การขอจัดการมรดกที่มีข้อคัดค้าน กราบสวัสดีอาจารย์มีชัยที่เคารพ
ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอยากจะเรียนถามอาจารย์
บิดาผมถึงแก่กรรม ทิ้งภาระหนี้สินจำนวนหนึ่งไว้ให้ คุณแม่ผมซึ่งเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมายจึงได้ร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อที่จะได้ขายสินทรัพย์บางส่วนชำระหนี้สินของบิดา โดยได้รับความยินยอมจากผมและน้องต่างมารดาทั้งสองคน(ทั้งสองคนก็ต่างมารดากัน โดยทั้งคู่มิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่บิดาให้ใช้นามสกุล ส่งเสียให้เรียน) โดยคุณแม่ได้จัดทำผังทายาทอย่างและหนังสือยิมยอมจากทายาทอย่างถูกต้องทุกคน
ต่อมามารดาน้องสาวคนเล็กใช้สิทธิปกครองบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์เข้ามาขอค้าน จะขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย โดยมารดาน้องสาวคนนี้มิได้มีส่วนได้เสียในกองมรดกเลย
นัดไต่สวนคำร้อง คุณแม่ผมขอเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวและไม่ยินยอมให้ มารดาน้องคนเล็กเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย แต่มารดาน้องคนเล็กผู้ค้านยินยอมให้คุณแม่ผมเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย รอฟังคำสั่งศาลในอีก 1 เดือนข้างหน้า
1.ทนายท่านหนึ่งบอกว่ารูปการณ์เช่นนี้ศาลมักจะแต่งตั้งทั้งคู่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเป็นความจริงหรือไม่
2.หากข้อ 1 เป็นเรื่องจริง หนังสือยินยอมจากทายาททั้งหมดไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ เพราะเพียงแค่ผู้ค้านมีสิทธิค้านและไม่มีพฤติกรรมต้องห้ามก็ได้สิทธิเป็นผู้จัดการมรดกทันที
3.หากมีการถูกฟ้องยึดทรัพย์บางส่วนขายทอดตลาด ซึ่งทรัพย์นั้นเป็นสินสมรสของคุณแม่ผม คุณแม่จะได้ส่วนแบ่งสินสมรสมาก่อนที่จะหักหนี้ หรือว่ามูลค่าของทรัพย์นั้นจะถูกหักหนี้ทั้งหมดเลย |