ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    เรื่องสั้น

    ความ (ใฝ่) ฝันของพ่อบุญน้อย ตอนที่ ๕ พ่อบุญน้อยแก้ข้อบังคับการประชุม

    หลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แล้ว ผมเฝ้ารอ ๆ ว่าเมื่อไรเขาจะเรียกประชุมสภา เพื่อผมจะได้เห็นหน้าเห็นตานายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ ๆ แทนที่จะต้องคอยดูอยู่ตามข่าวทีวี หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่จะเป็นด้วยท่านประธานของผมท่านไม่ว่าง หรือท่านมัวแต่ไปยุ่งอยู่กับการแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือท่านปวดท้อง ปวดหลัง เลยไม่นัดประชุม ทั้ง ๆ ที่ผมเห็นว่า การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะสำเร็จหรือไม่ จะมียี้กี่ยี้ หรือมุ้งเล็กมุ้งใหญ่จะพัลวันพัลเกกันอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของสภาผู้แทนที่จะต้องมัวไปนั่งห่วงใย งานของเรายังมีที่จะต้องทำอีกมากมาย แต่นั่นแหละครับ เมื่อผมตัวคนเดียว จะบ่นหรืออยากไปประชุมอย่างไร เมื่อประธานท่านไม่เรียกประชุมผมเลยไปประชุมไม่ได้


    ผมนั่งรออยู่ที่บ้านเผื่อจะได้ข่าวการนัดประชุม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีข่าวออกมา ผมเกือบจะขึ้นเครื่องบินมาสอบถามที่สภาแล้ว แต่ฉุกใจคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าผมนั่งเครื่องบินไปกรุงเทพ หลวงท่านจะต้องจ่ายค่าเครื่องบินให้ทั้งขาไปและขากลับ และเมื่อไปถึงกรุงเทพแล้วไม่ได้ความอะไร จะเป็นการเสียเงินเปล่า ๆ แม้จะไม่ใช่เงินของผม แต่ผมก็ไม่ควรทำอะไรให้หลวงท่านต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ เงินเหล่านั้นล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งนั้น มีทางใดช่วยประหยัดได้ ผมจึงควรประหยัดให้เป็นตัวอย่าง ยิ่งมีข่าวว่ามีสมาชิกบางคนขึ้นเครื่องบินวันละหลาย ๆ เที่ยว คงจะทำให้สิ้นเปลืองไม่น้อย เมื่อสมาชิกท่านอื่น ๆ มีธุระและหลวงต้องเสียเงินมากอยู่แล้ว ผมไม่มีธุระอะไรสำคัญจึงควรประหยัดให้หลวงบ้างเป็นการชดเชย


    เมื่อไม่มีอะไรจะทำ ผมจึงออกไปช่วยแม่บ้านผมขายผลไม้อย่างที่เคยทำมาก่อน จะได้ถือโอกาสพบปะประชาชนของผม ไถ่ถามสุขทุกข์ไปตามประสาของผู้แทน เผื่อใครมีความเดือดร้อนอย่างไรจะได้นำไปคิดอ่านแก้ไขได้ แต่การไปขายผลไม้ของผมภายหลังจากที่ผมเป็นผู้แทนแล้ว ผมสังเกตเห็นว่าขายดียิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นใจและพากันมาอุดหนุนมากขึ้น ดูท่าทางเขาดีอกดีใจที่ได้เห็นผู้แทนของเขายังคงเส้นคงวา ผมเองพลอยสนุกไปด้วย เพราะจะร้องลิเก หรือลด แลก แจก แถม อย่างไร ก็ไม่มี กกต.มาคอยจ้องจับผิด แม้จะมีผู้สมัครที่สอบตกหลายคนมองผมด้วยสายตาเหยียดหยามเต็มทน ทำนองว่าผมไม่รู้จักรักษาเกียรติศักดิ์ของผู้แทนราษฎร แต่ผมตัดใจเสียแล้วว่า การเป็นผู้แทนราษฎรของผม ไม่ควรทำให้ผมต้องกลายเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งที่อยู่สูงกว่าชาวบ้านทั่วไป จนถึงกับไปทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้ ในเมื่อการขายผลไม้ของผมเป็นอาชีพสุจริต และเป็นโอกาสให้ผมได้พบปะประชาชนอย่างเป็นกันเองมากขึ้น จึงไม่มีเหตุอะไรให้ผมต้องเลิกอาชีพเดิมของผม ข้อสำคัญผมรับรู้ด้วยใจว่าตราบเท่าที่ผมมีน้ำใสใจจริงต่อชาวบ้าน ๆ จะมองผมด้วยสายตาที่ชื่นชมและไว้วางใจ แทนที่จะมองด้วยสายตาหวาด ๆ หรือมองไปในลักษณะว่าไม่ใช่พวกเดียวกันอีกต่อไป ในเมื่อคำว่า “ผู้แทน” มีความหมายอยู่ในตัวว่า ผมต้องเป็นอย่างเดียวกับชาวบ้าน มิฉะนั้นผมจะเป็นผู้แทนของเขาได้อย่างไร สิ่งเดียวที่ผมจะต้องทำให้แตกต่างไป ก็คือ ใช้สติปัญญาทำงานเพื่อประโยชน์ หรือแก้ไขปัญหาของชาวบ้านของผม ไม่ใช่ไปแสวงหาประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง


    ผมจะมีปัญหาในการขายผลไม้อยู่บ้าง ก็ตรงที่เมียผมมักจะทำตาเขียวเข้าใส่ ในเวลาที่ผมแถมผลไม้ให้กับชาวบ้าน คนละเล็กละน้อย เป็นการตอบแทนบุญคุณของกันและกัน แต่เมียผมเขาหาว่าขืนลด แลก แจก แถม แบบนี้ อีกหน่อยจะหมดตัวแล้วจะพาลแถมลูกเมียไปด้วย ถ้าจะแจกหรือแถมจริง ๆ ก็ควรรอให้ของเหลือ หรือผลไม้ใกล้จะเสียเสียก่อน ซึ่งผมก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย (ความจริงผมเถียงอยู่ในใจเหมือนกันแหละว่า เมียผมหวั่นเกรงเกินกว่าเหตุ เพราะถึงหากว่าผมจะแถมเมียให้ใครจริง ๆ ก็คงไม่มีใครเขารับ) ผมมีเหตุผลของผมว่าแม้การลดแลกแจกแถมจะทำให้กำไรลดลงไปบ้าง แต่บัดนี้ผมมีเงินเดือนของผู้แทน เดือนละตั้งเจ็ดหมื่นกว่าบาทรองรังอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกลัวว่าครอบครัวจะเดือดร้อนอีกต่อไป


    ผมสนุกอยู่กับการพบปะชาวบ้านและขายผลไม้ได้ไม่กี่วัน การแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งหลายก็เป็นอันแล้วเสร็จ ประธานสภาจึงนัดให้มีการประชุมขึ้น ผมเลยมีโอกาสได้ใส่เสื้อนอกขึ้นเครื่องบินไปประชุมที่กรุงเทพอีกครั้งหนึ่ง


    ในการประชุมคราวนี้ก็เหมือนกับคราวก่อน คือมีผู้สื่อข่าวและกล้องทีวีเต็มไปหมด ผมได้มีโอกาสแทรกตัวเข้าไปฟังเขาสัมภาษณ์กัน เพื่อจะได้คอยสังเกตว่าเวลาที่ใครต่อใครให้สัมภาษณ์นั้น จะต้องทำท่าหรือหน้าตาอย่างไร เผื่อวันหน้าผมโด่งดังขึ้นมา จะได้ทำตัวได้ถูก แต่เมื่อมอง ๆ ดูแล้ว ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เล่นไม่ยาก เพราะเท่าที่ฟัง ๆ ดู ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ก็จะบอกว่าฝ่ายรัฐบาลคิดอ่านไม่ดีหรือไม่เหมาะสม ส่วนคนที่เป็นฝ่ายรัฐบาลก็จะบอกว่านโยบายนี้เจ๋งแน่ ๆ ที่ฝ่ายค้านว่ามานั้นเพราะฝ่ายค้านใจแคบ อะไรทำนองนั้น ส่วนการทำท่าทางก็ไม่ยาก เพียงแต่คอยมองดูว่ากล้องอยู่ทางไหน คอยหันหน้าไปทางนั้น ส่วนคนถามจะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ต้องพยายามเอาหน้าโผล่ไปให้กล้องจับในมุมที่รู้สึกว่าเท่ห์หรือหล่อที่สุดเป็นใช้ได้ ถ้าเพียงเท่านี้ ผมมั่นใจว่าผมเล่นเป็น แต่มีข้อที่จะต้องกลับไปคิดอยู่บ้าง ตรงที่ว่าผมไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แล้วผมจะพูดอย่างไร จะไปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะกลายเป็นว่าผมเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง สงสัยจะต้องหาโอกาสว่าทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ จึงจะสมกับที่เป็นกลาง


    เมื่อเสียงออดดังขึ้น อันเป็นเครื่องหมายเตือนให้สมาชิกเข้าห้องประชุม ผมจึงรีบเข้าไปนั่งในที่ ๆ เขาจัดไว้ให้พรรคของผม แม้พรรคของผมจะมีคนเดียว แต่คนของพรรคอื่น ๆ ซึ่งต้องมานั่งติดกับผมทั้งซ้ายและขวาหรือด้านหลัง จึงทำให้ผมไม่ว้าเหว่นัก และเมื่อเวลาที่มีใครถ่ายภาพออกมา จะดูเหมือนว่าพรรคของผมใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะมีคนนั่งเต็มกันไปหมด โดยมีผมนั่ง (เหมือน) เป็นใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกับป้ายบอกชื่อพรรค ทำให้ผมแอบครึ้มใจไม่น้อย


    เมื่อประธานเปิดประชุมแล้ว ท่านบอกให้ทุกคนยืนขึ้นเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ผมจึงยืนตรงขึ้น และค้อมหัวน้อย ๆ ความจริงไม่มีใครสอนผมหรอก แต่ผมนึกเอาเองว่า เมื่อผมจะรับฟังพระบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัว หากผมยืนตรงจนเกินไป จะดูเหมือนขาดความเคารพเท่าที่ควร การค้อมหัวน้อย ๆ น่าจะเป็นสัญญานบอกถึงความเคารพอย่างจริงใจ ส่วนใครจะทำหรือไม่ผมไม่ได้สนใจไปชายตาดู เพราะถือว่าใครเป็นคนทำ สิริมงคลย่อมเกิดขึ้นกับคนนั้นเอง


    พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีความตอนหนึ่งว่า


    “โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแล้ว คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ต้องพ้นจากตำแหน่ง และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร


    จึงทรงพระราชดำริว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐๑ ฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”


    ผมฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ และทำให้ได้ความรู้หลายอย่าง ด้วยพระบรมราชโองการสั้น ๆ สามารถบอกถึงขบวนการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ขบวนการและขั้นตอนในการเลือกสรรนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งบอกถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อย่างสมบูรณ์ เพราะแม้ว่าจะได้มีการเลือกสรรกัน ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ใช่ว่าผู้ได้รับการเลือกสรรนั้น จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ หากแต่ยังอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะทรงไว้วางพระราชหฤทัยหรือไม่ ต่อเมื่อทรงพระราชดำริว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้สมควรได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงทรงแต่งตั้งตามพระราชอำนาจที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นเกียรติและเป็นศรี แก่ผู้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นข้อผูกมัดที่บุคคลผู้นั้น จะต้องบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ ให้สมกับที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ความในพระบรมราชโองการยังบอกด้วยว่า ความไว้วางพระราชหฤทัยนั้น เกิดจากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นำความกราบบังคมทูลถึงวิธีที่ได้บุคคลดังกล่าวมา จึงมีนัยว่าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ย่อมต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา และในฐานะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อันเป็นความสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


    เมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านพระบรมราชโองการจบแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงบอกให้ทุกคนนั่งลง แล้วท่านก็ต่อว่าสมาชิกว่า ข้อบังคับของสภาห้ามไม่ให้นำโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดเข้ามาใช้ในห้องประชุม ผมได้ยินท่านว่าอย่างนั้นแล้วค่อยคลายความหงุดหงิดลงไปได้บ้าง เพราะในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผมได้มีโอกาสมานั่งประชุมด้วย ผมรู้สึกว่าสมาชิกไม่น้อยทีเดียวที่พกพาโทรศัพท์เข้าไปใช้ในห้องประชุม มีเสียงเรียกอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าผมนั่งอยู่ในบาร์เหล้าหรือผับ (ความจริงผมเปรียบเทียบให้ดูโก้ ๆ ไปอย่างนั้นเอง เพราะเอาเข้าจริง “ผับ” เป็นอย่างไรผมยังไม่เคยเข้าไป ได้ตั้งใจว่าวันไหนเงินเดือนออกจะขอให้สมาชิกรุ่นพี่ ๆ เขาพาเข้าไปชมดูบ้าง เผื่อจะได้ความรู้ไว้ประกอบสติปัญญาในเวลาพิจารณากฎหมายได้)


    ผมเคยสงสัยว่าเขามีธุระปะปังอะไรกันนักหนา ถึงต้องติดต่อกันจนแม้แต่ในห้องประชุม


    ”อันทรงเกียรติ์” เลยแอบไปเตร่ ๆ แถวคนที่เขากำลังพูดโทรศัพท์ ว่ามีเรื่องคอขาดบาดตายเกี่ยวกับบ้านเมืองอย่างไรบ้าง จึงไม่สามารถรอจนเลิกประชุมแล้วค่อยพูดได้ จึงได้ความว่าเรื่องที่เขาพูดกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่น่าเห็นใจจริงๆ เพียงแต่เป็นความคอขาดบาดตายของคนพูด ไม่ใช่ของบ้านเมือง เช่น ภรรยาที่บ้านโทรศัพท์มาถามว่าทำไมเมื่อคืนจึงไม่กลับบ้าน หรือนัดกับหนู ๆ เพื่อชักชวนกันไปกินข้าวตอนดึก ๆ เป็นต้น ผมเองก็เป็นผู้ชายย่อมเข้าใจดีถึงความคอขาดบาดตายในเรื่องทำนองนี้ (แม้ว่าตัวผมเองจะไม่เคยมีปัญหาอย่างว่าก็ตาม) ผมเลยพลอยเข้าใจต่อไปด้วยว่า ทำไมเวลาประชุมตอนบ่าย ๆ คนเหล่านั้นจึงต้องไปนั่งกินกาแฟอยู่ข้างนอก หรือเมื่อเข้ามานั่งในห้องประชุมก็จะนั่งหลับเสียเป็นส่วนใหญ่


    แม้ผมจะนึกเห็นใจคนเหล่านั้นอยู่บ้าง แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้โทรศัพท์ในห้องประชุมสภาทั้ง ๆ ที่มีข้อบังคับห้ามไว้ ที่ผมไม่เห็นด้วยไม่ใช่เพราะผมอิจฉาคนเหล่านั้นที่มีโทรศัพท์มือถือใช้ หรือมีที่เที่ยวที่กินไม่ซ้ำกัน แต่ผมเห็นว่าคนที่จะออกกฎหมายให้คนปฏิบัตินั้น ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเสียเอง จะเหลือความน่าเชื่อถือที่ไหนให้คนเขายอมรับ


    ต่อมาประธานสภาได้ขอให้ที่ประชุมกำหนดว่าจะประชุมกันสัปดาห์ละกี่วัน จะประชุมวันไหน และประชุมตั้งแต่เวลาไหน ซึ่งแม้จะถกเถียงกันอยู่บ้างก็ตกลงกันได้ว่าให้มีการประชุมสัปดาห์ละ ๒ วัน คือวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยจะเริ่มประชุมกันตอนบ่ายเวลา ๑๓.๓๐ น. ในเรื่องเวลานี้มีปัญหากันนิดหน่อยที่มีฝ่ายหนึ่งอยากให้กำหนดเวลาไว้ให้ชัดเจนว่าจะประชุมถึงเวลาไหน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าจะเลิกกันตอนไหนก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของประธานสภา


    ฝ่ายที่เสนอให้กำหนดให้แน่นอนตายตัวว่าจะประชุมถึงเวลาไหน ให้เหตุผลว่าเผื่อสมาชิกมีธุระปะปังอะไรจะต้องทำ จะได้ไปทำได้ หรือถ้าไปทำธุระอยู่แล้ว จะได้กะเวลามาประชุมก่อนที่จะเลิกประชุมได้ ถ้าไม่บอกให้ชัดเจนแน่นอนจะไม่รู้ว่าควรกลับมาหรือไม่ ด้วยไม่รู้ว่าสภายังประชุมกันอยู่หรือไม่


    ผมฟังเหตุผลที่ว่าแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก เพราะผมนึกตามประสาคนบ้านนอกว่า หน้าที่หลักของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา คือการมาประชุมสภา มาแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชน หรือหากจะมีประชาชนมาพบปะ เขาก็คงอยากมาพบปะที่สภาอันเป็นที่ทำงาน อย่างน้อยเมื่อมาพบที่สภาแล้ว เขาจะได้ถือโอกาสเยี่ยมชมสถานที่อันทรงเกียรติ์และสวยงามไปในตัวด้วย ที่สำคัญสัปดาห์หนึ่งมีตั้ง ๗ วัน ใช้เวลาประชุมเพียง ๒ วัน วันละครึ่งวันเท่านั้น มีเวลาไปทำธุระส่วนตัวกันได้ถึง ๕ วันเต็ม ๆ และอีก ๒ ครึ่งวัน ผมนึกไม่ออกว่า คนเราจะมีธุระปะปังอะไรกันมากมาย จนถึงกับต้องเบียดบังมาใช้วันเวลาที่มีการประชุม ถ้าใครจะมานัดทำธุระอะไร ทุกคนก็ควรหลีกเลี่ยงไม่รับนัดในวันและเวลาที่มีการประชุม เพราะรู้กันอยู่ล่วงหน้าแล้วว่าวันเวลาไหนบ้างที่มีการประชุม ถ้าว่าถึงคนที่ชอบไปนวดและติดการนวดทุกวัน ก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่เปลี่ยนเวลานวดจากตอนบ่ายเป็นตอนเช้าเสียสัก ๒ วันที่มีการประชุมสภา แล้วก็อย่านวดนานนัก เอาเพียงแค่หอมปากหอมคอ พอถึงตอนเที่ยงก็ควรลุกมากินข้าวกินปลาเตรียมตัวมาประชุมสภาได้ ผมเองก็เป็นคนชอบนวดอยู่ แต่ไม่มีปัญหาอะไรนัก เพราะผมใช้เวลาตอนเสาร์อาทิตย์ที่กลับไปอยู่บ้าน เวลาเมียผมว่าง ๆ ผมก็วานเขานวดให้ เขานวดให้ผมเดี๋ยวเดียวผมก็หายเมื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะถ้าขืนผมอ้อยอิ่งไม่ยอมหาย ผมคงตกเตียงโดยไม่ทันรู้ตัว


    กว่าจะตกลงกันได้ว่า จะสมควรกำหนดเวลาปิดประชุมไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ต้องเสียเวลาไปไม่น้อย เพราะต่างคนต่างยกโวหารและเหตุผลขึ้นมาอภิปราย แต่ในที่สุดจึงลงเอยว่าควรปล่อยให้เป็นเรื่องของประธาน ที่จะปิดประชุมเมื่อไรตามที่เห็นสมควร ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะมิฉะนั้น เราจะมีประธานเอาไว้ให้นั่งง่วงนอนทำไม พูดถึงภาระหน้าที่ของประธานแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สมาชิกลุกขึ้นต่อว่าประธาน หาว่าประธานไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นทำนองว่า จะมีการแก้ไขข้อบังคับห้ามสมาชิกทั่วไปขอนับองค์ประชุม โดยจะกำหนดให้เฉพาะประธาน นายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้าน เท่านั้น ที่จะขอให้นับองค์ประชุมได้ สมาชิกท่านนั้น ท่านเห็นว่าการที่ประธานไปให้สัมภาษณ์เช่นนั้น เป็นการวางตัวไม่เป็นกลาง เป็นการชี้นำสมาชิกให้ต้องคล้อยตามความเห็นของประธาน ผมฟังแล้วก็รู้สึกแปลกใจไม่น้อยว่า ประธานพูดเพียงแค่นั้น ทำไมถึงไม่เป็นกลาง และจะชี้นำคนอื่นให้คล้อยตามได้อย่างไร ผมเห็นเวลาประชุมและมีการพูดจาอะไร ที่ประธานเห็นว่าไม่เหมาะสมและขอให้ถอนคำพูด ก็ไม่เห็นสมาชิกจะเชื่อฟังสักเท่าไร ทำไมกะอีแค่ประธานไปสัมภาษณ์เพียงแค่นั้น ถึงกับจะทำให้สมาชิกเชื่อฟังได้ง่าย ๆ แต่อย่างว่าแหละ ผมเป็นสมาชิกหน้าใหม่ ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของสภาดีว่ามีอะไรซ่อนเร้นกันอยู่หรือไม่


    ถ้าจะว่าถึงความเป็นกลางของประธาน ผมไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร มีความหมายมากน้อยเพียงไหน ถ้ามีความหมายว่าประธานพูดหรือออกความเห็นอะไรไม่ได้เลย เราจะได้ประโยชน์อะไรจากประธานบ้าง เห็นเขาพูด ๆ กันว่า ประธานคือผู้นำของสมาชิกทั้งปวง แล้วพอเกิดเหตุใด ๆ ขึ้น ประธานมัวแต่อมพะนำอยู่ สมาชิกอย่างผมจะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ถูกที่ควรควรจะเป็นอย่างไร จริงอยู่ในระหว่างที่มีการพูดจาหรืออภิปรายกันอยู่ในสภา ประธานต้องไม่ทำตัวให้เห็นว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่แม้กระนั้นเมื่อถึงคราวเกิดปัญหาขึ้น ประธานก็ต้องชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่งทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบอยู่นั่นเอง ที่ประธานต้องไม่เข้าข้างใครในเวลาประชุม ก็เพราะคำชี้ขาดของประธานต้องศักดิ์สิทธิ์ เมื่อชี้ว่าอย่างไรแล้วใครจะโต้แย้งไม่ได้ แต่ถ้าอยู่นอกที่ประชุมประธานพูดอะไร ย่อมไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น น่าจะเป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่งเหมือน ๆ กับความคิดเห็นของผม ซึ่งเป็นผู้แทนบ้านนอก เท่านั้น เมื่อสมาชิกได้ยินได้ฟังก็เพียงแต่นำไปคิด ถ้าเห็นดีเห็นงามด้วยก็นำไปปรึกษาหารือเพื่อทำให้เกิดผลขึ้น แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็นำมาถกเถียงกันได้ สำหรับเรื่องนี้แม้แต่ผมเอง ผมยังไม่เห็นด้วย และผมไม่เห็นว่าผมจะถูกประธานชี้นำหรือจะต้องคล้อยตามเลย ทำไมคนอื่นเขาถึงถูกชี้นำหรือคล้อยตามอะไรกันได้ง่าย ๆ นักก็ไม่รู้ซี ผมเป็นห่วงแต่ว่า ถ้าประธานทำอะไรในทุกที่ทุกทางจะต้องเป็นกลางไปเสียหมด ประธานคนนี้จะหมดสิทธิ์เป็นประธานตั้งแต่แรก เพราะผมสังเกตเห็นว่าเวลาท่านนั่งทำหน้าที่อยู่บนบัลลังก์ ท่านนั่งเอียง ๆ อยู่ เหมือนกับนั่งอยู่บนแก้มก้นเพียงแก้มเดียว ไม่ได้นั่งเต็มที่ทั้งสองแก้ม จะเป็นเพราะท่านเป็นโรคปวดหลัง หรือเป็นวิธีการพักก้น แบบเดียวกับที่ทหารยืนพักโดยหย่อนขาข้างหนึ่งก็เหลือเดา


    พูดถึงท่านประธานท่านนี้ ผมรู้สึกว่ามีอะไรชอบกล ๆ อยู่ ภาษาที่ท่านใช้ผมฟังไม่ค่อยคุ้นหู และแปร่ง ๆ อยู่ เพราะเวลาที่ท่านพูดอะไรแล้วท่านจะลงท้ายด้วยคำว่า “นะเครอะ” อยู่เป็นประจำ จะว่าท่านพูดว่า “นะครับ” ก็ไม่ใช่ จะว่าพูดว่า “นะคะ” ก็ไม่เชิง ฟัง ๆ ดูเหมือนนำคำว่า “นะคะ” และ “นะครับ” มาผสมกันยังไงยังงั้น ในทำนองที่ว่า ถ้าพูด นะครับ ลงท้าย ก็จะเป็นการอ่อนข้อให้สมาชิกมากเกินไป ครั้นจะพูดลงท้ายว่า “นะคะ” จะดูหวานเกินความเป็นชาย เลยบวกกันเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป


    วันไหนผมคุ้นเคยกับท่านมากขึ้น หรือมีความกล้าหาญเพียงพอ คงจะต้องถือโอกาสถามท่านให้รู้แจ้งให้จงได้


    ในที่สุดท่านประธานท่านสรุปว่า เนื่องจากในขณะนี้สภายังใช้ข้อบังคับของสภาชุดเดิม ซึ่งยังไม่มีบทบัญญัติให้สอดคล้องกับหน้าที่ และขบวนการตามรัฐธรรมนูญใหม่ สภาจึงสมควรดำเนินการยกร่างข้อบังคับของตนเองขึ้นใหม่ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือการตั้งพวกเรากันเองขึ้นเป็นคณะเพื่อไปทำงานยกร่าง ผมเห็นดีด้วยกับข้อเสนอของประธาน เพราะอย่างน้อยถ้าพวกเราซึ่งเป็นสภาชุดใหม่ไปยกร่างข้อบังคับกันเอง การปฏิบัติตามข้อบังคับจะได้เข้มงวดมากขึ้น ต่อไปใครจะมาอ้างว่าข้อบังคับไม่เหมาะสม แล้วเลยพาโลไม่ปฏิบัติตามอีกไม่ได้ เพราะเราร่างมากับมือ


    ผมเลยได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่า คณะที่สภาตั้งขึ้นนั้น เขาเรียกว่า “คณะกรรมาธิการ” อ่านออกเสียงว่า “คณะกำมาธิการ” มีอยู่ ๒ ชนิด คือคณะกรรมาธิการสามัญ ซึ่งจะต้องตั้งจากคนที่เป็นสมาชิกสภาล้วน ๆ อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งอาจจะตั้งจากคนที่เป็นสมาชิกหรือคนภายนอก ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่จะต้องไปทำงานนั้น


    ผมชอบให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญ เผื่อว่าสมาชิกเกิดรู้สึกว่าตนไม่มีความรู้เพียงพอ จะได้ไปหาคนภายนอกมาตั้งให้ทำงานโดยตรง ไม่ต้องเลี่ยงไปตั้งที่ปรึกษากันมากมาย จนเกิดเรื่องเกิดราวอื้อฉาวอย่างที่เป็นกันอยู่ ผมฟังเหตุผลที่เขาตั้ง ๆ ที่ปรึกษากันว่า เป็นเพราะสมาชิกยังใหม่อยู่ จึงต้องการคนที่มีความรู้ความชำนาญมาช่วยชี้แนะและช่วยทำงาน แล้วรู้สึกแปลก ๆ ชอบกลอยู่ เพราะตอนหาเสียง ผมเห็นทุกคนจาระไนถึงความเก่งกาจ สามารถ ประสบการณ์ และความรู้ ชนิดเลิศฟ้ามาดิน ครั้นพอได้รับเลือกให้ไปทำงานเข้าจริง ๆ ไหงกลายเป็นคนใหม่ ความรู้และประสบการณ์ที่อ้าง ๆ ไว้หายไปไหนหมดก็ไม่รู้ ถึงกับต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มากันเป็นร้อย ๆ คน จนแทบจะเดินชนกันตาย


    กติกาที่ตั้งกรรมาธิการของสภา นับว่าเป็นเรื่องยุติธรรมดีมาก เพราะบังคับไว้ว่าจะต้องตั้งตามสัดส่วนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่มีสมาชิกอยู่ในสภา ผมเลยพลอยได้รับแต่งตั้งไปกับเขาด้วย ถ้าเขาใช้เสียงข้างมากลงคะแนนกัน ผมคงอดเป็นกรรมาธิการกับเขาตลอดชาติแน่ เพราะถึงเวลาใครเขาจะมาลงคะแนนให้ผม


    ผมดีใจที่ผมจะได้เป็นกรรมาธิการไปยกร่างข้อบังคับ เพราะผมมีแนวทางของผมอยู่ในใจแล้วว่าจะใส่อะไรไปในข้อบังคับบ้าง สิ่งที่ผมจะนำไปเสนอ ได้แก่


    ๑. ในวันประชุมสภาตลอดทั้งวัน สมาชิกทุกคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายจะต้องแต่งเครื่องแบบ ผู้ใดไม่แต่งเครื่องแบบเกิน ๓ ครั้ง ให้ติดรูปประจานไว้ที่หน้าสภาเป็นเวลา ๗ วัน ผมเห็นว่าการแต่งเครื่องแบบจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายประการ คือ

    • เป็นการประหยัด ผู้ชายจะได้ไม่ต้องไปตัดสูทมาอวดกันว่าของใครราคาแพงกว่ากัน ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินตราต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่ใส่สูทที่ตัดมาจากนอกบ้าง ใช้ผ้าที่สั่งมาจากนอกบ้าง สำหรับผู้หญิง จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองมาก มีเครื่องแบบไม่เกิน ๒ ชุด ก็พอ ที่สำคัญตัดปัญหาเรื่องกระโปรงสั้น กระโปรงยาว ให้สมาชิกผู้ชายต้องใจคอว่อกแว่กโดยไม่จำเป็น ทั้งยังเป็นการเสมอภาคกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ตรงตามเจตนารมย์ของรัฐธรรม
    • เกิดความเป็นระเบียบวินัย ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งเป็นผู้ทรงเกียรติ์ ไม่มีระเบียบวินัย แล้วจะไปสอนเด็ก ๆ ให้มีระเบียบวินัยได้อย่างไร
    • สมาชิกไม่โดดร่มหนีประชุมสภา เพราะไปไหน ๆ คนก็จะเห็นและชี้หน้าเอาได้ว่า เขากำลังประชุมกันอยู่ออกมาเพ่นพ่านภายนอกได้อย่างไร ประธานของผมจะได้ไม่ต้องปวดหัวกับการนับองค์ประชุม ให้อับอายขายหน้าประชาชน ข้อสำคัญผมหวังว่าสมาชิกจะไม่กล้าแต่งเครื่องแบบไปในสถานเริงรมย์ อย่างน้อยที่สุดทำให้สมาชิกบางคน ได้หยุดบำรุงร่างกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๒ วัน

    ๒. ในระหว่างที่มีการประชุมสภา ห้ามสมาชิกออกนอกห้องประชุมไปนั่งกินกาแฟ หรือนั่งคุยกันตามระเบียงข้างนอก เว้นแต่เป็นเวลาที่ประธานกำหนดให้สมาชิกทุกคนหยุดพัก ซึ่งประธานควรให้มีเวลาหยุดพักให้คนออกไปนั่งกินกาแฟ หรือยืดเส้นยืดสายได้ เพราะผมสังเกตดูว่า ประชุมไปได้สักชั่วโมงเดียว สมาชิกส่วนไม่น้อยพากันออกไปนั่งคุยกันที่ห้องกาแฟบ้าง ที่ระเบียงทางเดินบ้าง ทำให้ในห้องประชุมมีสมาชิกเหลืออยู่ร่อยหรอเต็มที จนบางทีน่าสงสารประธานที่นั่งโด่เด่อยู่กับสมาชิกเพียงไม่กี่คน ข้อสำคัญในเมื่อสภาเป็นที่พูด ถ้าพูดกันโดยไม่มีใครฟัง ก็จะเหมือนกับการเล่นละครให้ประชาชนดู และเวลาที่ต้องมีมติ จะลงมติกันได้อย่างไร โดยไม่ได้ฟังเหตุผลกัน ถ้าถือว่าทุกคนตัดสินใจกันมาแล้วจากบ้าน ผมก็เห็นว่าถ้าอย่างนั้นจะให้พูดกันให้เสียเวลาทำไม พอเปิดประชุมก็ลงคะแนนกันเลยก็ได้ งานการก็จะได้ไปได้เร็วยิ่งขึ้น


    ๓. สมาชิกคนไหนมาลงชื่อในตอนเช้าแล้วหายตัวไปเลย หรือไม่มาลงชื่อไม่ว่าด้วยเหตุใด (เว้นแต่เจ็บป่วยจนต้องนอนอยู่โรงพยาบาล) ให้หักเงินเดือนคราวละ ๕,๐๐๐ บาท พอถึงเดือนให้นำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกที่มาประชุม เพราะคนที่ไม่มาประชุมไม่ควรได้รับค่าตอบแทน ส่วนคนที่มาประชุมนั้น ต้องทำงานเพิ่มขึ้นแทนคนที่ไม่มาประชุม จึงควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น


    ผมคงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการพูดจาให้กรรมาธิการคนอื่น ๆ เห็นดีกับข้อเสนอของผมด้วย แต่ถึงแม้จะไม่สำเร็จก็คงไม่เป็นไร อย่างน้อยผมได้พยายามแล้ว อย่างน้อยผมจะได้นำไปพิมพ์ลงในประวัติการทำงานของผม เพื่อบอกให้ชาวบ้านของผมได้รับรู้ด้วย 

    มีชัย ฤชุพันธุ์