ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    เรื่องสั้น

    เรื่องของคนสองคน ตอนที่ 6 เสรีภาพในการดำรงชีวิต

    มนุษย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร ย่อมมีสิ่งที่ตนอยากทำและไม่อยากทำด้วยกันทั้งนั้น และสิ่งที่อยากทำหรือไม่อยากทำนั้นในแต่ละวันหรือแต่ละเวลาก็ใช่ว่าจะคงที่อยู่เสมอไป


    สิ่งที่อยากทำในวันนี้พอถึงพรุ่งนี้อาจไม่อยากทำเสียแล้ว หรือสิ่งที่ไม่อยากทำในวันนี้พอถึงพรุ่งนี้กลับอยากทำขึ้นมาก็ได้


    ดังนั้น ถ้าคนหนึ่งอยากทำหรือไม่อยากทำอะไรตราบเท่าที่ความอยากหรือไม่อยากนั้นไม่ได้สร้างภาระให้เกิดขึ้นกับอีกคนหนึ่งหรือกับครอบครัวจนเกินไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่อีกฝ่ายจะเที่ยวได้เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการขัดขวางเขา เพราะการทำเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัด และขาดเสรีภาพในครอบครัวขึ้น


    ข้อสำคัญความอยากหรือไม่อยากของมนุษย์นั้น โดยปกติจะไม่อยู่คงเส้นคงวาและจะหาเหตุผลอะไรมาอธิบายก็ไม่ได้


    จึงไม่จำเป็นต้องพยายามไปหาเหตุผลหรือให้เขาอธิบาย


    แม้แต่จะด้วยความหวังดีเพื่อว่าในคราวต่อไปจะได้ปรนนิบัติได้ถูก ก็ไม่ควรทำ เพราะรังแต่จะขัดความรู้สึกกันเปล่า ๆ และถึงรู้แล้วก็ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์ หากแต่จะเป็นโทษมากกว่า เพราะพอคิดว่าการที่เขาอยากทำการอย่างหนึ่ง แล้วเป็นความชอบ คงจะอยากทำทุกวันหรือบ่อย ๆ พอรุ่งขึ้นไปจัดเตรียมการหรือไปช่วยจัดการทำให้ เขาก็จะกลับโกรธหรือไม่ใส่ใจ ซึ่งเราก็จะน้อยใจไปต่าง ๆ นานา


    ทางที่ดีก็คือเมื่อเขาอยากทำอะไรในบ้าน ก็ให้คิดเสียว่านี่ก็บ้านเขาเหมือนกัน ถ้าไม่เป็นภาระแก่เราหรือครอบครัวเกินไปก็ให้ทำไป ถ้าอยากสนุกด้วยจะเข้าไปช่วยหยิบฉวยในขณะนั้นก็ไม่ผิดกติกา อาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสบายใจขึ้นก็ได้ที่มีคนมาช่วย


    แต่การเข้าไปช่วยต้องไม่ใช่เป็นการเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการทำเสียเอง หรือคอยไปคัดค้านอยู่ร่ำไป ถ้าเขาอยากตอกตะปูสักตัวหรือสองตัวที่ข้างฝา แม้เราจะเห็นว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ขาดความสวยงาม หรือขัดลูกกะตา แต่ถ้ามันเป็นความสุขของอีกฝ่ายหนึ่งก็ปล่อยไป ถ้ามันขัดลูกกะตานักก็อย่าไปมองเสียก็สิ้นเรื่อง


    ความสวยงามหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น ถ้าเราถามว่าเราทำไว้ทำไม คำตอบก็คือให้น่าอยู่ ถ้าถามต่อไปว่าความน่าอยู่นั้นเพื่อใคร เพื่อเราคนเดียวหรือว่าเพื่ออีกคนหนึ่ง ถ้าคำตอบว่าเพื่ออีกคนหนึ่งด้วย ก็ต้องถามว่าแล้วอีกคนหนึ่งเขาเห็นว่ายังไม่ดีเขาจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างมันจะหนักหนาอะไร เราต้องการให้บ้านเป็นระเบียบเรียบร้อยในสายตาของเรา โดยอีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าบ้านนี้ไม่ใช่บ้านของเขา เขาแตะต้องไม่ได้ อย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน


    คนหนึ่งอยากกินผักบุ้งไฟแดง ผักบุ้งก็มีอยู่ ผัดเสียเดี๋ยวเดียวก็ได้กิน ถ้าเราเกิดรู้สึกว่าจะอะไรกันนักหนากับข้าววันนี้ก็ทำไว้แล้วและมีมากพอแล้ว จะมาอยากกินอะไรกันอีก ไว้พรุ่งนี้ค่อยกินก็แล้วกัน ครั้นพอรุ่งขึ้นทำให้กิน เขาก็อาจจะไม่กิน เพราะหมดอยากเสียแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตั้งหน้าตั้งตาน้อยใจหรือบ่นว่า ว่านี่มันอะไรกัน ก็ไหนว่าอยากกินผักบุ้ง พอทำให้แล้วก็กลับไม่กิน ช่างเอาใจยากเสียจริง ความระหองระแหงก็ย่อมเกิดขึ้น


    แท้ที่จริงปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเราชอบคิดแทนคนอื่นว่าวันนี้ควรทำอะไร กินอะไร หรือไม่ควรทำอะไร โดยอาศัยความต้องการของเราเป็นที่ตั้ง