เสนอแนะแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญถึงอ.มีชัย และกรธ.
เรียน อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นประชาชนที่รักชาติยิ่งชีพ ขอเสนอแนะแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา ทั้งเรื่องการเลือกตั้ง ปัญหานอมินี องค์กรอิสระ และการแก้ไขเพิ่มเติ่มรัฐธรรมนูญ ฝากท่านกรุณาลองพิจารณาด้วยครับ เพื่อทำให้ประเทศได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายและเหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย
การเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นบุคคลที่ได้รับเกียรติให้เข้ามารับใช้ประชาชน มีภาระหน้าที่สำคัญหลายประการ เช่น การออกกฎหมาย การคัดเลือกหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จึงจำเป็นที่เราจะต้องได้ผู้แทนที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ส.ส. ยังมิใช่ผู้แทนราษฎรที่แท้จริง เป็นเพียงลูกจ้างของพรรค และพรรคก็ไม่ต่างจากทรัพย์สินของคนส่วนน้อย ข้าพเจ้าจึงมีข้อเสนอ ดังนี้
1.ทำให้การโหวตโนมีความหมาย ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมาได้ละเลยเสียงของประชาชนที่ได้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (โหวตโน) เพราะ ตามกฎหมายเดิม (พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๘) ระบุให้คะแนนโหวตโนมีผลเฉพาะแก่เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น และต่อให้คะแนนโหวตโนจะมีมากมายขนาดไหน แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็จะต้องให้มีผู้สมัครคนเดิมเข้าไปเป็นผู้แทนในสภาอยู่ดี ถือเป็นการละเลยเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนอย่างยิ่ง ดังนั้นแนวทางใหม่ที่เราจะเสนอแนะเพิ่มเติม คือ การกำหนดว่า หากเขตเลือกตั้งใดมีคะแนนโหวตโนเกิน ๕๐% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง กกต. ต้องประกาศเปิดรับสมัครใหม่เป็นกรณีพิเศษเฉพาะในเขตที่เกิดเหตุการณ์นี้เท่านั้น โดยต้องห้ามผู้สมัครคนเดิมลงสมัครโดยเด็ดขาด นั่นคือ แต่ละพรรคการเมืองต้องเปลี่ยนตัวผู้สมัครเป็นคนใหม่ จะส่งผู้สมัครคนเดิมลงสมัครซ้ำมิได้ เพราะถือว่า มติส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่นั้นไม่ต้องการให้ผู้สมัครเหล่านั้นมาเป็นผู้แทนของตนเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการตัดสิทธินักการเมือง ผู้สมัครคนดังกล่าวสามารถที่จะกลับมาลงสมัครในเขตเดิมได้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป (ส.ส. ชุดนี้ครบวาระหรืออีก ๔ ปีข้างหน้านั่นเอง แต่ถ้ามีการยุบสภาก่อนก็กลับมาลงสมัครได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอถึง ๔ ปี) แต่ถ้าหากยังต้องการที่จะแข่งขันต่อก็สามารถที่จะเปลี่ยนไปลงสมัครในเขตเลือกตั้งอื่นๆได้ เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตนั้นไม่เอาคุณ คุณจึงไม่สามารถที่จะลงสมัครในเขตนั้นซ้ำได้ และด้วยวิธีการใหม่นี้จะเพิ่มคุณค่าให้กับการโหวตโน และในกรณีที่ไม่ชอบผู้สมัครใดเลย ประชาชนจะได้ไม่ต้องฝืนใจเลือกคนที่เกลียดน้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เกลียดมากกว่าได้เข้าไปในสภา
2.ส่งเสริมให้คนดี มีคุณธรรม ได้มีโอกาสเข้าสู่สภา แนวทางใหม่ที่เราจะเสนอแนะเพิ่มเติม คือ บัญญัติเพิ่มในกฎหมายว่า ตลอดระยะเวลา ๖ ปีที่ผ่านมานับถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งครบทุกครั้ง หากการเลือกตั้งครั้งใดไม่ไปใช้สิทธิ ต้องไปแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อนายทะเบียนอำเภอตามกฎหมาย จึงจะถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ นับจากวันเลือกตั้งย้อนกลับไปเป็นระยะเวลา ๖ ปี หากมีจดหมายจาก กกต. ให้ไปเลือกตั้งกี่ครั้งไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. ส.ก. อบต. ผู้สมัครคนนั้นจะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งครบทุกครั้ง แต่ถ้าหากครั้งใดไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็จะต้องไปแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอให้ถูกต้องตามกระบวนการ เพราะ ถ้าแค่ไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนปวงชนยังทำไม่ได้ แล้วยังจะมีหน้ามาอาสาทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนเองได้อย่างไรกัน ซึ่งวิธีนี้เป็นการคัดกรองผู้สมัครไปในตัวด้วย เพราะเป็นการปลูกฝังให้รู้จักระบอบประชาธิปไตย บังคับให้ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเมือง และติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ต่างจากในอดีตที่ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการเมือง ผู้สมัครหลายคนไม่เคยไปเลือกตั้ง วันดีคืนดีนึกอยากจะมีอำนาจ เพียงแค่มีเงินหรือเส้นสายก็สมัครได้แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้มีการส่งนอมินีหรือตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาเป็นจำนวนมาก ประเทศเราจึงได้ผู้แทนที่ไม่ทราบปัญหาของชาติเลย ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญๆได้ แต่ถ้าเราบัญญัติข้อนี้ลงไป จะเป็นการคัดกรองครั้งใหญ่ สภาจะมีคนดีเพิ่มเข้ามา นอมินีจะหายไป เป็นการแก้ปัญหาแบบทูอินวัน (ตามกฎหมายเดิม หากบุคคลใดไม่ไปเลือกตั้ง บุคคลนั้นก็จะถูกตัดสิทธิเพียงชั่วคราว และจะได้รับสิทธิคืนทันที เมื่อเขากลับมาเลือกตั้งในครั้งถัดมา แต่ในกฎหมายใหม่นี้ หากบุคคลนั้นไม่ไปเลือกตั้งแล้วไม่ได้ไปแจ้งเหตุให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะถูกตัดสิทธิเหมือนเดิมเช่นกัน แต่ว่าในช่วงเวลา 6 ปีถัดมา บุคคลนั้นจะต้องไปเลือกตั้งให้ครบทุกครั้ง จึงจะได้รับสิทธิคืนกลับมา ด้วยเหตุนี้จึงรับประกันได้ว่า จะไม่มีนอมินีคนใดสามารถสมัครได้แน่นอน เพราะปกติบรรดานอมินีจะไม่ไปเลือกตั้งกันอยู่แล้ว หลักฐานทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีข้อมูลการเลือกตั้งของคนไทยทุกคน)
3.ทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกิน ๕๐% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ซึ่งถ้าเขตใดไม่มีผู้สมัครที่ได้คะแนนเกิน ๕๐% เขตนั้นจะต้องประกาศการเลือกตั้งรอบ ๒ โดยให้นำผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ ๑ และ ๒ มาแข่งกัน โดยให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าใครได้คะแนนมากกว่าก็ถือเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น ส่งผลให้แต่ละเขตเลือกตั้งจะได้ผู้แทนที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอย่างแท้จริง ต่างจากปัจจุบันซึ่งผู้สมัครส่วนมากล้วนชนะการเลือกตั้งโดยที่ได้รับคะแนนจากประชาชนไม่ถึง ๕๐% ของผู้มาใช้สิทธิ บางคนได้รับคะแนนแค่ ๒๐-๓๐% ก็ชนะเลือกตั้งแล้ว ทั้งที่ผลคะแนนบ่งบอกว่าผู้สมัครคนนี้มีประชาชนในเขตลงคะแนนให้แค่ ๒๐-๓๐% แต่ประชาชนอีก ๗๐-๘๐% ไม่ได้ต้องการให้ผู้สมัครคนนี้เป็นผู้แทนของตนเลย วิธีการนี้เดิมทีเคยถูกเสนอโดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ แต่กลับถูกตีตกโดยพระยามโนปกรณนิติธาดา และประเทศไทยก็ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้วิธีนี้อีกเลย ทั้งๆที่วิธีนี้นับว่าเป็นธรรมมากที่สุดและเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน เพราะ ผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งได้คะแนนเกิน ๕๐% ของผู้มาใช้สิทธิ ถือเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกจากประชาชนเสียงข้างมากในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่ ผู้แทนเสียงข้างน้อย แต่ไปกินรวบรวมเป็น เสียงข้างมาก ในสภาแล้วกุมอำนาจการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านๆมา จนก่อให้การเมืองเกิดความขัดแย้ง ความไม่สมดุล และความสกปรกโสมม และที่สำคัญที่สุดก็คือ วิธีนี้ยังสามารถป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงได้อีกด้วย เพราะทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น ผู้สมัครที่ตั้งใจจะทุจริตก็ต้องซื้อมากกว่าหนึ่งรอบ โอกาสในการถูกล่อซื้อและถูกจับได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้สมัครที่ตัดสินใจซื้อเสียงต้องคิดหนักมาก และอาจเปลี่ยนใจล้มเลิกการทุจริตได้ โดยควรใช้มาตรการนี้ในการเลือกตั้งทุกระดับทั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น และวิธีนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด Winner Takes All แบบเดิมๆ แล้วยังทำให้เกิดการจับกุม และตัดสิทธิผู้สมัครที่ซื้อเสียงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การเลือกตั้งเกิดความสุจริตเที่ยงธรรมด้วย
4.รูปแบบของสมาชิกวุฒิสภา ส.ว.ถือเป็นตัวแทนของประชาชน ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน ดังนั้น การที่จะให้ ส.ว.มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น จะเป็นการลดความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ว.กับประชาชน เป็นการเพิ่มอัตตาให้กับ ส.ว.และทำให้ ส.ว.หลงระเริงได้ และเป็นไปได้ที่ ส.ว.เหล่านั้นอาจจะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่สรรหาพวกเขามาดำรงตำแหน่งมากกว่าปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องไม่ใช้รูปแบบการเลือกตั้งเหมือนกันกับ ส.ส. คือ ไม่ใช้สัดส่วนประชากรตามพื้นที่ (รูปแบบสัดส่วนอาชีพของคุณอานิก อัมระนันทร์ก็มีความน่าสนใจ) และไม่ควรมีจำนวนมากถึง 200 คน มีจำนวน 100-150 คนก็เพียงพอแล้ว
5.วันเลือกตั้งและการนับคะแนน การกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเกิดปัญหาใดๆ จนทำให้จัดการเลือกตั้งวันเดียวกันไม่ได้ ก็ไม่ควรถือว่า "การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะ" ส่วนประเด็นที่บังคับให้ต้องจัดการเลือกตั้งให้ครบทุกเขต แล้วจึงประกาศผลคะแนนพร้อมกันได้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สมเหตุสมผล เพราะหากเกิดวิกฤตที่ทำให้เขตใดไม่สามารถจัดการเลือกตั้งหรือประกาศผลได้ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงถึงการประกาศผลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ประเทศประชาธิปไตยตะวันออกอย่างประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซียก็มีการจัดวันเลือกตั้งมากกว่า 1 วัน ดังนั้น ในประเด็นนี้ควรจะมีการอะลุ่มอล่วยและยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
องค์กรอิสระ
การสรรหาหรือการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบทางการเมืองอื่นๆ เช่น ปปช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ คณะกรรมการที่สรรหาจำเป็นจะต้องมีความหลากหลายและยึดโยงกับภาคประชาชนให้มากที่สุด ในคณะหนึ่งควรมีจำนวนมากกว่า 10 คนขึ้นไป และเมื่อการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องมีบทบัญญัติให้สามารถคัดค้านผลการสรรหาได้ หากพบว่า ผู้ผ่านการสรรหามีการทุจริตหรือไม่มีความเหมาะสมในประเด็นใด และระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะต้องได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มข้นเฉกเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆด้วย ทั้งนี้ เพื่อทำให้ได้องค์กรอิสระที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง และป้องกันมิให้องค์กรเหล่านี้มีอำนาจล้นฟ้า สามารถกระทำอะไรก็ได้โดยปราศจากหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และความต้องการของประชาชน
ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งนั้น 9 ปีนั้นถือว่า ยาวนานเกินไป เป็นการผูกขาดอำนาจชัดเจน ประเทศไทยมิได้เป็นประเทศที่ขาดแคลนคนดี จึงสมควรกำหนดให้เป็นได้วาระเดียว วาระละ 6 ปี ซึ่งถือว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่สั้นหรือยาวนานจนเกินไป
การเปิดเผยและแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
กำหนดให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เรื่อยไปจนถึง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า (เพราะเป็นตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535) จะต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เป็นการ ปฏิรูปความโปร่งใส ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายในบ้านเมือง การทุจริตคอร์รัปชันจะได้หมดไปเสียที และเมื่อมีการเปิดเผยทรัพย์สินแล้วก็จะต้องมีการ ตรวจสอบทรัพย์สิน ด้วยว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นซื้อหามาอย่างถูกต้องชอบธรรมด้วยเงินที่ผ่านการเสียภาษีอย่างถูกต้องมาแล้วหรือไม่ เหมือนกับกฎหมายในสิงคโปร์ จนสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสอันดับต้นๆของโลก แตกต่างจากกฎหมายเก่าของไทยที่ให้ข้าราชการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการเปิดเผยและตรวจสอบทรัพย์สิน เรียกได้ว่า แค่เปิดโชว์ไว้ดูเล่นๆกันเองก็ไม่ผิด การแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงไม่ได้ช่วยให้เกิดความโปร่งใสหรือป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ป.ป.ช.จะต้องมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ต้องรอให้มีคนมาร้องเรียนก่อนแล้วจึงค่อยแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการไปตรวจสอบ ขณะที่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนของ ป.ป.ช.นั้นก็ต้องยื่นเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน เพื่อความโปร่งใสของตัวเอง เพราะผู้ใช้กฎหมายจะละเมิดกฎหมายซะเองไม่ได้ ส่วนองค์กรอื่นที่มาตรวจสอบอาจให้รัฐสภาหรือองค์กรอื่นทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ ถือได้ว่า เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดก็ตามที่ปรากฏว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมิอาจบังคับใช้ได้ สาเหตุสำคัญของการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาก็เป็นเพราะว่า บ้านเมืองไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆได้ จะทำการใดก็ปรากฏว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปเสียหมด ครั้นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาก็ไม่สามารถกระทำได้อีก จนสุดท้าย คสช.จึงจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา
ทุกวันนี้ โลกของเราผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็วมาก มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เทคโนโลยีอย่าง Facebook iPad iPhone หรือการเชื่อมโลกทั้งใบด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน กฎหมายที่เพิ่งบังคับใช้ในวันนี้ เมื่อถึงวันพรุ่งนี้ก็อาจล้าสมัยไปแล้วก็ได้ เราจึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ยาก มิฉะนั้นมันจะกลายเป็นหลุมพรางของประเทศไทยในอนาคต ก่อให้เกิดวิกฤติ จนสุดท้ายแล้วก็ต้องพึ่งพาการรัฐประหารซ้ำอีกแบบไม่จบไม่สิ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้แก้ไขได้ไม่ง่ายจนเกินไปด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะถูกบรรดานักการเมืองแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ ที่มีเพียงแค่ 48 มาตราเท่านั้น และเพิ่งประกาศใช้มาไม่ถึงขวบปี ก็ยังต้องได้รับการแก้ไข และตามสถานการณ์ในขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่า อาจจะต้องมีการแก้ไขอีกเป็นรอบที่ 2
แต่ทว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช.นั้น กลับได้กำหนดให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมากๆ เราจึงขอเสนอแนะวิธีการใหม่ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ไม่ยากหรือไม่ง่ายจนเกินไป กระบวนการตั้งอยู่ในทางสายกลาง ไม่สามารถแก้ไขมาตราใดๆได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ไขเพื่อนำพาให้ประเทศเดินออกจากวิกฤติได้อย่างทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการรัฐประหาร ดังนี้
การออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะต้องไม่น้อยกว่า สามในสี่ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เพราะแสดงให้เห็นว่า การแก้ไขนั้นสมควรกระทำอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครคนใดสามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากส.ส.และส.ว.ได้ถึง สามในสี่ นอกเสียจากว่า ทุกๆฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่า รัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขจริง และหากการแก้ไขนั้นมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงสามในสี่แต่มีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติ ในกรณีที่พลเมืองผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าพลเมืองผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันว่า ร่างแก้ไขนั้นสามารถบังคับใช้ได้ เพราะถึงแม้ว่า ร่างแก้ไขจะมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่ถึงสามในสี่ แต่หากมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง แสดงว่า ทุกๆฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่มาก ครั้นจะให้ร่างแก้ไขตกไปซะทีเดียวเลยก็จะไม่เป็นธรรมต่อสมาชิกรัฐสภาที่ได้ลงมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง และสมาชิกรัฐสภาก็ถือว่า เป็นตัวแทนประชาชนจึงสมควรที่จะนำร่างแก้ไขนี้ไปให้ประชาชนลงมติตัดสินว่า เห็นชอบหรือไม่ หากประชาชนลงมติเห็นชอบก็ถือว่า ร่างแก้ไขนี้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ แต่หากประชาชนไม่เห็นชอบก็ถือเป็นข้อยุติว่า ร่างแก้ไขนั้นจะต้องตกไป
สุดท้ายนี้ เราขอเป็นกำลังใจให้ อ.มีชัย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทุกท่าน ในการปฏิบัติภารกิจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ขอบพระคุณครับ |