กราบเรียนอาจารย์มีชัย
เรื่องมีอยู่ว่า ข้าพเจ้า ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงหนึ่ง (อยู่ระหว่างทดลอง) และตรวจพบว่ามีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา เมื่อปี พ.ศ.2542 โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตมีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 หนัก 0.09 กรัม ไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และศาลได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (เหตุเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2542)
ขอเรียนถามว่า
1. ข้าพเจ้าจะถือว่าผิดในข้อไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีหรือไม่
2. ระยะเวลาการกระทำผิด ก้อผ่านมาถึง 18 ปี จากปี 2542 ไม่เคยมีประวัติหรือถูกดำเนินคดีใดๆ เลย และก่อนหน้าที่จะบรรจุเข้ารับราชการปี 2559 ยังคงเป็นลูกจ้าง-พนักงานราชการ ในหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 - 2559 มาโดยตลอด
3. และถ้าผลการวินิจฉัยว่าข้าพเจ้าเป็นผู้บกพร่องจริง ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างจากบางหน่วยงาน จากตัวอย่างต่อไปนี้ มาใช้แก้ต่างได้หรือไม่ (เนื่องจากพฤติการณ์คล้ายกัน) ***ตัวอย่าง โดยเรื่องมีอยู่ว่า นายแสน (นามสมมุติ) ซึ่งได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย พบว่ามีประวัติเคยถูกดำเนินคดีอาญา โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหามียาบ้าไว้ในความครอบครอง จำนวน 5 เม็ด และศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน กำหนด 1 ปี ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่า นายแสนยังไม่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงยังไม่ขาดคุณสมบัติสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 30(10) แต่มีปัญหาว่าจะขาดคุณสมบัติ ในกรณีไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หรือไม่ จึงได้ขอหารือมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. เรื่องดังกล่าว ก.ค.ศ. โดย อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาว่า นายแสนมีความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และลงโทษตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ถือได้ว่า ศาลได้วินิจฉัยว่า นายแสนเป็นเพียงผู้เสพเท่านั้น มิใช่เป็นผู้จำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เนื่องจากกรณีที่จะถือว่าเป็นผู้จำหน่ายนั้น จะต้องมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป แต่ในกรณีนายแสนมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง จำนวน 5 เม็ด ศาลได้พิเคราะห์แล้วว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม เมื่อนายแสนเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/ ว 208 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2546 ให้ถือว่าไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 รวมทั้งใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งได้ออกให้นายแสนที่ได้เคยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าไม่พบสารเสพติด มีสุขภาพแข็งแรงดี อันเป็นการแสดงว่าได้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพจนร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว นายแสนจึงไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 30(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ที่หยิบยกมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมได้ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิด แต่หากไม่กระทำผิดเลยจะดีกว่า เพราะหากเราต้องเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ก็ต้องเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี จะได้ปฏิบัติงานด้วยความสุข มีความเจริญในหน้าที่การงานสืบไป ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
คนที่จะวินิจฉัยว่าบกพร่องในศีลธรรมอันดีหรือไม่ คือ หน่วยงานที่เขา
จะรับคุณเข้าทำงาน จึงตอบแทนเขาไม่ได้ แต่คุณก็มีสิทธิที่จะนำตัวอย่างที่ยกมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้