได้ร้องขอมาให้ช่วยในการออกแบบก่อสร้างถนนตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเท่ากับว่า สำนักงาน ก.ไม่ได้ใช้ BOQ และราคากลางของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง แต่ไปใช้ของ นาย ป. แต่สำนักงาน ก. ก็ไม่ได้ยกเลิกราคากลาง 36 ล้านบาทของคณะกรรมการฯ รวมทั้งเอกสารบางแห่งก็พิมพ์ 36 ล้านบาทบ้าง 33 ล้านบาทบ้าง รวมทั้งตัวเลขและตัวอักษรก็ไม่ตรงกัน จึงเชื่อได้ว่าราคากลางที่ใช้อ้างอิงในการประกวดราคามิใช่แบบรูปรายการ (BOQ) และราคากลางที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้คำนวณและส่งมอบให้สำนักงาน ก. คณะกรรมการกำหนดราคากลางจึงมิได้ทำให้ราชการเสียหาย จึงมิได้ทำคำสั่งให้ชดใช้
- เวลาผ่านไป จนเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 มีหนังสือจากกระทรวงการคลังแจ้งให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางทั้ง 3 คน ชดใช้เงินคนละส่วนเท่าๆ กัน และหากเป็นไปตามระเบียบฯ ว่าด้วยละเมิด ทางสำนักงาน ก.ก็คงจะต้องทำคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งทางคณะกรรมการกำหนดราคากลางก็คงต้องไปตามสิทธิที่มี
- ที่บรรยายมาอย่างยืดยาว เพื่อให้อาจารย์ได้สบายใจว่ามิได้ให้คำปรึกษากับผู้ที่ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงขอเรียนถามอาจารย์ดังต่อไปนี้
1. เหตุผลของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ก็คงมีเพียงว่า แบบรูปรายการ (BOQ) และราคากลางที่คณะกรรมการฯ กำหนดและส่งมอบให้สำนักงาน ก. เป็นคนละชุดกับราคากลางที่ใช้แนบท้ายประกาศประกวดราคาและแนบท้ายสัญญา ซึ่งได้ชี้แจงไปกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้วและส่งให้กระทรวงการคลังจนมีคำวินิจฉัยดังกล่าว จะยังใช้ชี้แจงได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุผลดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าเอกสารหลักฐานจะไม่ครบถ้วนแต่ก็สามารถใช้อ้างอิงได้
2. หากจะยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้จะได้หรือไม่ เพราะเท่าที่ศึกษาดูในเรื่องของอายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สอบสวนแล้วและมีความเห็นว่าไม่ต้องชดใช้เมื่อปี 2551 ในขณะที่กระทรวงการคลังมีความเห็นว่าต้องชดใช้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2555
3. หากต้องอุทธรณ์ศาลปกครอง โดยเหตุผลตามข้อ 1 จะมีแนวโน้มว่าศาลปกครองจะพิจารณาตัดสินอย่างไร จะพ้นข้อกล่าวหาหรือไม่
หากไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือจากนี้ได้อีก คงเหลือที่พึ่งสุดท้ายคือ ศาลปกครอง แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าศาลจะพิจารณาว่าอย่างไร ขณะนี้สามีเกษียณอายุราชการ เหลือเพียงบำนาญเดือนละไม่ถึง 2 หมื่นบาท ทราบมาเบื้องต้นว่าคำสั่งจะให้ชดใช้คนละ 3 ล้านกว่าบาท ภายใน 60 วัน รับราชการมาทั้งชีวิตยังไม่มีเงินมากขนาดนั้นเลย และก่อนที่จะมีคำสั่งกระทรวงการคลังก็หวังเพียงอยากมีชีวิตเรียบง่ายหลังเกษียณ พอมาเจอปัญหานี้เข้ากลับอยากจะตายๆ ไปให้พ้นๆ แต่ก็ไม่ได้อีกเพราะจะเดือดร้อนไปถึงลูกหลาน หวังว่าอาจารย์คงจะเข้าใจความรู้สึกที่ว่านี้ได้ดีน่ะค่ะ
ขอบพระคุณอาจารย์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ |