เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง
ขออนุญาตรบกวนท่านอีกสักสองเรื่องครับเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ
๑. การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดของคนไทยพลัดถิ่นตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นการได้สัญชาติไทยมาตั้งแต่บุคคลนั้นเกิดหรือได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) ฯ มีผลใช้บังคับ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดไว้ ไม่เหมือนกับกรณีคนที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๒๓ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ (กรณีของคนที่ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.๓๓๗) ที่กฎหมายกำหนดให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ การตีความเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะจะมีผลต่อการได้หรือไม่ได้สัญชาติไทยของคนชั้นบุตรชั้นหลานของคนไทยพลัดถิ่น เพราะถ้าขณะบุตรเกิด บิดามารดาเป็นคนซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย บุตรนั้นก็จะไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ครับ
๒. ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ เปิดบริการที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลในหลายประเทศแล้ว ตอนนี้มีการเรียกร้องของคนไทยที่อเมริกา ต้องการให้รายการที่อยู่ของผู้ถือบัตรตามที่ปรากฏบนหน้าบัตรประจำตัวประชาชนเป็นที่อยู่ในต่างประเทศตามที่ผู้นั้นอาศัยอยู่จริง (ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้านในประเทศไทย) ซึ่งผู้บริหารบางท่านก็ไปรับปากรับคำไว้ จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่าตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๒ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๔ สามารถดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร และท่านอาจารย์มีความเห็นหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณาครับ