ข่าวเรื่องเทปลับที่มีผู้นำมาเปิดเผยและเผยแพร่ทางโทรทัศน์ และนำส่ง กกต.เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งที่จังหวัดนครนายกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ นับว่าเป็นเรื่องท้าทายความนึกคิดของสังคมไทยที่จะต้องเลือกเอาระหว่างการมุ่งขจัดการกระทำที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองไทย กับการคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันของประชาชน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเมืองของไทยไม่พัฒนา
และคงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การที่จะขจัดพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเป็นการยากที่จะหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอน จนสามารถนำตัวผู้กระทำมาลงโทษได้
บางทีจึงมีคนไม่น้อยที่นึกว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ถ้าสามารถทำให้จับตัวผู้กระทำผิด โดยเฉพาะคนสำคัญ ๆ ของพรรคการเมือง มาลงโทษได้ ก็อยากจะทำ
ด้วยเหตุผลที่นึกกันอยู่ว่า เมื่อคนเหล่านั้นกระทำความผิดโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย หรือวิธีการที่ใช้ในการกระทำความผิดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองอย่างไรบ้าง แล้วทำไมจะต้องไปนึกถึงวิธีการที่จะใช้จับผิดคนเหล่านั้น
ถ้ามองอย่างผิวเผิน อย่างนึกว่าเป็นการสาสมกันแล้ว การนำเทปมาเปิดเผยและส่งเป็นพยานให้แก่ กกต. ก็เป็นการเหมาะสมดี และ กกต.ก็ควรใช้เทปนั้นมัดตัวเพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดไปได้
แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า การจับตัวคนทำผิดได้คนหนึ่ง สังคมต้องลงทุนอะไรบ้าง และจะสูญเสียอะไร เราอาจต้องตั้งสติเพื่อตัดสินใจในทางเดินต่อไปในอนาคตกันก่อนว่า จะคุ้มกันหรือไม่
สิทธิในการติดต่อสื่อสารกันของประชาชน เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรมีใครมาละเมิดได้
มาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญบัญญัติรองรับไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย และ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกันจะกระทำมิได้
เราจะยอมให้มีการละเมิดเสรีภาพนี้ เพียงเพื่อจะได้ควานหาตัวผู้กระทำความผิด กันหรือไม่
เราจะยอมรับรู้กันหรือไม่ว่า การควานหาตัวผู้กระทำผิดได้หนึ่งรายนั้น ผู้กระทำการละเมิดอาจต้องดักฟังโทรศัพท์จากคนเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน หรือเที่ยวได้ดักฟังกันเป็นประจำ เพื่อว่าเผื่อจะพบเห็นการกระทำอันเป็นความผิดสักหนึ่งราย
โดยใครก็ได้ที่มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการนั้น
ในระหว่างที่ยังไม่พบการกระทำความผิด ก็จะได้ฟังความเป็นส่วนตัวของคนอื่นอย่างสนุกสนาน
และเมื่อคนหนึ่งทำได้ คนอื่น ๆ ก็ทำได้ และในที่สุดก็จะทำกันได้ทั่วไป
สิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลจะยังคงเหลืออยู่ในสังคมนี้หรือไม่
ในประเทศทั้งหลายที่เราไปลอกเลียนรัฐธรรมนูญเขามานั้น เขาไม่มีวันยอมรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่ได้มาในลักษณะนี้
ประธานาธิบดีของสหรัฐคนหนึ่งไปมีส่วนรู้เห็นการดักฟังโทรศัพท์ของพรรคการเมืองตรงข้าม ยังต้องลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอนจากวุฒิสภา
เพราะเขาถือกันว่าการดักฟังความเป็นส่วนตัวหรือความลับของคนอื่นเป็นเรื่องร้ายแรงที่อภัยให้กันไม่ได้
และเมื่อไม่สามารถห้ามความอยากรู้อยากเห็นของคนบางพวกได้ เขาจึงวางหลักไว้ตายตัวว่า หลักฐานใด ๆ ที่ได้มาเนื่องจากการกระทำดังกล่าว จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานให้เป็นโทษแก่ใครไม่ได้ เพื่อเป็นการสะกัดกั้นมิให้มีการกระทำเช่นนั้น
รัฐธรรมนูญของไทยก็มิได้น้อยหน้าใครในเรื่องนี้ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๓ วรรคสองว่า ถ้อยคำของบุคคลซึ่งเกิดจากการ
..กระทำโดยมิชอบประการใด ๆ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ก็บัญญัติเป็นโทษไว้ว่า ผู้ใดใช้อุบายอย่างใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อล่วงรู้หรือติดต่อกันซึ่งเนื้อความในข่าวสาร โทรเลข โทรศัพท์ใด ๆ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด และ ผู้ใดเอาความหมายของอาณัติสัญญาณ หรือข่าวสาร โทรเลข โทรศัพท์ ทั้งหมดหรือบางส่วนไปแพร่งพรายแก่บุคคลใด ๆ ผู้ไม่มีสิทธิ์จะรู้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด
เราเห็นคนทำความผิดกันตำตา คือ ไปใช้อุบายใด ๆ เพื่อล่วงรู้ข้อความในโทรศัพท์ แล้วก็นำมาขาย คนที่เป็นอดีต สส. ซึ่งเป็นผู้เคยมีหน้าที่ในการออกกฎหมายไปใช้บังคับกับประชาชน ไปรับซื้อข้อความนั้น แล้วนำมาให้สถานีโทรทัศน์เผยแพร่ออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วในที่สุดส่งให้ กกต.
กกต.กำลังหน้าดำคร่ำเครียดเพื่อจะตรวจสอบว่าเสียงนั้นเป็นเสียงจริงของผู้ที่ถูกกล่าวอ้างถึงและกำลังจะตกเป็นผู้ต้องหาของ กกต.หรือไม่
เพื่อที่จะมัดตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เราจะพร้อมใจกันทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับอย่างนั้นหรือ
มีใครจะหยุดคิดสักนิดกันบ้างไหมว่า ทางเลือกที่กำลังจะเลือกเดินกันนี้ คุ้มค่ากับความสงบสุขของสังคมในอนาคตแล้วหรือไม่
การเปิดโอกาสให้มีการละเมิดความเป็นอยู่ส่วนตัวจะเป็นหลักประกันว่าการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจะหมดสิ้นไปและเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบได้จริงหรือ
การมีขบวนการเลือกตั้งที่ดีขึ้น แต่ผู้คนในสังคมจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดผวาว่าการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่อาจเป็นความลับหรือเป็นเรื่องส่วนตัวได้อีก หมดสิ้นความเป็นอยู่ส่วนตัว ชีวิตเหมือนย้อนยุคไปอยู่ในสมัยเก๊สตาโปของเยอรมัน นั้น
ลองช่วยกันตั้งสติคิดดูหน่อยเถอะครับว่า เราจะเลือกเดินแพร่งไหนของเส้นทาง
จะเอายังไงจะได้เอาด้วยกัน เผื่อยังไงจะได้ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดักฟังทางโทรศัพท์ให้หมดไป และทุกคนจะได้เตรียมหาเครื่องดักฟังมาไว้ประจำบ้านโดยทั่วหน้ากัน
|