เช็คที่ถูกปฏิเสธการสั่งจ่ายถือเป็นการชำระหนี้บางส่วนหรือไม่
กราบสวัสดีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ผมเป็นนักศึกษากฎหมายคนหนึ่ง มีความสงสัยในตัวบทกฎหมายขอเรียนสอบถามดังนี้ครับ
เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๔๕๖ วรรคสอง บัญญัติว่า
"สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"
ส่วน มาตรา ๓๒๑ วรรคสาม บัญญัติว่า "ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว"
ดังนี้ หากเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เช็คดังกล่าวถูกปฏิเสธการสั่งจ่าย เช่นนี้แล้ว
(๑) จะถือได้หรือไม่ว่าการชำระหนี้ด้วยเช็คที่ถูกปฏิเสธการสั่งจ่ายนั้น ถือเป็นการชำระหนี้ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง ข้างต้น อันถือได้ว่าสามารถฟ้องร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวได้แล้ว เพราะมาตรา ๓๒๑ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความระงับแห่งหนี้ ซึ่งมาตรา ๔๕๖ มิได้บัญญัติถึงกับว่าหนี้ที่ชำระนั้นจะต้องระงับไปด้วย
(๒) หรือจะถือว่า เนื่องจากหนี้ที่ชำระโดยเช็คนั้นยังไม่ระงับไปโดยผลของมาตรา ๓๒๑ วรรคสาม จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง ด้วย เพราะการชำระหนี้ตามมาตรา ๔๕๖ วรรคสอง ต้องมุ่งหมายถึงการชำระหนี้ที่หนี้ระงับไปด้วย
ท่านอาจารย์มีความเห็นไปในทางใดครับ ขอเรียนท่านอาจารย์ว่าเป็นการสอบถามความเห็นทางกฎหมายเพื่อประกอบการศึกษาเท่านั้นครับ มิได้มีความประสงค์จะนำไปใช้อ้างอิงประกอบการเป็นคดีความแต่อย่างใด
ขอขอบพระคุณมากครับ
|