ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    การลาออกของสมาชิกสภา


    เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว อาจพ้นจาก ตำแหน่งได้เป็น ๒ ทางด้วยกัน คือ ต้องพ้นไปโดยไม่สมัครใจ เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องพ้นไป เช่น เมื่อตาย ขาดคุณสมบัติ เมื่อสภาครบวาระ ถูกจำคุก หรือลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด เป็นต้น ส่วนอีกทางหนึ่ง คือ พ้นไปโดยใจสมัคร ซึ่งมีอยู่กรณีเดียว คือ เมื่อลาออก


    ที่ผ่านมาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต่างเคยมีสมาชิกลาออกด้วยเหตุต่างๆ ด้วยกัน ทั้งสองสภา


    ในการลาออก แต่ละคนย่อมมีเหตุผลส่วนตัวซึ่งแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ที่ลาออกเพราะจะไปดำรงตำแหน่งหรือไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สมาชิกวุฒิสภาจะไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ซึ่งรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้เป็น) หรือกรณีสมาชิกสภาผู้แทนลาออกเพราะจะไปสมัครเป็นผู้ว่า กทม. เป็นต้น มีบ้างเหมือนกันที่ลาออกเพราะไม่พอใจในการกระทำของสภาเอง เช่น ลาออกเพราะสภามีมติให้ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนตัวเอง


    การลาออกเป็นเรื่องเฉพาะตัว คือ เมื่อใครลาออก คนนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่ กระทบกระเทือนคนอื่นที่ไม่ได้คิดจะลาออกด้วย และใครจะมาบังคับให้ใครต้องลาออกก็ไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อลาออกแล้วย่อมมีผลในทันที ใครจะยับยั้งไม่ได้ ซึ่งต่างกับข้าราชการประจำที่การลาออกจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาอาจยับยั้งไว้ชั่วคราวได้


    รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าการลาออกจะต้องมีพิธีรีตองอย่างไร ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาว่า ได้แสดงเจตนาต่อผู้มีอำนาจหน้าที่รับการแสดงเจตนานั้นหรือไม่ โดยไม่จำเป็นจะต้องทำเป็นหนังสือ เพียงเอ่ยวาจาต่อประธาน หรือเจ้าหน้าที่ของสภา เช่นเลขาธิการว่าตนขอลาออก หรือแม้แต่เพียงทำหนังสือยื่นต่อแผนกรับส่งของสภา ผลแห่งการลาออกนั้นย่อมใช้ได้


    แต่อย่านึกว่าการไปพูดในที่สาธารณะจะไม่มีผลอะไร เพราะแม้การลาออกนั้นอาจจะยังไม่มีผลทางกฎหมายให้พ้นจากตำแหน่งในทันที แต่ย่อมเป็นข้อผูกมัดในทางการเมืองจนต้องลาออกจริงๆ ก็ได้


    ผลแห่งการยื่นใบลาออกกับวันที่ที่พ้นจากตำแหน่งอาจไม่ใช่วันเดียวกัน เช่นยื่นใบลาออกในวันที่ ๒๐ มิถุนายน โดยระบุว่าจะลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ใบลาออกนั้นมีผลใช้ได้ตั้งแต่วันที่ยื่น แต่การพ้นจากตำแหน่งจะเกิดขึ้นเมื่อถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม ในกรณีที่ลาออกโดยไม่ระบุวันว่าจะลาออกเมื่อใด การลาออกนั้นย่อมมีผลและทำให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปในทันที


    มีปัญหาว่า ถ้าก่อนถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม เจ้าตัวจะมาขอถอนใบลาออกได้หรือไม่


    เรื่องนี้มีความเห็นตีความกันเป็น ๒ แนว แนวหนึ่งเห็นว่าเมื่อได้ยื่นใบลาออกแล้ว จะถอนใบลานั้นไม่ได้ แต่อีกแนวหนึ่งเห็นว่า แม้จะได้ยื่นใบลาแล้วหากก่อนถึงวันที่ที่กำหนดเจ้าตัวย่อมมีสิทธิจะถอนใบลาหรือเปลี่ยนความตั้งใจได้ เท่าที่ผ่านมาแนวความคิดหลังดูจะเป็นที่ยอมรับมากกว่า คือถ้ายังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ระบุไว้ เจ้าตัวอาจเปลี่ยนใจถอนใบลาออกได้


    การลาออกที่จะมีผลเป็นการลาออกจริง ๆ จะต้องเป็นการแสดงให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าผู้นั้นประสงค์หรือมีเจตนาที่จะลาออก หากมีการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ หรือแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียง “จะ” ลาออก การลาออกนั้นย่อมยังไม่เป็นผล จนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสัมฤทธิ์ หรือได้มีการลาออกจริงไม่ใช่เพียง “จะ” ลาออกเท่านั้น


    แต่บางกรณีเงื่อนไขนั้นอาจไม่มีทางสัมฤทธิ์ได้หรือแม้จะสัมฤทธิ์ได้แต่ก็ทำให้การแสดงเจตนาลาออกนั้นกลายเป็นเพียง “จะ” เท่านั้น เช่นประกาศหรือแสดงเจตนาว่า ลาออกเมื่อรัฐบาลลาออก แม้การลาออกของรัฐบาลจะมีโอกาสสัมฤทธิ์ได้ แต่ก็หาความแน่นอนจนกำหนดระยะเวลาไม่ได้ คำลาออกจึงเป็นเพียงค่ำมั่นสัญญาว่าจะลาออกเมื่อรัฐบาลลาออก ดังนั้นแม้ต่อมารัฐบาลจะได้ลาออกจริง คำประกาศนั้นก็หามีผลไม่ หากยังยืนยันเจตนาเดิม ผู้นั้นยังคงต้องดำเนินการลาออกให้เป็นผลต่อไป หรือแสดงเจตนาว่าหากรัฐบาลดึงดันให้ผ่านกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งตนไม่เห็นด้วย ตนจะลาออก แม้ต่อมารัฐบาลจะดำเนินการจนผ่านกฎหมายฉบับนั้นไปได้ การแสดงเจตนานั้นก็หามีผลในทางกฎหมายไม่ คงมีผลในทางการเมืองที่ผู้นั้นจะถูกบีบบังคับจากสาธารณะให้ต้องลาออกเท่านั้น


    ถ้าลาออกแล้วเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากออก จะทำอย่างไร เพราะมนุษย์ก็คือมนุษย์ บางทีก็ทำไปด้วยอารมณ์ หรือทำไปตามกระแส เมื่อสติกลับคืนมาอาจเกิดเสียดายได้ หรือเกิดกรณีสงสัยว่าการกระทำของคนๆ หนึ่งถือว่าเป็นการลาออกแล้วหรือไม่ เช่น เจ้าตัวเขียนใบลาออก ลงวันที่เรียบร้อย วางไว้บนโต๊ะทำงานของตน แต่ยังรีรออยู่ เกิดมีใครสักคนหนึ่งนำใบลาออกนั้นไปยื่นให้กับเลขาธิการสภา จึงเกิดปัญหาถกเถียงกันว่าคนผู้นั้นได้ลาออกไปแล้วหรือไม่


    เมื่อเกิดปัญหาเป็นที่สงสัยขึ้น รัฐธรรมนูญบัญญัติทางออกไว้ว่า สมาชิกของสภาที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่ อาจเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ยื่นคำร้องต่อประธานแห่งสภาของตนเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บุคคลผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว คำวินิจฉัยนั้นไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่านับแต่วันที่มีการลาออกหรือสงสัยว่าลาออกจนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บุคคลนั้นยังทำงานและรับเงินเดือนได้


    เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาลาออก ตำแหน่งนั้นย่อมว่างลง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน ๔๕ วัน แต่ถ้าอายุของสภาเหลือไม่ถึง ๑๘๐ วันจะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม ในขณะนี้ (ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๓) อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่ถึง ๑๘๐ วันแล้ว ดังนั้นหากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ก็ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม ส่วนวุฒิสภาซึ่งเพิ่งได้รับเลือก (และยังไม่ครบจำนวนในขณะนี้ ) ถ้าหากมีตำแหน่งว่างลงคงจะต้องดำเนินการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งซ่อม


    หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องในยามปกติ แต่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า หากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญเก่าว่างลง ก็ไม่ให้เลือกตั้งซ่อมไม่ว่าอายุของสภาจะเหลือเท่าใด แถมรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ด้วยว่าให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ซึ่งหมายความว่าจำนวนสมาชิกที่จะประกอบกันเป็นสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้คงมีเท่าที่มีสมาชิกเหลืออยู่ เช่น ถ้าเหลือเพียง ๕๐ คน ก็ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๕๐ คน (หรือแม้แต่เหลือเพียงคนเดียว) และสามารถทำงานต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกยุบ ส่วนในความเป็นจริงจะสามารถทำงานได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


    อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนมีเหลือไม่ถึง ๒๐๐ คนคงเกิดปรากฏการณ์ที่แปลกๆ ขึ้น เพราะตามปกติสภาผู้แทนราษฎรจะมีสมาชิกมากกว่าวุฒิสภา เพื่อเป็นการถ่วงดุลให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเหนือวุฒิสภา (เพราะมีเสียงมากกว่า) ในเวลาที่จำเป็นต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างทั้งสองสภา คะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นเสียงชี้ขาด แต่ถ้าเกิดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหลือต่ำกว่า ๒๐๐ คนจริง วุฒิสภาซึ่งมีสมาชิกถึง ๒๐๐ คน ย่อมจะกลายเป็นเสียงชี้ขาด และถ้ายิ่งคิดถึงการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรเอง จำนวนคนที่เหลือน้อยเกินไปก็อาจทำให้ไม่สามารถทำงานตามข้อบังคับต่อไปได้ เพราะเพียงลำพังจำนวนกรรมาธิการสามัญประจำสภาที่มีอยู่ ๒๓ คณะ ๆ ละ ๑๗ คน ก็จะต้องใช้คนถึง ๓๙๑ คน ถ้า ให้เป็นคนละ ๒ คณะ ก็ต้องใช้ ถึง ๑๙๕ คน เป็นต้น


    เนื่องจากการลาออกเป็นเรื่องเฉพาะตัว จึงเป็นเรื่องที่เจ้าตัวจะต้องทำด้วยความสมัครใจเอง ใครจะลาออกแทน หรือแม้แต่พรรคการเมืองจะมีมติให้ใครที่เป็นสมาชิกของตนลาออกย่อมไม่ได้ หากพรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกของตนลาออก มตินั้นคงมีผลเพียงเป็นการบอกกล่าวให้สมาชิกรู้ถึงทิศทางที่พรรคได้ตัดสินใจเท่านั้น การลาออกจริงยังต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกแต่ละคนที่จะไปดำเนินการเอง


    ถ้ามีสมาชิกพรรคคนใดไม่ปฏิบัติตามทิศทางของพรรค ๆ จะมีมติขับไล่ออกจากพรรคก็ย่อมทำได้ แต่สมาชิกผู้นั้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ ว่ามติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วย สมาชิกผู้นั้นคงพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นแต่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


    อนึ่ง โดยที่รัฐธรรมนูญบังคับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว หากสมาชิกผู้ใดลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ไม่ว่าจะลาออกจากพรรคเฉย ๆ หรือลาออกเพื่อไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่น สมาชิกผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยในทันทีที่ลาออกจากพรรคเดิม

    มีชัย ฤชุพันธุ์