ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ภาพที่เกิดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

    การโหมโรงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ได้กระทำกันอย่างต่อเนื่องจนผู้คนพากันสนใจติดตามการอภิปรายกันไม่น้อย รวมทั้งผู้เขียน ด้วย เมื่อได้ฟังแล้วก็เกิดภาพและข้อคิดต่าง ๆ ขึ้นในใจ ครั้นจะเก็บภาพหรือข้อคิดเหล่านั้นไว้เสียเองก็เกรงว่าจะเลือนหายไปในที่สุด จึงขอบันทึกไว้ให้ได้อ่านทั่วกัน เผื่อจะคลายความเครียดลงได้บ้าง แต่ขอเรียนด้วยความเคารพว่าผู้เขียนมิได้มีอคติใด ๆ เป็นส่วนตัวกับใคร เป็นการทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยสุจริตใจเท่านั้น (ฟังเขาอภิปรายกันมา ๓ วัน เลยชักจะติดสำนวนของฝ่ายค้านไปด้วย)


    ๑. ฝ่ายค้านได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เป็นเอกสารหลักฐานทางราชการได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุที่ว่าต่างฝ่ายต่างเคยเป็นรัฐบาลกันมาแล้วโดยทั่วหน้า จึงต่างมีความรู้ในระบบราชการกันตามสมควร เข้าทำนองไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ทั้งต่างก็มีเส้นสนกลในในส่วนราชการพอที่จะหาข้อมูล และเอกสารทางราชการได้มากและครบถ้วนมากขึ้น


    ๒. แต่ก่อนนี้ข้าราชการประจำเป็นเบี้ยล่างฝ่ายการเมืองเพียงข้างเดียว ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างไรก็อดทนเก็บไว้ อย่างมากก็เล่าให้เพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบฟัง แต่ปัจจุบันข้าราชการประจำทำท่าจะมีอำนาจต่อรองขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็มีช่องทางระบายความแค้นได้อย่างสะใจ คือ รวบรวมเอกสารหลักฐานที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย แล้วส่งให้ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนฝ่ายรัฐมนตรีต้องระงับความโกรธที่ผุดขึ้นอย่างจ้าละหวั่น เพื่อมิให้เกิดอาการเคียดแค้นให้ปรากฏทางสีหน้าแก่สาธารณะ


    ๓. เมื่อมีข้อมูลมาก การอภิปรายจึงอ้อมค้อม ทำนองขี่ม้าเลียบค่ายมากขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คุ้มกับที่อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนรวบรวมมา โดยนึกว่าคนฟังจะได้เกิดความรู้และฟังได้อย่างเข้าใจ แต่หารู้ไม่ว่าการอภิปรายของบางคนนั้น ในระหว่างที่คนอภิปรายกำลังขี่ม้าเลียบค่ายอยู่ คนฟังหลับไปเสียแล้วก่อนที่จะทันได้เข้าค่าย แต่บางทีก็ได้ความรู้ทั่วไปดีไม่น้อย เพียงแต่ไม่รู้ว่าแล้วรัฐมนตรีทำผิดอะไร เช่น จะอภิปรายเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลเรื่องการซื้อเรือขุด การอภิปรายจะเริ่มต้นตั้งแต่แม้น้ำมีสันดอนอย่างไร มีความจำเป็นต้องขุดสันดอนนั้นอย่างไร ประเทศไทยมีเรือขุดกี่ลำ ขนาดไหน และต้องไปซื้ออีกกี่ลำ ๆ ละเท่าไร หน้าตาเรือขุดเป็นอย่างไร มีรายละเอียดอย่างไร เป็นต้น หรือจะอภิปรายเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ ผู้อภิปรายจะเริ่มต้นตั้งแต่รายละเอียดของเฮลิคอปเตอร์ สถานะของบริษัท ขบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง จนผู้ฟังได้รับความรู้อย่างละเอียด ขาดสาระสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีตรงไหน


    ๔. ในสายตาของฝ่ายรัฐบาล เห็นว่า ฝ่ายค้านเป็นคนขี้อิจฉา ไม่มีความรู้จริง กลั่นแกล้ง นำข้อมูลเท็จมาแสดง บางเรื่องก็เป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ในขณะเดียวกันในสายตาของฝ่ายค้าน ก็เห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลตีรวน ทุจริต หาประโยชน์ใส่ตนหรือพวกพ้อง ทำงานไม่เข้าท่า ไม่รักษาประโยชน์ของประชาชนหรือบ้านเมือง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก้าวก่ายข้าราชการประจำหาความเป็นธรรมไม่ได้ ไม่เคยทำอะไรถูกสักอย่าง ถ้าเชื่อคำพูดของทั้งสองฝ่ายแล้ว ทั้งสภาเลยจะพานหาคนดีไม่ได้ แม้แต่ผู้ทำหน้าที่ประธานก็ไม่ละเว้น เพราะได้ยินเสียงการประท้วงประธานกันทั้งวัน นั่นคือภาพที่ฝ่ายหนึ่งมองอีกฝ่ายหนึ่ง


    ๕. ส่วนภาพที่แต่ละฝ่ายมองตนเองนั้น เป็นอีกแบบหนึ่ง คือฝ่ายค้านมองว่าพวกตนสุจริตไม่เคยทำผิด ไม่ได้อิจฉาใคร การอภิปรายครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนฝ่ายรัฐบาลมองว่าพวกตนสุจริต ตั้งอกตั้งใจทำงานตามหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่เคยหาเศษหาเลยเอาเข้าพกเข้าห่อ ที่ถูกอภิปรายคราวนี้เพราะถูกรังแกและถูกอิจฉาริษยา รวมความว่ามีแต่คนดี สุจริต มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์และการพัฒนาของประเทศ แต่ประเทศไทยทำไมถึงไม่พัฒนาเท่าเทียมเพื่อนบ้าน และมีคอรัปชั่นเกิดเต็มบ้านเต็มเมืองได้อย่างไรก็ไม่รู้ เห็นจะต้องโทษสื่อมวลชนและประชาชนว่าคิดมากกันไปเอง


    ๖. การประชุมสภาในคราวนี้ สมาชิกทุกคนต่างแต่งตัวกันมาอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาก ทั้งนี้เพราะสมาชิกที่รู้ตัวว่าจะได้อภิปราย ได้เตรียมแต่งตัวกันมาอย่างสวยงาม ต่างฝ่ายต่างนำ ”ชุดเก่ง” ออกมาใส่ ดูโก้หรูไปตาม ๆ กัน ส่วนคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งไม่มีหน้าที่อภิปราย ก็ไม่น้อยหน้า เพราะแม้จะไม่มีสิทธิอภิปรายแต่ก็มีหน้าที่ต้องคอยลุกขึ้นประท้วงบ้าง หารือกับประธาน บ้าง ซึ่งล้วนแต่จะได้มีโอกาสออกทีวีเหมือนกัน ทุกคนจึงต้องแต่งตัวกันมาอย่างดี ส่วนผู้หญิงก็ต้องแต่งหน้าทำผมกันมาให้พร้อม เป็นการเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสลุกขึ้นประท้วงออกทีวีได้เมื่อไร


    ๗. สมาชิกที่รู้ตัวแน่ว่าไม่มีโอกาสจะอภิปราย จะลุกขึ้นประท้วงก็ไม่ค่อยถนัด ก็ยังต้องแต่งตัวมาให้ดูดี แล้วคอยลุกไปนั่งใกล้ ๆ กับคนที่เขามีคิวจะอภิปราย เวลาที่กล้องจับมาที่สมาชิกที่กำลังอภิปราย จะได้ติดภาพของตัวไปด้วย อย่างน้อยก็เป็นการบอกให้ญาติพี่น้องรู้ว่ามาร่วมประชุมด้วยอย่างคร่ำเคร่ง


    ๘. รัฐมนตรีที่กำลังถูกอภิปราย แม้จะถูกกล่าวหาร้ายแรงจนแทบจะเสียผู้เสียคนขนาดไหน ก็ต้องคอยยิ้มให้เห็นไรฟันไว้เสมอ เพราะไม่รู้ว่ากล้องจะหันมาจับใบหน้าตนเมื่อไร เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้ภาพออกมาดูดี ในทำนองไม่สะทกสะท้าน และเมื่อเวลาที่ฝ่ายค้านพูดอะไรจี้ใจดำ ก็ต้องคอยหันไปทำท่ากระซิบกระซาบกับคนข้าง ๆ พอจะจับใจความจากปากได้เป็นทำนองว่า “ดูมัน ๆ” บ้าง หรือ “ไอ้นี่มันไม่รู้จริง” บ้าง


    ๙. การถ่ายทอดทีวี ทำให้เรื่องที่สามารถพูดให้เข้าใจได้ในไม่กี่ประโยค กลับต้องพูดกันยาวนาน เพราะคนพูดเสียดายเวลาและโอกาสที่กล้องทีวีจับมาที่ตน ถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ก็เห็นจะต้องโทษทีวีนั่นแหละว่าเป็นตัวต้นเหตุ


    ๑๐. การชิงไหวชิงพริบในทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยไม่มีใครสนใจว่าแล้วประชาชนจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ต่างฝ่ายต่างหาโอกาสที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจอะไรผิด ๆ ตามข้อกล่าวหาหรือคำชี้แจงของตนให้มากที่สุด จึงจะถือว่าเป็นความสำเร็จของการอภิปราย และทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีความต้องการใกล้เคียงกัน เพียงแต่มองคนละด้าน คือ ฝ่ายค้านก็อยากจะอภิปรายกล่าวหารัฐมนตรีให้ละเอียด โดยไม่อยากให้รัฐมนตรีตอบมากนัก ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็อยากให้รัฐมนตรีตอบยาว ๆ โดยฝ่ายค้านไม่ต้องกล่าวหามากนัก ทั้งสองฝ่ายจึงต้องคอยลุกขึ้นประท้วงเพื่อตะล่อมให้เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายตน


    ๑๑. เมื่อดูและฟังการอภิปรายไปนาน ๆ เข้า ทำให้รู้สึกว่า การอภิปรายในสภาน่าจะยากกว่าการแสดงละคร เพราะนอกจากจะต้องพูด ๆ ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ คนละหลาย ๆ ชั่วโมงแล้ว บางคนยังต้องคอยลอยหน้าลอยตาในลักษณะที่คิดว่าเท่ห์ควบคู่กันไปด้วย ทั้งมือยังต้องระวิงคอยยกแผ่นป้ายบ้าง ชูกระดาษบ้าง เป็นการประกอบ


    ๑๒. คนที่น่าเห็นใจหนีไม่พ้นผู้ทำหน้าที่ประธาน ที่ต้องนั่งฟังคนอื่นพูด โดยไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดนัก ที่สำคัญแม้ทั้งที่บางคนพูดไม่ค่อยได้เรื่องก็ต้องนั่งทนฟัง จะหลับพักผ่อนบ้านก็ไม่ได้ นาน ๆ สมาชิกจึงเห็นใจลุกขึ้นประท้วง เพื่อประธานจะได้มีโอกาสเอ่ยปากบ้าง พอไม่ให้น้ำลายบูด


    ๑๓. แต่คนที่น่าสงสารที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินคนช่อง ๑๑ ที่โผล่หน้าตลอดเวลาทางมุมซ้ายของจอทีวี เพราะต้องคอยทำมือทำไม้แปลคำพูดออกมาเป็นภาษามือเป็นจ้าละหวั่น ไม่มีโอกาสได้หยุด ในขณะที่ทำมือทำไม้ไป ปากยังต้องพะงาบ ๆ ประกอบไปด้วย ที่สำคัญภาษาของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ์บางท่าน นึกไม่ออกว่าจะทำมืออย่างไร เช่นคำว่า “ไอ้ตูดหมึก” เป็นต้น


    ๑๔. กลุ่มคนที่น่าสงสารอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ สส.หนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่เป็นความหวังของคอการเมืองทั้งหลาย แต่กลับไปอยู่ฝ่ายรัฐบาลเสียตั้งแต่สมัยแรก เห็นเพื่อน ๆ ฝ่ายค้านเขาอภิปรายแล้ว ก็คงอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าตนได้ลุกขึ้นอภิปรายจะได้อภิปรายได้ดีกว่านี้ แต่เมื่อเป็นฝ่ายรัฐบาล จึงได้แต่นั่งฟัง แต่คนบางกลุ่มก็พยายามหาทางลุกขึ้นอภิปรายด้วยการประท้วงและการหารือ เลยเสียคนเสีย (ในสายตาของคนฟัง) ตั้งแต่ยังไม่ทันได้แสดงฝีมืออะไร ทั้ง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าที่จะให้ลุกขึ้นมาเพียงเพื่อประท้วง


    ๑๕. เมื่อฟังคำอภิปรายของฝ่ายค้านแล้ว ผู้ฟังจะเกิดความรู้สึกว่าใครหนอช่างตั้งคนพรรค์อย่างนี้ ที่มีแต่ความเลวร้าย ความไม่สุจริต ขาดประสิทธิภาพ มาเป็นรัฐมนตรีได้ลงคอ ครั้นพอฟังรัฐมนตรีชี้แจงแล้ว ก็ให้เกิดความรู้สึกว่า โถ รัฐมนตรีช่างเป็นคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ ขจัดคอรัปชั่น ทำงานบากบั่นอุตสาหะ อย่างยากที่ใครจะเสมอเหมือนได้ ฝ่ายค้านช่างใจร้าย มีอคติ อิจฉาริษยา มากล่าวหาท่านได้ลงคอ มีคนสรุปว่าเป็นการหลอกกันไปหลอกกันมา แต่ที่ถูก น่าจะเป็นไปได้ว่าประชาชนต่างหากที่ถูกหลอก


    ๑๖. เมื่อการอภิปรายยิ่งผ่านไป คนที่เจ็บช้ำน้ำใจที่สุดไม่ยักกะใช่รัฐมนตรี หรือฝ่ายค้าน หากแต่เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เพราะมักจะถูกพาดพิงในทางเสียหายโดยไม่มีโอกาสได้ตอบโต้ หรือออกทีวีกับใครเขา


    ๑๗. จำนวนสุภาพสตรีที่เป็น สส. มีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายหลายเท่าตัว แต่คนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมตลอดเวลามักจะเป็นผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้หญิงไม่ค่อยได้ลุกขึ้นอภิปรายนัก และในเวลาที่ลุกขึ้นพูดผู้หญิงจะพูดสั้นและกระชับกว่า ส่วนผู้ชายจะพูดกันคนละนาน ๆ จึงอาจสรุปได้ว่า ผู้หญิงมีความอดทนในการฟังโดยไม่ต้องพูด (อาจเป็นเพราะอยู่บ้านได้พูดมากอยู่แล้ว) ส่วนผู้ชายมีความอดทนในการพูดโดยไม่ชอบฟัง (เพราะต้องฟังคนที่บ้านพูดอยู่เป็นประจำแล้วเช่นกัน)


    ๑๘. หลังเดือนพฤษภาคมแล้ว โครงการ ๓๐ บาทรักษาได้ทุกโรคจะประสบปัญหาหนัก อาจถึงขั้นต้องปิดโครงการหรือโรงพยาบาลล้มละลาย เพราะประชาชนจะป่วยไข้ต้องหาหมอกันเกือบทั้งเมือง เนื่องจากต้องอดตาหลับขับตานอนฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่องกัน พอจบรายการนี้แล้วยังต้องอดนอนเพื่อถ่างตาดูฟุตบอลโลกอีก สุขภาพจึงพากันเสื่อมโทรมกันไปหมด


    ๑๙. การพูดจาส่อเสียดในสภา มีอิทธิพลต่อผู้คนไม่น้อย ถ้าไม่เชื่อก็ลองย้อนไปอ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นดูซี เขาถึงบอกว่าความไม่ดีนั้นเลียนแบบกันได้ง่าย ความดีต่างหากจึงทำตามได้ยาก


    ๒๐. ผู้ที่จะเป็น สส.ได้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ ที่คนธรรมดายากจะมีได้ คือต้องสามารถพูดเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่เพื่อให้ดูน่าสนใจ พูดเรื่องสั้นให้เป็นเรื่องยาวเพราะนาน ๆ จะได้พูดออกทีวีสักที เมื่อไม่มีเรื่องก็สามารถทำให้เกิดเรื่องได้เผื่อจะได้พาดหัวหน้งสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น ที่สำคัญกล่องเสียงต้องดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะในกรณีที่ประธานปิดไมโครโฟนไม่ยอมให้พูด จะได้ตะโกนให้คนทั้งสภาได้ยินได้โดยไม่ต้องอาศัยไมโครโฟน และที่สำคัญต้องสามารถอภิปรายได้อย่างคงเส้นคงวา เสียงไม่แหบหาย และต้องยืนได้อย่างทนทาน เพราะต้องอภิปรายเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมงติดต่อกัน แต่มีข้อน่าสงสัยว่าฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลอาจจะซูเอี๋ยกัน เพราะเมื่อเวลาที่ฝ่ายค้านอภิปรายไปสักระยะหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเสลดเริ่มจะพันคอ ฝ่ายรัฐบาลก็จะลุกขึ้นประท้วงเสียทีหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายค้านได้มีโอกาสหยุดพักกล่องเสียง และจะสังเกตกันบ้างไหมว่าสมาชิกทุกคนไม่ว่าหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ เวลาลุกขึ้นอภิปราย จะไม่มีคำว่า “เอ้อ..” “อ้า..” เหมือนคนธรรมดาทั่วไปเลย เพราะเขาใช้คำว่า “ท่านประธานที่เคารพ” แทนคำว่า “เอ้อ” หรือ “อ้า” ที่ชาวบ้านธรรมดาใช้กัน


    ๒๑. นอกจากประธานจะเป็นคนน่าเห็นใจดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเป็นคนที่ทำผิดมากที่สุด เพราะถูกประท้วงทั้งวันว่าทำผิดข้อบังคับ ถูกสั่งสอนมากที่สุดเพื่อให้ทำหน้าที่ให้ดี ถูกกล่าวหามากที่สุด เพราะเวลาจะกล่าวหาใคร ข้อบังคับกำหนดให้ต่อว่าผ่านประธาน และเป็นผู้ที่ได้รับการเคารพมากที่สุด เพราะทุกคนต้องเริ่มต้นคำพูดด้วยคำว่า “ท่านประธานที่เคารพ”


    ๒๒. คำยอดฮิตประจำสัปดาห์ ตามลำดับแห่งความถี่ มีดังนี้ ลำดับที่ ๑ ได้แก่คำว่า “ท่านประธานที่เคารพ” ลำดับที่ ๒ ได้แก่ “ผมขอประท้วง” ลำดับที่ ๓ ได้แก่ “ผมขอหารือ” ลำดับที่ ๔ ได้แก่ “ด้วยความเคารพต่อท่านประธาน” (ซึ่งแปลว่ากำลังจะต่อว่าหรือด่าประธาน) ลำดับที่ ๕ ได้แก่คำว่า “ประชาชน” ซึ่งอ้างถึงด้วยกันทั้งสองฝ่าย


    ๒๓. ตัวเลขเด็ดประจำสัปดาห์ คือ ๘, ๖๑ ๑๘๕, ๑๘๖, ๓๐๓, ๓๐๔ (สองตัวแรกเป็นเลขของข้อบังคับที่ใช้ประท้วง ส่วนสี่ตัวหลัง เป็นเลขมาตราของรัฐธรรมนูญ) ใครจะนำไปซื้อหวยอย่างไรก็เชิญ รวยแล้วอย่าลืมมาแบ่งกันบ้างก็แล้วกัน


    ๒๔. สถิติสูญเปล่า


    (๑) มีการใช้คำว่า “ท่านประธานที่เคารพ” ประมาณ ๒,๐๐๐ ครั้ง ๆ ละ ๓ วินาที ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที


    (๒) มีการประท้วงหรือหารือประมาณ ๒๐๐ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ ๕ นาที ใช้เวลาไปประมาณ ๑๖ ชั่วโมง ๔๐ นาที (ผู้อภิปรายรายหนึ่ง เพียงรายเดียว ถูกประท้วงประมาณ ๕๐ ครั้ง)


    (๓) การแนะนำตัวก่อนการอภิปราย ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะลุกขึ้นมาอภิปราย ประท้วง หรือหารือ และไม่ว่าจะพูดเพียงสั้น ๆ หรือยาว จะต้องเริ่มต้นว่า “ท่านประธานที่เคารพ ผมนายดอน แกะกระโทก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด…… หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อ” ซึ่งมีผู้ลุกขึ้นพูดและใช้ประโยคดังกล่าว ประมาณ ๒๔๐ ครั้ง ๆ ละ ๑๕ วินาที ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง


    รวมทั้ง ๓ รายการ ใช้เวลาสูญเปล่าไปประมาณ ๑๙ ชั่วโมง ๒๐ นาที


    ๒๕. โดยภาพรวมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ สรุปได้ว่าเหมือนกับหนังไทย คือมีทั้ง บู๊ล้างผลาญ รัก โศก ตลกขบขัน ครบถ้วน ใครที่บอกว่าการอภิปรายสนุกสู้ฟุตบอลไม่ได้นั้น เห็นจะเข้าใจผิด

    มีชัย ฤชุพันธุ์