ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ความไม่โปร่งใสของกฎหมาย บสท. ในสายตาของเจ้าหนี้

    หลังจากที่มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่หัวหินเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพแล้วไม่นาน ร่างกฎหมายบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ในขณะนั้นสื่อมวลชนและนักวิชาการต่างพากันออกมาวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีแต่อุ้มชูเจ้าหนี้บ้าง รัฐเสียเปรียบอย่างรุนแรงบ้าง และในที่สุดจะทำให้รัฐและประชาชนต้องแบกรับความเสียหายอย่างมหาศาลบ้าง ผมได้ยินได้ฟังคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างอุเบกขา เพราะไม่คิดว่าจะไปเกี่ยวข้องด้วย


    แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลก็โยนร่างกฎหมายนี้มาให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งมีผมเป็นประธานอยู่ ให้ช่วยพิจารณาให้


    เมื่อรัฐบาลอุตส่าห์ส่งร่างกฎหมายมาให้ทำเป็นฉบับแรก จะปฏิเสธไม่รับทำให้ก็ดูจะตัดไมตรีกันเกินไป ที่สำคัญสื่อมวลชนและนักวิชาการเขาอุตส่าห์เป็นห่วงใย หากเรามีส่วนเข้าไปแก้ไขให้ดีขึ้นก็น่าจะเป็นกุศล


    เพื่อความรอบคอบผมจึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น จากคนที่เขามีความรู้ทั้งจากภาคราชการและจากภาคเอกชน โดยมีท่านรัฐมนตรีสุวรรณ วลัยเสถียร ซึ่งรู้เรื่องดีและมีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาล มาเป็นหลักเพื่อคอยให้ข้อมูลและดูแลว่าสิ่งที่คณะอนุกรรมการจะปรับปรุงแก้ไขนั้นตรงกับแนวคิดและแนวนโยบายของรัฐบาล หรือไม่


    คณะอนุกรรมการชุดนี้ประชุมพิจารณากันอยู่สิบกว่าครั้ง ๆ ละ ๔ - ๕ ชั่วโมง โดยต่างคนต่างต้องทิ้งงานประจำ หรือสละเวลาการทำมาหากินของตนมาประชุมกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด ต้องถกเถียงหาเหตุหาผลกันเพื่อหาจุดที่ดีที่สุดและเป็นธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต่างคนต่างได้ค่าตอบแทนจากหลวงกันไปครั้งละ ๓๐๐ บาท ผมในฐานะเป็นประธานได้มากกว่าเขาหน่อยคือได้ถึง ๓๑๒ บาท ๕๐ สตางค์ จะมากหรือน้อยกว่านี้ก็คงไม่กี่บาท เพราะซองที่เขาให้มายังไม่ได้เปิดดู อุตส่าห์เก็บรวบรวมไว้เป็นอนุสรณ์


    คนที่เป็นเจ้าหนี้หรือเติบโตอยู่บนกองเงินกองทอง ไม่เคยทำงานให้แก่ส่วนรวมมาก่อน ย่อมยากที่จะเข้าใจว่า มีคนทำงานโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนได้อย่างไร เมื่อนึกอะไรไม่ออกจึงเริ่มนึกถึงวิธีการที่ตนเคยปฏิบัติมา คือนึกเอาว่าคนอื่นคงใช้โอกาสเหล่านั้นหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพรรคพวกอย่างเป็นกอบเป็นกำ


    ผมเลยถูกสงสัย และถูกกล่าวหาว่า ทำร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือพรรคพวก


    เมื่อเอาเรื่องกับตัวผมไม่ได้ เพราะไม่เคยเป็นหนี้ ก็เลยอุตส่าห์กล่าวหาเอาง่าย ๆ ว่าผมคงจะเขียนเอาใจลูกหนี้บริษัทที่ผมเป็นประธานอยู่


    อะไรจะคิดร้ายกันได้ถึงขนาดนั้นเชียว


    บริษัทที่ผมเป็นประธานและเคยมีหนี้เป็น NPL อยู่ คือ บริษัทซาฟารีเวิลด์ มหาชนจำกัด แต่บริษัทได้เจรจาตกลงปรับโครงสร้างหนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาด้วยซ้ำไป เวลานี้อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อย่างเต็มตามสติกำลัง ตรงตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้


    บริษัทที่สองเป็นบริษัทลูกของซาฟารี คือบริษัทภูเก็ตแฟนตาซีจำกัด ซึ่งมีหนี้อยู่กับธนาคารของรัฐ (ความจริงหนี้เดิมก็ไม่ได้กู้ไปจากธนาคารของรัฐ หากแต่กู้ไปจากสถาบันการเงินเอกชน แล้ววันหนึ่งสถาบันนั้นถูกยุบ บริษัทได้รับผลกระทบอย่างยับเยิน และหนี้นั้นถูกโอนไปยังธนาคารของรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่) มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กันมาเป็นปี ตกลงในหลักการกันได้แล้ว แต่เนื่องจากเป็นธนาคารของรัฐ การตัดสินใจของธนาคารจึงทำได้ล่าช้า การจะโอนหนี้ไป บสท.หรือไม่จึงอยู่ที่ธนาคารเจ้าหนี้ และถ้าหนี้รายนี้ถูกโอนไปจริง อาจจะเกิดปัญหาในทางที่เป็นโทษเสียด้วยซ้ำไป เพราะหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันอยู่มีราคาท่วมท้นหนี้ และกฎหมายกำหนดให้โอนในราคาของหลักทรัพย์ที่เป็นประกัน เช่นเป็นหนี้อยู่ ๑๐๐ บาท แต่มีหลักทรัพย์ราคา ๑๒๐ บาท บสท.ต้องซื้อหนี้ในราคา ๑๒๐ บาท บริษัทนี้คงจะเดือดร้อนไม่มากก็น้อย เรื่องอย่างนี้ไม่ค่อยเกิดกับคนอื่นหรอก แต่เกิดกับบริษัทที่ผมเป็นประธานแน่ ๆ ถ้าผมเห็นแก่บริษัทสักหน่อย ก็คงไม่เขียนให้มีราคาโอนหนี้กันแบบนี้จนบริษัทเขาอาจต้องเดือดร้อน


    บริษัทที่สามคือบริษัท กฤษฎามหานคร ซึ่งเคยถูกพักการซื้อขายหุ้นในตลาดไปปีเศษเพื่อให้โอกาสไปดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ และได้มีการปรับโครงสร้างหนี้กันไปเรียบร้อยกว่าร้อยละ ๗๐ และเมื่อสี่ห้าเดือนก่อนหน้านี้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดได้แล้ว ก่อนจะเขียนบทความนี้ก็ได้สอบถามไปที่บริษัทจึงได้ความว่าเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ นี้เอง เขาไปลงนามในสัญญากับธนาคารใหญ่เพื่อปรับโครงสร้างหนี้อีกร้อยละ ๑๕ ที่ล่าช้ามาก็เพราะนายธนาคารไม่ยอมให้คำตอบเรื่อยมา นี่ถ้าผมเป็นอย่างคนอื่น ผมคงยุไม่ให้เขาทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพราะรออีกไม่กี่วันเขาก็จะถูกโอนไปยัง บสท.แล้ว ส่วนหนี้ที่ยังเหลืออยู่อีกร้อยละ ๑๕ นั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่กับธนาคารของรัฐซึ่งแม้จะตกลงในหลักการกันแล้วแต่ไม่มีใครยอมตัดสินใจ บริษัทเขาจึงจนใจอยู่ บริษัทนี้ไงล่ะครับที่สมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งไปซื้อคอนโดแล้วพยายามต่อรองจนบริษัทลดให้ไม่ได้อีก แต่ท่านก็ไปขอให้อดีตประธานวุฒิสภา(สนิท วรปัญญา) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไป เป็นคนไปเจรจาต่อรองให้ จนเป็นเหตุให้มาประชุมลงคะแนนกรณีคุณเฉลิม พรหมเลิศ ไม่ทัน ซึ่งในที่สุดบริษัทก็ต้องยอมตามที่ท่านต้องการ ท่านสมาชิกท่านนี้ท่านชอบกล่าวหาใครต่อใครว่าเป็นเผด็จการบ้าง รวบอำนาจบ้าง แต่เวลาใครมีความเห็นอะไรที่แตกต่างกับท่าน ท่านเป็นตะคอกให้บ้าง ว่าร้ายเสียบ้าง เพราะท่านมักจะถือว่าความเห็นของท่านเท่านั้นจึงถูกต้อง


    บริษัทที่ผมเป็นประธานอยู่ทั้ง ๓ แห่ง จึงไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนี้กับเขา พอดีพอร้ายอาจจะได้รับผลร้ายเสียด้วยซ้ำไป


    ที่เจ้าหนี้เขาพยายามกล่าวหาผมโดยผ่านทางสื่อบ้าง ใช้คนเขียนว่าผมใน webต่าง ๆ บ้าง ผมเข้าใจดีครับว่า คนที่เคยเป็นเจ้าหนี้ เคยแต่ยิ่งใหญ่ เคยเป็นแต่เจ้าบุญนายคุณ ไม่เคยต้องลดลาวาศอกให้ลูกหนี้ นั้น เมื่อกฎหมายนี้ออกมาใช้บังคับย่อมเป็นการสะเทือนใจไม่น้อย


    แต่ในยามนี้ที่บ้านเมืองกำลังตกต่ำ อยู่ในภาวะที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อกอบกู้และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ การที่รัฐต้องลงมาแก้ไขปัญหานี้โดยยอมควักเงินภาษีอากรออกมา แต่ละคนแต่ละฝ่ายจึงต่างต้องเสียสละกันบ้าง จะมัวมาเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ได้อย่างไร


    ผมอยู่กับราชการมานาน ผมคงไม่สามารถทำกฎหมายให้คนที่มีอำนาจทางการเงินมาเอาเปรียบรัฐและราษฎร์ได้อย่างตำตา และถึงหากผมจะทำเช่นนั้นได้ ผมก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาล สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปจะยอมเช่นนั้นได้


    ถ้าอยากรู้ว่าเขาจะเอาเปรียบอย่างไร จะลองเปรียบเทียบให้ดูก็ได้


    ร่างกฎหมายเดิมที่ตกลงกันมาจากหัวหินนั้น ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บสท. ไว้ว่า “เพื่อประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนหนี้เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพต่อระบบสถาบันการเงิน”


    เห็นไหมครับพอเริ่มต้น เขาก็อยากให้ช่วยแต่สถาบันการเงินทั้งยังให้ทำเป็น “ธุรกิจ” ซึ่งต้องแปลว่าตั้งกันขึ้นมาเพื่อหากำไรมาแบ่งกัน โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนลงแรงทั้งหมด เพื่อให้สถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ส่วนคนอื่น ๆ ในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ในฐานะการรับส่วนบุญภายหลังจากที่สถาบันการเงินแข็งแรงดีแล้ว แต่ที่ผ่านมาน่ะลูกค้าที่มาขอกู้เงินในยามที่สถาบันการเงินแข็งแรง มีสภาพอย่างไรก็น่าจะยังจำกันได้อยู่


    คณะของผมจึงแก้ไขเสียใหม่เป็นว่า การจัดตั้งต้องทำเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวม โดยทุกฝ่ายจะต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ เพราะถ้าลูกหนี้ง่อยเปลี้ยเสียขากันหมดเศรษฐกิจจะฟื้นฟูได้อย่างไร และเพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่ต้องมาถกเถียงกันภายหลังจึงเขียนไว้ในกฎหมายว่าในการดำเนินการของ บสท.จะต้องคำนึงถึงความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา เพราะยิ่งช้าบ้านเมืองก็จะยิ่งเสียหายมากขึ้น ต้องคำนึงถึงต้นทุนของ บสท. ไม่ใช่ไปเห็นใจลูกหนี้จนลดแลกแจกแถมกันหมด และในการที่จะไปบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้นั้นก็ต้องคำนึงด้วยว่าลูกหนี้ที่สุจริตเขามีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้เพียงไร จะอยู่ในฐานะที่จะเริ่มต้นประกอบกิจการต่อไปใหม่ได้หรือไม่


    ตรงนี้เองละมัง ที่เจ้าหนี้เขาบ่นกันว่ากฎหมายนี้เอาใจลูกหนี้ และไม่มีความชัดเจนว่าอย่างไรจึงเรียกว่า “สุจริต”


    ถ้าเป็นในยามปกติแล้วการออกกฎหมายเช่นนี้มา ก็คงจะเป็นจริงอย่างที่เจ้าหนี้เขาบ่น แต่เมื่อเรื่องนี้รัฐควักกระเป๋าลงมาจัดการ และมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” จึงจะทำเพียงเพื่อให้เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินที่มีอยู่ไม่กี่รายแข็งแรงแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อย่างไร ก็ต้องนึกถึงหัวอกของคนที่ต้องล้มลงเพราะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างทั่วหน้ากันด้วย เพราะคนเหล่านั้นก็เป็นคนไทย มีเป็นจำนวนแสน ทั้งเป็นคนที่เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้จนร่ำรวยมหาศาล และเสียภาษีให้กับประเทศมากกว่าเจ้าหนี้ไม่กี่รายเหล่านั้นเสียอีก


    ส่วนคำว่า “สุจริต” นั้น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้คำนี้มาเป็นร้อย ๆ แห่ง โดยไม่มีเคยมีคำอธิบาย แต่ก็ไม่เคยเกิดปัญหา แต่เนื่องจากธนาคารเคยบริหารงานโดยใช้ประโยชน์และการได้เปรียบของธนาคารเป็นที่ตั้ง จึงยากที่จะรู้ว่าอะไรคือ “สุจริต”


    ภายใต้กฎหมายนี้ ใช่ว่าเจ้าหนี้จะไม่ได้รับประโยชน์ในเชิงได้เปรียบเสียเลย เพราะบางเรื่องเจ้าหนี้ก็ได้ประโยชน์ไปไม่น้อย เช่น การได้รับดอกเบี้ยในระหว่างที่ บสท.ไปติดตามทวงหนี้ให้ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินมหาศาลเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่ได้แตะต้อง เพราะเห็นว่าเป็นข้อตกลงกันระหว่างรัฐกับนายธนาคารที่หัวหิน และอย่างน้อยก็จะได้เป็นแรงจูงใจให้เจ้าหนี้โอนหนี้เหล่านั้นมาให้ บสท. จะได้จัดการกันเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว ความได้เปรียบอย่างนี้เจ้าหนี้ไม่ยักกะพูดถึง สื่อมวลชนก็ดูจะไม่สนใจ ซึ่งก็ดีไปอย่างจะได้ไม่มาต่อว่าต่อขานว่าผมเห็นแก่เจ้าหนี้


    ในเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการก็เหมือนกัน ตามร่างที่มาจากหัวหินนั้น เขียนบังคับไว้ว่าอย่างน้อยจะต้องมาจากสถาบันการเงินภาคเอกชน ๔ คน ส่วนอย่างมากไม่รู้เท่าไร


    ในเมื่อการดำเนินการเรื่องนี้ รัฐจะต้องเป็นคนดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เจ้าหนี้จะมานั่งเป็นกรรมการกันเต็มไปหมดโดยไม่นึกถึงฝ่ายลูกหนี้บ้างได้อย่างไร จึงได้เปลี่ยนเสียใหม่เป็นให้มีกรรมการที่มาจากฝ่ายลูกหนี้ทางอุตสาหกรรม ๑ คน ทางหอการค้า ๑ คน และฝ่ายเจ้าหนี้จากสมาคมธนาคาร ๑ คน ส่วนคนอื่น ๆ ก็สุดแต่ดุลพินิจของรัฐมนตรี


    ในการบริหารจัดการตามแนวทางที่ตกลงกันมาจากหัวหินนั้น จะมีการแบ่งทรัพย์สินเป็นกอง ๆ แล้วให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เข้ามาบริหารจัดการ โดยเจ้าหนี้ที่เข้ามาบริหารมีสิทธิ์เรียกค่าตอบแทนในการบริหาร


    ขบวนการนี้ถ้าไม่คิดให้ลึกซึ้งก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าลองคิดกันดูบ้างว่า ปัญหาที่ค้างคากันอยู่นี้ สถาบันการเงินทั้งหลายได้พยายามแก้ไขกันมาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ จนรัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข อุตส่าห์ออกเงินตั้งองค์กรให้ รับโอนหนี้เหล่านั้นมาไว้กับองค์กร จ่ายดอกเบี้ยให้ แล้วกลับมอบหมายให้ธนาคารไปติดตามจัดการบังคับลูกหนี้ โดยติดอาวุธที่เป็นอำนาจรัฐให้ แล้วยังต้องจ่ายเงินค่าไปติดตามทวงหนี้ให้อีก ทั้ง ๆ ที่ถ้าหนี้นั้นยังอยู่กับธนาคาร ๆ ก็ต้องจ่ายเงินค่าติดตามทวงหนี้ และค่าบริหารจัดการ ด้วยทุนรอนของตนเองทั้งสิ้น หนี้ที่จะรับโอนจากเอกชนมีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ล้าน ถ้าคิดค่าบริหารจัดการกันที่ร้อยละ ๕ ของมูลหนี้ ก็จะเป็นเงินถึง ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท


    ถึงแม้จะรู้ว่าเจ้าหนี้เขาคงหมายมั่นปั้นมือกับรายได้ก้อนนี้ไว้ และถ้าไปแก้ไขจนเขาขาดรายได้นี้ไป เขาคงเล่นงานผมไม่น้อย แต่ถึงจะเล่นงานและกล่าวหาผมอย่างไร ผมก็รับหลักการอย่างนี้ไม่ได้จริง ๆ ครับ


    เมื่อรับไม่ได้ จึงได้แก้ไขเสียใหม่ว่า เจ้าหนี้จะเข้ามาบริหารบ้างก็ได้ แต่จะมาเรียกเก็บเงินจาก บสท.ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำเสียจนเกินไป ได้กำหนดไว้ว่าในระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกัน ถ้าใครไปตามทวงหนี้ให้ใครได้ จะคิดค่าบริหารจัดการ หรือค่าอะไร ๆ ในระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกันก็ไม่ห้าม แต่อย่ามาเอาจาก บสท. เพราะถ้า บสท.ขาดทุนมาก ๆ รัฐก็ต้องเป็นคนขาดทุน


    ในเรื่องกำไรขาดทุนก็เหมือนกัน เขากำหนดกันมาจากหัวหินว่า ถ้ามีกำไรร้อยละ ๒๐ แรก ให้แบ่งคนละครึ่งระหว่างเจ้าหนี้กับ บสท. กำไรส่วนที่เหลือให้เป็นของเจ้าหนี้ทั้งหมด แต่ถ้าขาดทุน ร้อยละ ๒๐ แรก ให้เจ้าหนี้รับไป ขาดทุนส่วนที่เหลือ ให้ บสท.รับไปทั้งหมด ตกลงเวลากำไรมาก ๆ เจ้าหนี้ก็รับไปคนเดียว ส่วนถ้าขาดทุนมาก ๆ ให้ บสท.รับไปคนเดียว


    นี่หรือคือความเป็นธรรมและความโปร่งใสในสายตาของเจ้าหนี้ที่ผ่านมาทางสื่อหรือผ่านปากของคนบางคน


    คณะของผมมองความโปร่งใสและความเป็นธรรมอย่างนี้ไม่เป็น (จะว่าโง่ก็ยอมรับ)


    เราก็เลยเปลี่ยนเสียใหม่เป็นว่า กำไรส่วนแรกร้อยละ ๒๐ ให้แบ่งคนละครึ่ง กำไรส่วนที่สองให้คืนให้เจ้าหนี้รับไปไม่เกินส่วนต่างระหว่างหนี้ที่เป็นอยู่กับราคาที่ บสท.ซื้อมา (เช่น เป็นหนี้กัน ๑๐๐ บาท แต่ บสท.ซื้อหนี้นั้นมา ๖๐ บาท กำไรส่วนที่สองเมื่อรวมกับส่วนแรกแล้วถ้าไม่เกิน ๔๐ บาท ก็ยกให้เจ้าหนี้ไป จะได้ไม่ขาดทุนนัก) ถ้ามีกำไรเหลือจากนั้น ให้ตกเป็นของ บสท.ทั้งหมด และถ้ามีการขาดทุนขึ้น ขาดทุนส่วนแรกไม่เกินร้อยละ ๒๐ ให้เจ้าหนี้รับไป ส่วนที่สองอีกไม่เกินร้อยละ ๒๐ ให้แบ่งคนละครึ่งกับ บสท. ถ้ายังมีผลขาดทุนอีก บสท.จึงรับมาทั้งหมด


    ผมตระหนักดีว่าการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมทำให้เจ้าหนี้ขาดประโยชน์ที่เขาคิดว่าเขาควรได้ไปมากทีเดียว


    แต่จะทำอย่างไรได้ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้คนไทยฟื้นตัวได้ ไม่ใช่กฎหมายที่จะช่วยให้ใครเอาเปรียบใคร บางบทบางมาตรา ถ้าอ่านผิวเผินก็อาจทำให้นึกว่าเป็นการเอาใจบางฝ่าย แต่ถ้าอ่านให้รอบคอบก็จะเห็นว่าในเกือบทุกเรื่องทุกราว จะกำหนดให้คณะกรรมการวางหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในรายละเอียดไว้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป เพื่อคอยอุดช่องว่างมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ และในขณะเดียวกันคนทั่วไปจะได้รู้ว่าหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร จะได้คอยช่วยกันดูได้ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่จนเกินไปนัก


    ในเรื่องการปรับโครงสร้างกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะมีคนภายนอกเข้าไปบริหารกิจการของลูกหนี้ และกฎหมายนี้กำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมของลูกหนี้ก่อน จนกล่าวกันว่าเป็นการเอาใจลูกหนี้ นั้น เหตุที่กำหนดไว้เช่นนั้นก็เพราะกฎหมายนี้มิได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปปรับโครงสร้างกิจการเพื่อติดตามทวงหนี้แต่เพียงอย่างเดียว ดังเช่นที่เป็นอยู่ในการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย หากแต่เป็นการพยายามเข้าไปช่วยลูกหนี้เพื่อให้ประกอบกิจการต่อไปจน สามารถนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ ถ้าลูกหนี้ไม่ยินยอมพร้อมใจ การทำก็จะลำบาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือด้วยดีแล้ว การใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ต้องเฉียบขาดก็จะทำได้ยาก และอาจเกิดปัญหาในทางกฎหมายได้ แต่เมื่อลูกหนี้ยินยอมแล้ว ก็ต้องยินยอมไปถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะใช้ตามความจำเป็นด้วย


    ฝ่ายหนึ่งก็หาว่าเอาใจลูกหนี้แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับหาว่าให้อำนาจเพื่อจัดการกับลูกหนี้มากเกินไป ก็แปลกดี ซึ่งในเรื่องอำนาจที่มีคนชอบพูดกันว่าล้นฟ้านั้น คงจะต้องหาโอกาสค่อย ๆ ชี้แจงกันต่อไปผมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้เสมอ และพร้อมจะรับฟังเหตุผลเพื่อปรับปรุงแนวคิดให้เหมาะให้ควร แต่จะมาชี้หน้าว่ากันฟรี ๆ ผมคงรับไม่ได้


    อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการนำทรัพย์จำนองหรือจำนำมาตีราคาโอนชำระหนี้ให้ บสท. และยอมให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดจากหนี้ ซึ่งก็กล่าวหากันว่าเป็นการเอาใจลูกหนี้อีกเช่นกัน ความจริงหลักกฎหมายในเรื่องนี้ บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๓ มาตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ ว่าถ้าเจ้าหนี้เอาทรัพย์จำนองหลุด ได้เท่าไรก็เท่านั้นที่เหลือลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดอีก แต่ต่อมาธนาคารเอาเปรียบด้วยการเขียนในสัญญาว่าถึงแม้เอาทรัพย์จำนองหลุด หากยังมีหนี้เหลือเท่าใด ลูกหนี้ก็ยังต้องชำระจนครบถ้วน ซึ่งเคยเป็นปัญหาว่าสัญญาที่เขียนยกเว้นกฎหมายเช่นนั้นทำได้หรือไม่ แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าทำได้ไม่เป็นโมฆะ จึงกลายเป็นต้นแบบสัญญาของธนาคารเรื่อยมา แต่ในเรื่องนี้เมื่อรัฐรับโอนหนี้เหล่านั้นมาและอยู่ในฐานะเจ้าหนี้เสียเองแล้ว รัฐยังจะสมควรเอาเปรียบลูกหนี้ให้ผิดไปจากที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขาวางเป็นหลักไว้แต่โบราณได้หรือ ที่สำคัญการเอาทรัพย์จำนองหลุดตามพระราชกำหนดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่สุดแต่ใจลูกหนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จะลองดูกันก่อนได้ไหมว่าคณะกรรมการจะกำหนดไว้อย่างไร ก่อนที่จะสรุปเอาง่าย ๆ เช่นนั้น


    นี่ยังเคราะห์ดีที่ในตอนแรกมีคนมาชวนผมให้ไปช่วยดูแล บสท.เหมือนกัน แต่ผมไม่อยากทำอะไรกับรัฐอย่างผูกพันกันแบบนั้นอีกแล้ว และไม่อยากเป็นขี้ปากคนว่าร่างกฎหมายเองไปเอาตำแหน่งเสียเอง ซึ่งผมไม่เคยทำ ผมจึงปฏิเสธ ต่อมาเมื่อคณะกรรมการมาขอให้ผมเป็นที่ปรึกษา ผมก็ปฏิเสธ เช่นกัน แต่ก็ยังไม่วายที่จะมากล่าวหากันได้ ตอนนี้ถึงขนาดไปบิดเบือนกันว่าผมเป็นที่ปรึกษา บสท.บ้าง บางทีก็ไปไกลจนถึงกับบอกว่าผมมีส่วนเข้าไปบริหารงานอยู่ใน บสท. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความโกรธของเจ้าหนี้มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว จึงบิดเบือนกันได้ถึงขนาดนั้น


    ผมจึงขอถือโอกาสนี้ประกาศให้ทราบเสียทั่วกันว่า ผมไม่ได้เป็นอะไรใน บสท.ทั้งสิ้น แต่ต่อไปนี้ถ้าใครมาให้ผมทำอะไรให้ ผมจะไม่ทำอย่างการกุศลอีก แต่จะคิดสตางค์ตามวิชาชีพของผม อย่างน้อยผมจะได้อุ่นใจได้ว่าทำงานเหนื่อยยากแล้วผมได้รับค่าตอบแทนจริง ๆ เผื่อใครมากล่าวหาอะไรจะได้คุ้มค่าบ้าง

    มีชัย ฤชุพันธุ์