ตายแล้วไปไหน" แม้จะน่าสนใจ แต่ไม่มีใครตอบได้
ตายแล้วทรัพย์สินไปไหน แม้จะไม่สนใจ (เพราะบางคนอาจถือว่าเมื่อตายแล้วก็แล้วกันทรัพย์สินจะไปไหนก็ไม่ใช่เรื่องของตัวอีกต่อไป หรือบางคนไม่สนใจเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรที่จะให้ต้องเป็นห่วง ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว) แต่ก็น่าจะรู้ไว้ เพราะประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่เพียงจะได้ใช้สำหรับเตรียมการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเอง แต่ยังจะเป็นประโยชน์ที่จะได้ติดตามดูว่าเมื่อคนอื่นตายไปแล้ว เราจะมีส่วนในทรัพย์สินหรือมรดกของคนอื่นนั้นได้ในกรณีใดบ้าง เพราะใครจะไปรู้ จู่ ๆ มรดกเจ้าคุณปู่อาจจะตกมาถึงเราบ้างก็ได้
๑. กองมรดก คืออะไร
กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย
นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วย เช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก ๘ ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามบรรดาสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตายตามตัวผู้ตายไปด้วยไม่ตกทอดไปถึงทายาท เช่นทำสัญญาว่าจะไปเล่นลิเกให้ชมในอีกสิบวันข้างหน้า หรือไปตกลงรับจ้างวาดรูปไว้ แล้วเกิดตายเสียก่อนเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะมากะเกณฑ์ให้ทายาทต้องไปเล่นลิเกแทนผู้ตายย่อมไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้ตายไปรับเงินค่าตัวเขามาก่อนแล้ว ก็กลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง
เมื่อกฎหมายกำหนดว่ากองมรดกนั้นประกอบไปด้วยทั้งทรัพย์สินและหน้าที่และความรับผิดด้วยเช่นนี้ มิกลายเป็นว่าถ้ากองมรดกมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ทายาทที่จะรับมรดกไปมิต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วยหรือ เรื่องนี้กฎหมายมิได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดนั้น เพราะได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน เรียกว่าอย่างแย่ที่สุดก็เพียงเสมอตัว คือไม่ได้อะไรเลย
ที่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย
เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว
การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา มิได้หมายความว่าคู่สมรสดังกล่าวได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง เช่น เมื่อสามีตาย มีเงินอยู่ในบัญชีของสามี ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนั้นได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ใช่เป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีตาย เงิน ๑๐๐ ล้านจะถูกแบ่งระหว่างสามีและภริยาคนละ ๕๐ ล้าน ส่วนของสามี ๕๐ ล้านจะตกเป็นทรัพย์มรดก นำมาแบ่งกันในระหว่างผู้เป็นทายาท ซึ่งแม้ภริยาจะไม่ได้เป็นทายาท แต่ก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับทายาท เช่น ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และมีลูก ๔ คน เงิน ๕๐ ล้านนั้นจะแบ่งระหว่างภริยาและลูก ๆ คนละ ๑๐ ล้าน ตกลงภริยาจะได้เงิน ๖๐ ล้าน (คือ ๕๐ ล้านในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของตนที่แยกออกมา และอีก ๑๐ ล้านในฐานะที่เป็นมรดก) และลูก ๆ ได้คนละ ๑๐ ล้าน
ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบทย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป
๒. ใครบ้างมีสิทธิได้รับมรดก
คนที่จะมีสิทธิได้รับมรดกแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม อันได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ประเภทหนึ่ง และ ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม อีกประเภทหนึ่ง
ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร ผู้รับพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้น และถ้าทำพินัยกรรมยกมรดกให้ใครหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม
แต่ทายาทโดยธรรมอาจเป็นผู้รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมด้วยก็ได้ เช่น พ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ลูก ๆ จนหมด ในกรณีนั้นลูก ๆ จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรม ส่วนในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าบังเอิญมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะตกได้แก่ลูก ๆ ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย
คุณสมบัติเบื้องต้นของคนธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) ที่จะมีสิทธิได้รับมรดก ได้แก่ คนที่มีสภาพบุคคลแล้วในเวลาที่เจ้ามรดกตาย ซึ่งกฎหมายอธิบายว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ถ้าคลอดออกมาแล้วตายทันที ก็ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล แล้วเลยพลอยไม่มีสิทธิได้รับมรดกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาในเวลาที่เจ้ามรดกตาย หากภายหลังเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจึงคลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารก กฎหมายถือว่าทารกนั้นมีสิทธิที่จะได้รับมรดกได้ แต่ต้องเกิดมาภายใน ๓๑๐ วันนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย ถ้าเกิดภายหลังจากนั้น คงยากที่จะถือได้ว่าเป็นทายาทของผู้ตาย ส่วนจะเป็นทายาทหรือลูกของใคร ไม่ใช่เรื่องที่บทความนี้จะวิจารณ์ให้สะเทือนใจเจ้ามรดก
ทายาทโดยธรรมนั้น กฎหมายแบ่งออกเป็น ๖ ลำดับ มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
ใครก็ตามที่เป็นทายาทและบวชเป็นพระภิกษุ จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ จะต้องสึกออกมาจากสมณเพศเสียก่อนจึงจะเรียกร้องเอาได้ เว้นแต่จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ท่าน ท่านอาจเรียกร้องเอาได้แม้ว่าจะยังอยู่ในสมณเพศ
๓. สิทธิการรับมรดกในระหว่างทายาทโดยธรรมด้วยกันเองและคู่สมรส
(๑) ถ้ามีทายาทลำดับ (๑) คือผู้สืบสันดานแล้ว ทายาทในลำดับอื่น ๆ หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ยกเว้นทายาทลำดับ (๒) และคู่สมรสแล้ว ซึ่งต่างจะมีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง เช่น ผู้ตาย มีภริยา ๑ คน มีลูก ๒ คน (สมมุติให้ชื่อเพชร กับ ทอง จะได้สะดวกในการอ้างถึงในภายหลัง) มีบิดา และมารดา ในกรณีนี้มรดกจะแบ่งกันระหว่าง ภริยาลูกและบิดามารดาคนละเท่า ๆ กัน คือแต่ละคนได้รับหนึ่งในห้า
ในระหว่างทายาทที่เป็นผู้สืบสันดาน (ทายาทลำดับ(๑)) ด้วยกัน คนที่เป็นลูกของเจ้ามรดกเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับมรดก ส่วนบรรดาหลาน เหลน หรือลื้อ จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกโดยตรง แต่ถ้าลูกคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก และลูกคนนั้นมีลูก หรือมีหลาน (ซึ่งจะเป็นหลานหรือเหลนของเจ้ามรดก) ลูกหรือหลานเหล่านั้นก็จะรับมรดกแทนที่พ่อของตน เช่นในกรณีตัวอย่างข้างต้น ปรากฏว่าเพชร ตายก่อนพ่อซึ่งเป็นเจ้ามรดก ถ้าเพชรไม่มีลูกหรือหลาน มรดกก็จะตกได้แก่ทอง ภริยาของเจ้ามรดก บิดา มารดา ในกรณีนี้ ทองจึงมีสิทธิได้รับมรดก ๑ ใน ๔ แต่ถ้าเพชรมีลูกหรือมีหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหรือหลานของเพชรก็จะเข้ามารับมรดกแทนที่เพชร (ซึ่งเรียกว่าผู้รับมรดกแทนที่) ในกรณีนี้ มรดกจึงยังคงต้องแบ่งเป็น ๕ ส่วน อย่างเดิม ส่วนที่เป็นของเพชรนั้น ลูก ๆ ของเพชรก็นำไปแบ่งกันเอง ถ้าเพชรมีลูก ๓ คน ลูก ๓ คนก็จะได้มรดกไป ๑ ส่วน แล้วนำหนึ่งส่วนนั้นไปแบ่งในระหว่างกันเอง ต่างคนต่างจะได้ ๑ ใน ๓ ของมรดกที่ได้รับมา (เช่น มีมรดกมีมูลค่า ๕ ล้านบาท ในส่วนของเพชรจะได้มา ๑ ล้านบาท ลูก ๆ ของเพชรจะได้คนละ ๓ แสนกว่าบาท) ถ้าลูกของเพชรคนหนึ่งคนใดตาย แต่มีลูก (หลานของเพชร) ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนที่เป็นของลูกของเพชรที่ตายไปนั้นก็จะตกไปยังหลานของเพชร และเป็นเช่นนี้จนกว่าแต่ละสายจะสิ้นสุดลง
(๒) ถ้าผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและผู้สืบสันดานไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ แต่มีบิดามารดา มรดกย่อมตกไปยังคู่สมรสกึ่งหนึ่งและตกเป็นของบิดามารดาอีกกึ่งหนึ่ง โดยทายาทลำดับถัด ๆ ไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่ถ้าบิดามารดาตายไปก่อน ก็เป็นอันจบกันไป จะมีการรับมรดกแทนที่บิดามารดาไม่ได้ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ ๓ ต่อไป
(๓) สำหรับทายาทลำดับ (๓) คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ในกรณีนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกไปกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีกี่คนก็แบ่งไปเท่า ๆ กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก ถ้ามีลูกหลาน ลูกหลานก็เข้ามารับมรดกแทนที่กันต่อ ๆ ไปจนสุดสาย
(๔) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๓) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ (๔) คือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน การแบ่งมรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือจึงจะตกได้แก่ทายาทลำดับ (๔) ซึ่งต้องไปแบ่งกันเองคนละเท่า ๆ กัน และก็เช่นเดียวกับทายาทลำดับ (๓) คือ ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อ ๆ ไปจนสุดสาย
(๕) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๔) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๕) คือ ปู่ย่าตายาย ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน ส่วนที่เหลือจึงจะนำไปแบ่งกันในระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าใครตายก่อนก็เป็นอันหมดสิทธิไป เพราะจะไม่มีการรับมรดกแทนที่เหมือนทายาทลำดับอื่น ๆ
(๖) ถ้าไม่มีปู่ย่าตายาย มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๖) คือ ลุง ป้า น้า อา ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งปันกันกับลุง ป้า น้า อา ถ้าใครตายไปก่อนมรดกของคนนั้นก็จะตกทอดไปสู่ทายาทของคนนั้นอันเป็นการรับมรดกแทนที่
(๗) ถ้าไม่มีทายาททั้ง ๖ ลำดับและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลืออยู่เลย คงเหลือแต่คู่สมรสคนเดียว มรดกทั้งหมดจะตกได้แก่คู่สมรส
(๘) ถ้าใครสิ้นไร้ไม้ตอกเสียจนแม้แต่คู่สมรสก็ไม่มี ทายาทก็ไม่มีสักลำดับเดียว ทั้งยังมิได้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย มรดกย่อมตกได้แก่แผ่นดิน
๔. การถูกตัดออกจากกองมรดก
การที่ทายาทโดยธรรมจะถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดก อาจมีได้ ๓ กรณี คือ
(๑) ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นจะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย แต่ถ้ายักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้ ทายาทที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทายาทที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ถ้าฟ้องแล้วปรากฏว่าเจ้ามรดกมีความผิดจริง หรือถึงแม้ไม่ผิดจริงแต่มิใช่เพราะเหตุตนนำความเท็จหรือพยานเท็จมาสู่ศาล ทายาทผู้นั้นก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกตามปกติ ทายาทที่รู้อยู่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำความขึ้นร้องเรียนเพื่อที่จะเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ เว้นแต่ทายาทนั้นอายุยังไม่ครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน ทายาทที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้ทำการดังกล่าว ทายาทที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
ทายาทที่ถูกกำจัดมรดกดังกล่าวข้างต้นนั้น กฎหมายถือเสมือนหนึ่งว่าทายาทคนนั้นตายไปแล้ว ดังนั้นถ้าทายาทคนนั้นมีทายาทรับช่วงต่อ ทายาทที่รับช่วงต่อย่อมสามารถรับมรดกแทนที่ได้ และในกรณีที่ถูกกำจัดตามข้อ (ข) ถึง (ฉ) ถ้าเจ้ามรดกให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถรับมรดกได้ตามปกติ
(๒) การถูกตัดมิให้รับมรดก เจ้ามรดกอาจตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
ด้วยการแสดงเจตนาไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งอาจทำได้ ๒ วิธี คือ ๑ แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรม
๒ ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้คนอื่นจนหมด ทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นย่อมถือว่าถูกตัดมิให้รับมรดก
(๓) การสละมรดก ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก อาจไม่ประสงค์จะรับมรดกดังกล่าวก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกไว้ให้ชัดแจ้ง หรือจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้ แต่การสละมรดกนั้นจะสละเพียงบางส่วน หรือสละโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมรดกจะทำก่อนที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ แต่เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจะสละมรดกเมื่อไรก็ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
การสละมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อได้สละมรดกแล้วทรัพย์สินส่วนที่สละไปย่อมตกไปเป็นของผู้สืบสันดานของคนสละมรดก
๕. การทำพินัยกรรม
เมื่อตายแล้ว ทรัพย์สินและหนี้สินทั้งปวงย่อมตกไปยังทายาทโดยธรรมตามลำดับดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าผู้ใดไม่ต้องการให้ทรัพย์สินของตนตกไปยังทายาทดังกล่าวก็ดี หรือไม่ต้องการให้ตกไปตามสัดส่วนที่ได้ว่ามาแล้วก็ดี ก็สามารถกำหนดให้ตกไปยังบุคคล หรือตามสัดส่วนที่ต้องการได้ ด้วยวิธีการทำพินัยกรรมไว้ก่อนที่ตนจะตาย
ลักษณะของพินัยกรรมจะต้องเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายว่าเมื่อตนตายไปแล้วจะให้จัดการทรัพย์สินของตนเองหรือในเรื่องอื่นอย่างไร และเมื่อได้สั่งการไว้แล้ว จะเปลี่ยนแปลงในภายหลังอย่างไรก็ได้ โดยถือเอาพินัยกรรมฉบับสุดท้ายเป็นหลัก
ในขณะที่ทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องมีอายุครบสิบห้าปีแล้ว และมีสติรู้ตัวว่าตนกำลังทำอะไร และต้องการอย่างไร ส่วนเมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว จะหมดสติ หรือไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นไร
คนที่เป็นพยานในพินัยกรรม หรือผู้เขียนพินัยกรรม จะเป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้
(๑) วิธีทำพินัยกรรม
การทำพินัยกรรม อาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
๑. ทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน โดยพยานทั้งสองคนจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
๒. พินัยกรรมเขียนเอง โดยผู้ทำพินัยกรรมทำเป็นเอกสารเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ แล้วลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม
๓. พินัยกรรมอันเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งจะต้องทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมแก่นายอำเภอ ต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน นายอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้นั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อเห็นว่าข้อความถูกต้องแล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อและ วัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องแล้ว และประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
๔. ทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับ ซึ่งต้องทำด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ผนึกพินัยกรรมแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น นำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดดังกล่าวว่าเป็นพินัยกรรมของตน ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เขียนเองโดยตลอด ต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำ และวันเดือนปีที่นำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยาน ลงลายมือชื่อบนซองนั้น
๕. พินัยกรรมทำด้วยวาจา โดยปกติพินัยกรรมจะทำด้วยวาจาไม่ได้ เว้นแต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษที่ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นได้ เช่นตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม การทำพินัยกรรมด้วยวาจาจะต้องปฏิบัติดังนี้
ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย ให้นายอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ ถ้าพยานไม่รู้หนังสือลงลายมือชื่อไม่ได้ ก็ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานอีกสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้ตายและอยู่ในฐานะที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ พินัยกรรมด้วยวาจานั้นเป็นอันสิ้นผลเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่กลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้
๖. พินัยกรรมทำในต่างประเทศ ถ้าคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ จะทำตามแบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ก็ได้ |