ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ควรเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

    เห็นใจคน กทม.ยิ่งนัก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไปแทนคุณสมัคร สุนทรเวช จะไม่หนักใจได้อย่างไร ในเมื่อมีคนสมัครใจมาให้เลือกถึง ๒๒ คน เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการสมัครกันมา

                    ในอดีตที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะมีผู้สมัครจำนวนมากน้อยเพียงไร ดูเหมือนคนกรุงเทพจะรู้ตั้งแต่ตอนโหมโรงว่าจะต้องเลือกระหว่างใครกับใครในจำนวน ๒ คน เรียกง่าย ๆ ว่า ทันทีที่มีการรับสมัคร จะมีผู้สมัครที่ “โดนใจ” ให้ต้องตัดสินใจเลือกเพียงไม่เกิน ๒ คน แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อมีการสมัครกันในวันแรกถึงจำนวน 17 คนแล้ว คนกรุงเทพก็เกิดอาการ “งง” ขึ้น เพราะไม่มีใคร “โดนใจ” ถึงขนาด

                    ที่ว่าไม่มีใคร “โดนใจ” ถึงขนาดนั้น อาจไม่ใช่เพราะไม่มีผู้สมัครคนใดดีเด่นเลย แต่อาจเป็นเพราะผู้สมัครส่วนใหญ่มีความเด่นใกล้เคียงกันจนกลายเป็น “ธรรมดา” ไปหมดก็ได้

                    ถ้าติดตามข่าวคราวการสมัครรับเลือกตั้งให้ดี จะพบว่า สามารถจำแนกผู้สมัครออกได้เป็น ๓ กลุ่ม

                    กลุ่มที่ ๑ คือ ผู้ที่ตั้งใจสมัครมาแต่แรก ไม่ว่าใครจะลงสมัครหรือไม่ลงสมัคร ตนก็จะสมัครเข้ารับเลือกตั้ง เพราะได้วางเป้าหมายแห่งชีวิตไว้แล้ว

                    กลุ่มที่ ๒  ลงสมัครเพราะเห็นว่าคนอื่น ๆ ที่ลงสมัครไม่ได้ดีหรือเด่นไปกว่าตน กลุ่มนี้จะตัดสินใจสมัคร เมื่อคนที่ตนคิดว่า “ดีเด่น” ไม่ลงสมัคร

                    กลุ่มที่ ๓  ลงสมัคร เพราะดีกว่าอยู่เปล่า ๆ

                    ไม่ว่าใครจะอยู่ในกลุ่มไหน ต่างก็ประชาสัมพันธ์ถึงความดี ความสามารถ และประสบการณ์ ที่จะเป็นปัจจัยบันดาลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองในฝัน สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ล้นหลามให้หมดได้ภายใน ๔ ปี

                    คนกรุงเทพในระดับบน จะได้รับการรับรองว่า การจราจรจะไม่ติดขัด บ้านเมืองจะสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย

                    คนกรุงเทพในระดับกลาง จะได้รับการรับรองว่าการศึกษาจะดี มีความสะดวก สุขอนามัยจะได้รับการดูแล  ริมถนนหนทางจะเขียวขจี รวมทั้งจะมีสวนพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น

                    คนกรุงเทพในระดับล่าง จะได้รับการรับรองว่า การทำมาหากินตามริมถนน ตามตลาด ทั้งหาบเร่ และแผงลอย จะได้รับการดูแลและเอื้ออาทร ชุมชนจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นกอบเป็นกำ

                    สุดแต่ใครจะคิดว่าเรื่องใดเป็นจุด “สนใจ” ของคนกลุ่มที่กำลังไปหาเสียง  ก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาเป็นจุดเด่นของตน  บางทีลืมนึกไปว่า เรื่องที่สัญญาบางเรื่องก็ขัดกันเอง และบางเรื่องมิไดเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. หรือไม่อยู่ในวิสัยของ กทม.จะทำได้ ก็มี

                    อย่างเช่น เรื่องจราจร เป็นต้น

                    คนที่ทำให้มีรถล้นถนน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการซื้อรถยนต์จนล้นถนน  กทม.จะมีปัญญาไปทำอะไรได้กับกระทรวงทั้งสองนั้น  ในเมื่ออำนาจในการกำหนดภาษีรถยนต์ก็ดี ภาษีประจำปีก็ดี ภาษีน้ำมันก็ดี การส่งเสริมการลงทุนก็ดี ไม่ใช่เป็นอำนาจของ กทม.

                    คนที่ทำให้ผู้คนต้องหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัว เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชน คือรัฐบาล เพราะการตัดสินใจสร้างระบบขนส่งมวลชน อยู่ที่รัฐบาล

    คนที่ทำให้การจราจรยุ่งเหยิง คือตำรวจ เพราะเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์ในการจราจร

                จะไม่ให้ยุ่งเหยิงอย่างไรได้ ในเมื่อคนที่เป็นนายตำรวจทั้งหลายจบมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจบ้าง นิติศาสตร์บ้าง รัฐศาสตร์บ้าง  จะมีสักกี่คนที่เคยเรียนวิศวฯการจราจรกันมา

                    แต่ก็ช่างเถอะ เพราะการหาเสียง ก็คือการหาเสียง จะเอาอะไรจริงจังกันนัก

                    ถ้าดูจากป้ายหาเสียง จะเห็นว่าผู้สมัครบางคน ยืนยันรับรองในความ “ดี” ความ “สุจริต” ของตน  บางคนแม้ไม่ยืนยัน แต่ก็ทำให้คนเข้าใจว่าตนเป็น “คนดี” และ “คนสุจริต” 

                    ส่วนความจริงที่อยู่หลังป้ายหาเสียง จะเป็นคนอย่างไรไม่มีใครรู้

    แต่บางคนกลับออกมาบอกให้รู้ว่าตนเคยมีความไม่ดีอย่างไรมาบ้าง

    แล้วคนกรุงเทพฯจะเลือกใครดี

    นักวิชาการที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง มักจะออกมาพูดเสมอว่า ในการเลือกตั้ง ประชาชนต้องเลือกคนดี

    แต่อย่างไรจึงจะเป็นคนดี และเป็นคนดีของใคร

    คนดีของคนนั่งรถเก๋งกับคนนั่งรถเมล์  คนจบประถม ๔ กับคนจบปริญญาเอก คนหาเช้ากินค่ำกับนายห้างใหญ่ อาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้

    ถ้าเป็นคนดีของนักวิชาการที่ไม่ชอบรัฐบาล (ไม่ว่ารัฐบาลไหน)  ก็ต้องบอกว่าคนที่ด่ารัฐบาลเก่ง ๆ น่ะแหละเป็นคนดี

    ถ้าถามพระป่าทั้งหลาย ท่านคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีใครดีไปกว่าหลวงตามหาบัว

                    ถ้าถามคนที่หาเช้ากินค่ำ หาบเร่ แผงลอย  ก็คงได้รับคำตอบว่า ใครก็ตามที่มาทำให้เขาสามารถทำมาหากินได้โดยไม่ถูกเทศกิจหรือตำรวจรบกวน นั่นแหละเป็นคนดี

                    ถ้าถามคนที่เป็นหัวคะแนน คงบอกว่า ผู้สมัครรายที่จ่ายเงินเป็นกอบเป็นกำนั่นแหละใจดี เป็นคนดี

                    ถ้าถาม กกต. อาจได้รับคำตอบว่า คุณวรัญชัย โชคชนะ นั่นแหละเป็นคนดี เพราะอาจเป็นคนเดียวที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรผิดกฎเกณฑ์ของ กกต.ได้  เพราะท่านคงไม่มีเงินถึงขนาดจะใช้เกินวงเงิน หรือจ่ายเงินให้หัวคะแนนจนหมิ่นเหม่ต่อการถูกกล่าวหาว่า “ซื้อเสียง” ได้

                    คนบางกลุ่ม ที่ตีนไม่ค่อยติดดิน อาจมองว่าคนอื่นในสังคมที่ไม่ใช่พวกของตัว ล้วนเป็นคนไม่ดีทั้งสิ้น

                    มาตรฐาน “ความดี” ในการเลือกตั้ง ย่อมไม่เหมือนกับ มาตรฐานของสังคมที่ควรเป็น         

    เพราะในการเลือกตั้งนั้น เป็นการหาคนมาทำให้ “ความอยาก” ของคนทั้งหลายได้

    ”สมอยาก”  หามาตรฐานแห่งความเป็น “คนดี” ไม่ได้  ด้วยความอยากของคนในสังคมนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสุดหล้าฟ้าดิน  สุดแต่ใครจะมองในมุมของประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวม และมีทัศนคติที่เปิดกว้างเพียงใด

                   

                    เมื่อหาอะไรเป็นมาตรฐานไม่ได้  จึงต้องหันมาพึ่งตนเอง นั่นแหละเป็นการดีที่สุด

                    เมื่อมองภูมิหน้าภูมิหลังของผู้สมัครแต่ละรายแล้ว “ชอบ”ใคร  ไม่ว่าจะชอบด้วยเหตุใด

                    ให้เลือกคนนั้นไว้เถอะ

                    ถ้าภายหลังเกิดดีหรือชั่วอย่างไร  จะได้อุ่นใจได้ว่า เป็นการ “ดี” หรือ “ชั่ว” ด้วยน้ำมือของเราเอง ไม่ใช่เกิดเพราะไปเชื่อคนอื่นที่เขาชักจูงเอา

    มีชัย ฤชุพันธุ์