ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ของขวัญกับประธานรัฐสภา

    ข่าวเรื่องคุณวันนอร์นำของขวัญที่ได้รับจากแขกผู้มาเยือน หรือจากการไปเยือนต่างประเทศ ไปไว้ที่บ้านศรียะลา แม้จะไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่และน่ารำคาญใจ สำหรับคนที่เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย เพราะถึงขนาดมีคนนำไปร้องเรียนกับ ปปช. กล่าวหาคุณวันนอร์ว่า ท่านมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของ ปปช. ในเรื่องการรับของขวัญที่มีราคาเกิน 3,000 บาท

    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่พรรคเดียวกับท่านวันนอร์ คงจะรู้สึกว่าการกล่าวหาเช่นนั้น เป็นการไม่ยุติธรรมกับคุณวันนอร์ เลยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าจะตรวจสอบกัน ก็ขอให้ตรวจสอบประธานรัฐสภาที่ผ่านมาทุกคน รวมทั้งผมด้วย แม้ผมจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรกับเขาแล้ว แต่ก็อุตส่าห์มีคนมาท้าวความถึงจนได้ จึงต้องพลอยอึดอัดและรำคาญใจไม่น้อย

    จะไม่เขียนถึงก็จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด ในเมื่อคนที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น คุณชวน หลีกภัย ท่านได้ออกมาปฏิเสธว่าท่านไม่ได้เอาเข้าพกเข้าห่อ หากแต่นำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่จังหวัดตรัง นอกจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาชี้แจงว่า คนของพรรคที่เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ล้วนแต่ไม่เคยนำของขวัญเหล่านั้นกลับไปบ้าน

    เหลือผมอยู่คนเดียว ไม่มีใครช่วยปฏิเสธให้

    ครั้นจะออกไปตอบโต้กับลูกน้องของท่านวันนอร์ ก็เห็นใจท่าน เพราะเท่าที่รู้จักกันมา ท่านเป็นคนดี มีความตั้งใจทำงาน ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอะไรด่างพร้อย

    จึงได้แต่นำเรื่องเก่ามาเล่าสู่กันฟัง

    ผมเป็นประธานรัฐสภาอยู่ช่วงสั้น ๆ ในสมัยที่ประธานวุฒิสภา ยังเป็นประธานรัฐสภาในปี 2535 และเป็นประธานวุฒิสภาเรื่อยมา จนพ้นวาระเมื่อเดือนมีนาคม 2542 เป็นเวลานานโขอยู่

    ในระหว่างนั้นได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปประชุมสหภาพรัฐสภา ทั้งระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค เป็นประจำทุกปี ได้พบปะกับประธานสภาของประเทศต่าง ๆ หลายครั้งเข้า ก็เกิดความสนิทชิดชอบ จนมีการเชิญให้ไปเยือนกัน โดยเราไปเยือนเขาบ้าง เขามาเยือนเราบ้าง

    เวลาเราไปเยือนเขา ก็ย่อมต้องมีของติดไม้ติดมือไปให้ผู้นำของเขา ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ของขวัญติดมือกลับมา หรือเมื่อเขามาเยือนเรา เขาก็มีของติดไม้ติดมือมาฝาก และเราก็ต้องให้ของตอบแทนเขาไปเช่นเดียวกัน

    ของขวัญที่เราให้เขานั้น ส่วนใหญ่เป็นของไทย ๆ ที่ไม่ได้มีราคาสูงอะไรนัก ดูเหมือนจะไม่มีชิ้นไหนราคาถึง 3,000 บาท ส่วนของขวัญที่เขาให้เรามา ส่วนใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของสภาบ้าง ของประเทศของเขาบ้าง ส่วนจะมีราคาค่างวดเท่าไร คงไม่มีใครใจกล้าหน้าด้านถึงกลับจะไปถามราคากับเขา เลยไม่มีใครสามารถเดาได้ว่ามีราคาถึง 3,000 บาทหรือไม่

    แต่เท่าที่สังเกตดู ถ้าเป็นประเทศใหญ่หรือเจริญแล้ว ของที่ให้มา มักจะเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่น่าจะมีราคาค่างวดอะไรนัก แต่ถ้าเป็นประเทศเล็กหรือประเทศที่กำลังพัฒนา มักจะให้ของสวย ๆ งาม ๆ เพื่ออวดฝีมือกัน แต่ถึงกระนั้นราคาก็คงไม่ได้แพงนัก

    ของที่เขาให้มา ถ้าเป็นของกินได้ เช่น ผลไม้ ใบชา หรือสมุนไพร คนที่รับมาทุกคน ซึ่งรวมทั้งผมด้วย มักจะกินหรือแจกจ่ายกันไปจนหมด ไม่มีใครส่งมอบให้ทางราชการเก็บรักษาไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ทำไม หรือเก็บกันอย่างไร

    นอกจากของที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ให้มาแล้ว บรรดาเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เวลามาเข้าพบ หรือในเวลาขึ้นปีใหม่ ต่างก็ส่งของมาให้กันอยู่ประจำ อะไรที่กินได้ผมก็เอาไปกินหรือแจกจ่ายกันไปอย่างที่ว่ามาจนหมด เพราะผมนึกเดาเอาเองว่า การที่เขานำของกินได้มาให้ คงต้องการให้ผมกิน เหมือนอย่างที่เวลาผมส่งผลไม้ไปให้เขา (ซึ่งผมควักกระเป๋าเอง) ผมก็หวังว่าเขาจะนำไปกินในครอบครัวของเขา ผมไม่ได้หวังที่จะให้เขาส่งผลไม้เหล่านั้น กลับไปรายงานใครที่ประเทศของเขา

    ในเวลาที่เรานำของกินได้ไปฝากผู้นำประเทศต่าง ๆ ผมไม่ได้ให้เขาในฐานะเป็นของที่ระลึก หากแต่ให้เขาเพื่อให้เขาได้ชิมของกินของไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ โดยหวังว่าถ้าเขาติดใจในรสชาติ ผลไม้ของไทยจะได้แพร่หลายและมีตลาดมากขึ้น ซึ่งยังไม่เคยได้ยินว่า ท่านผู้นำของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นท่านใดอุตส่าห์เก็บทุเรียน ข้าวสาร ลิ้นจี่ หรือมังคุด ที่เราเอาไปให้ เข้าพิพิธภัณฑ์หรือส่งมอบให้ทางราชการเก็บรักษาไว้

    ในช่วง 8 ปี ที่ผมเป็นประธานวุฒิสภา ได้ไปเยือนต่างประเทศหลายครั้ง มีผู้นำของประเทศต่าง ๆ มาเยือนก็มากมาย จึงมีของขวัญที่กินไม่ได้หลายสิบชิ้นอยู่

    ในปีแรก เมื่อผมได้ของขวัญเหล่านั้นมา ผมไม่รู้จะทำอย่างไร จึงนำกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน แต่เมื่อเอาไปแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะนับวันจะมีมากขึ้น ที่จะตั้งโชว์ก็ไม่มี จะทิ้งหรือให้ใครก็ไม่ได้ เป็นที่เดือดร้อนใจนัก

    วันหนึ่งผมเดินไปห้องประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตอนนั้นคุณมารุต บุนนาค ท่านดำรงตำแหน่งอยู่ ไปเห็นของขวัญที่ท่านได้มาจากต่างประเทศ ตั้งโชว์อยู่หน้าห้องท่าน ดูเหมือนจะสองชิ้น ผมจึงได้ความคิดว่า ถ้าทางราชการไม่ขัดข้อง และไม่เสียเงินทองในการสร้างที่เก็บมากนัก ผมก็อยากจะขนของขวัญเหล่านั้น มาให้เป็นภาระของวุฒิสภาเพื่อเก็บรักษาต่อไป อย่างน้อย ๆ สมาชิกคนอื่น ๆ หรือใครผ่านไปผ่านมา จะได้พลอยชื่นชมของสวย ๆ งาม ๆ เหล่านั้นด้วย

    เมื่อหารือกับเจ้าหน้าที่แล้ว เขายินดีที่จะรับดูแลและหาที่เก็บไห้ ผมจึงโล่งอก หมดความเดือดร้อนนับแต่นั้นมา

    แล้วผมก็ขนของที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นมีอยู่สักราว ๆ 10 ชิ้น มาให้วุฒิสภาจัดทำทะเบียน และเก็บรักษาไว้เป็นของหลวงต่อไป

    หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนผมพ้นวาระ เมื่อได้ของขวัญอะไรมาที่กินไม่ได้ ผมจึงส่งให้เจ้าหน้าที่ เมื่อเขาลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เขาได้นำไปตั้งแสดงไว้ในห้อง ๆ หนึ่ง ที่อยู่ตรงข้ามห้องทำงานประธานวุฒิสภา ใครอยากจะตรวจสอบหรือไปดู ก็น่าจะไปตรวจหรือดูได้ที่ห้องนั้น แต่ผมพ้นวาระมาหลายปีแล้ว ไม่ทราบว่าปัจจุบันเขายังเก็บไว้ที่เดิมหรือไม่ หรือจะยังอยู่ครบหรือไม่ ไม่ทราบได้ เพราะตั้งแต่พ้นมาก็ไม่เคยย่างไปที่นั่นอีกเลย แต่ได้สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว ได้ความว่าเขายังเก็บรักษาทะเบียนไว้เป็นเล่ม จึงน่าจะยังมีหลักฐานให้ตรวจสอบได้

    แม้ว่าจะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ส่วนตัวว่า ถ้าของอะไรที่กินได้ ผมถือว่าเขาให้เป็นการส่วนตัว แต่ของที่กินไม่ได้บางอย่างก็อาจเป็นปัญหาได้เหมือนกัน เช่น ของใช้บางอย่าง ประเภท เสื้อยืด หมวก หรือปากกาลูกลื่น ที่เขาแจกเป็นที่ระลึก ของเหล่านี้ ถ้าไม่ได้แจกให้คนอื่นไป ผมก็ได้ใช้ไปในงานราชการบ้าง ในงานส่วนตัวบ้าง แยกแยะไม่ค่อยออก แต่ยืนยันได้ว่าของเหล่านั้นได้ใช้สิ้นเปลืองไปจนหมดแล้ว ไม่เหลือไว้ให้ใครตรวจสอบ หรือเรียกคืนได้

    การที่ผมส่งของขวัญที่ไม่ใช่ประเภทกินใช้สิ้นเปลือง ไปให้วุฒิสภาเก็บรักษาไว้ ขอได้โปรดเข้าใจว่า ผมทำไปตามความสมัครใจของผมเอง ไม่ใช่เพราะมีระเบียบอะไรของ ปปช.ทั้งสิ้น เพราะระเบียบของ ปปช. เพิ่งจะออกมาในปี 2542 อันเป็นช่วงเวลาที่ผมใกล้จะหมดวาระแล้ว

    ผมสมัครใจทำเช่นนั้น เพราะการเก็บรักษาของเหล่านั้นไว้เอง เป็นภาระเกินกว่าที่ผมจะรับได้ ทั้งยังต้องคอยเป็นทุกข์ ด้วยเกรงว่ามันจะเสียหายหรือสึกหรอ และยิ่งคิดไปถึงอนาคต เมื่อเวลาที่ผมตายไปแล้ว ของเหล่านั้นยิ่งจะเป็นภาระให้แก่ลูกหลานยิ่งขึ้น จะทิ้งก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่มีราคาค่างวดอะไร ผมเลยสมัครใจโยนภาระไปให้ทางราชการรับไป

    ว่าไม่ได้ ถ้าผมมีบ้านช่องที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้เป็นประจำอย่างคุณวันนอร์ ผมอาจขนเอาไปไว้ที่นั่นอย่างเดียวกับที่ท่านทำก็ได้ อย่างน้อยเวลาไม่มีอะไรจะทำ จะได้เดินดูให้ครึ้มอกครึ้มใจเล่น

    อันที่จริง จะว่าผมยกของที่ได้รับมาจากผู้นำต่างประเทศ ไปให้วุฒิสภาเก็บเสียทั้งหมด ก็จะเป็นบาป เพราะยังมีของอยู่ 2-3 ชิ้นที่ผมเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ของที่ว่านั้น เป็นลายมือภาษาจีน ที่เขาเขียนไว้บนผ้าบ้างกระดาษบ้าง

    ข้อความที่เขาเขียนนั้น ผมอ่านไม่ออก แต่คนให้เขาบอกว่า เป็นการสดุดีที่ผม มีส่วนช่วยทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทย-จีน ดีขึ้น ส่วนรายละเอียดจะมีว่าอย่างไรบ้าง ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว

    ที่ผมไม่ได้มอบให้วุฒิสภา เนื่องจากมีเหตุผลส่วนตัวโดยแท้

    เพราะผมเกรงว่า เวลาเขาเอาไปแขวนติดไว้ที่วุฒิสภา ผมคงอดเขินต่อคำสดุดีนั้นไม่ได้ ผมเลยเก็บไว้เสียเอง แต่ตอนนี้อยู่ที่ไหนก็จำไม่ได้แล้ว

    อ้อ มีของที่กินได้อีกอย่างหนึ่ง ที่เมื่อผมได้รับมาแล้ว ก็ยังไม่ได้กิน ยังเหลืออยู่จนทุกวันนี้

    ดูเหมือนในช่วงปี 2536 เอกอัครราชทูตเกาหลี ท่านนำโสมแห้งๆ มาให้ ท่านบอกว่าเป็นโสมที่ดีมาก บำรุงกำลังดีนัก แต่ผมไม่เคยกินโสมและกินไม่เป็น จึงวางทิ้งไว้ระยะหนึ่ง พอดีมีคนเอาเหล้าหงส์ทองขวดใหญ่มาให้ ผมเลยยัดโสมนั้นใส่ลงไปในขวด ดองอยู่จนทุกวันนี้ใกล้ๆ จะครบ 10 ปีแล้ว

    เมื่อมีการหยิบยกเรื่องของขวัญขึ้นมาพูดกัน ผมเลยเปิดขวดออก ลองชิมไปจิบหนึ่ง รสชาดกำลังดี กลมกล่อมอย่างไม่น่าเชื่อ

    ถ้าใครเห็นว่าผมควรจะนำโสมไปส่งมอบให้ทางราชการเก็บไว้ที่ไหน ก็บอกมา ผมก็พร้อมที่จะเสียสละเหล้าหงส์ทองแถมให้ด้วย

    แต่ต้องสัญญาว่าทางราชการจะเก็บรักษาไว้ไม่ให้พร่องไปได้ เพราะผมเก็บมา 10 ปี เพิ่งจะพร่องไปจิบเดียวจริง ๆ

    มีชัย ฤชุพันธุ์