ขอเสนอแนวทางของรัฐธรรมนูญที่น่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
เรื่อง ขอเสนอแนวทางของรัฐธรรมนูญที่น่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขกราบเรียน ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์
ปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือจะทำอย่างไรให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดองและอำนาจอธิปไตยมีการคานกันได้อย่างแท้จริง
การที่จะทำให้ 2 ประเด็นใหญ่นี้เกิดขึ้นได้จริง
ระบบการเข้าสู่อำนาจของผู้บริหารประเทศต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมีการแบ่งเป็น
2 ขั้วแบบเดิม คือมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
แต่จะต้องให้ประชาชนเป็นผู้เลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่ฝ่ายบริหารโดยตรง และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาเป็นผู้เฝ้าระวังการทำงานรัฐบาลและทำหน้าที่นิติบัญญัติ
ในอดีตคณะรัฐบาลมักจะมาจากหลายพรรคการเมืองเป็นแบบสมานฉันท์เพื่อประโยชน์ของแต่ละพรรค แม้ประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันจะไม่ดีนักแต่ก็มีการคานกันเองป้องกันการรวบอำนาจ
ต่อมาเมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ปรากฏการณ์ใหม่ก็เกิดขึ้นเกิดการนำนโยบายประชานิยมมาใช้เพื่อครอบครองอำนาจให้ยาวนาน
เกิดการแก้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคและพวก กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง
ดังนั้นหากยังคงแนวคิดให้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมีที่มาจากประชาชนกลุ่มเดียวกัน
ก็จะไม่สามารถคานกันอย่างสมดุลใน 3 อำนาจ
เมื่ออำนาจนิติบัญญัติจับมืออย่างกลมเกลียวกับอำนาจบริหารแล้ว
ฝ่ายค้านก็อาจทำอะไรไม่ได้เลย
อำนาจตุลาการที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการตุลาการและโปรดเกล้าโดยพระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจคานกันได้
ดังนั้นแนวคิดในการคานอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
ต้องทำให้ที่มาของบุคคลที่จะมาใช้อำนาจต้องมาจากประชาชนที่มีความแตกต่างกันบ้าง
และแยกผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนใช้อำนาจนิติบัญญัติและตัวแทนใช้อำนาจบริหารออกจากกันเป็น
2
บัญชี
โดยตัวแทนใช้อำนาจนิติบัญญัติหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เลือกตั้งแบบเดิมที่เคยดำเนินการมา
ส่วนตัวแทนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรีต้องเป็นคะแนนเสียงทั่วประเทศแบบเขตเดียวโดยไม่มีฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลอีกต่อไป
ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 70 ท่านแรกถือว่าเข้ารอบและจะมีกระบวนการลงคะแนนกันเองเพื่อฟอร์มเป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นคณะรัฐมนตรีก็อาจเป็นสำรองเผื่อผู้ที่เป็นมีเหตุต้องออกจากการเป็นรัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาจะเป็นผู้คอยดูแลและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรี
โดยต้องมีการบัญญัติบทบาทหน้าที่และเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้การทำงานของทั้ง 2
อำนาจนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
เชื่อว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากประชาชนทั้งประเทศคงต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ถูกลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะและสามารถทำงานครบวาระ
หากจะมีบางรัฐมนตรีที่ไม่เข้าตาถูกลงมติปลดออกไปบ้างก็มีตัวสำรองรออยู่แล้ว
ส่วนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนผู้ใช้อำนาจบริหาร
หากทำได้ก็ขอให้ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นข้าราชการ,
ผู้ที่เสียภาษีทางตรงให้แก่รัฐ หรือเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอายุ 20
ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หากไม่สามารถกำหนดให้ผู้ที่จะใช้สิทธินี้มีจำนวนน้อยลงเหลือประมาณ
50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็อาจทำให้ได้ตัวแทนที่มีตำหนิบ้าง
แต่ก็ต้องผ่านด่านการคัดเลือกกันเองเพื่อเข้าสู่การเป็นคณะรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง
นอกจากนี้การมีฝ่ายค้านเต็มสภาก็จะช่วยให้ผู้ที่จะอาสามาบริหารประเทศต้องคิดหนัก
หากได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพแล้วค่าตอบแทนของผู้ที่เข้ามาช่วยบ้านเมืองก็ควรมีการกำหนดให้สูงขึ้นทั้ง
3 อำนาจ คือทั้งฝ่ายบริหาร, ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ผลดีอย่างยิ่งของการแยกอำนาจและการใช้เขตเลือกตั้งเขตเดียวทั้งประเทศสำหรับผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจะทำให้การใช้เงินเพื่อซื้อเสียงทำได้ยากยิ่งขึ้นและน่าจะไม่คุ้มค่าของการลงทุน กลไกอื่นๆที่จะทำให้แนวคิดนี้ปฏิบัติได้โดยมีผลเสียน้อยกว่าผลดีก็ขอฝากให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กรุณาช่วยเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์
จึงเรียนมาเพื่อเป็นทางเลือกของรูปแบบรัฐธรรมนูญที่จะช่วยสร้างความปรองดองได้อย่างยาวนานและสามารถลืมอดีตที่เจ็บปวดได้ |