ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    จะเลือกรัฐมนตรีอย่างไรดี

    วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นวันเลือกตั้งรอบที่สอง หลังจากนี้อีกไม่กี่วัน กกต.คงสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ครบทั้ง ๔๐๐ เขต และผู้ได้รับเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ อีก ๑๐๐ คน ต่อจากนั้นไปคงเป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล และหาตัวผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เพื่อจะได้ทำงานตามนโยบายที่ประกาศไว้ต่อไป ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล น่าจะมีความหนักใจอยู่ไม่น้อยว่าจะเลือกใครดี


    วันก่อนผมหาหนังสืออ่านไม่ได้ หันซ้ายหันขวาเห็นหนังสือพระไตรปิฎก สำหรับพระนวกะและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจัดพิมพ์และจัดจำหน่าย มีทั้งหมด ๙ เล่ม ลองหยิบเล่ม ๙ ซึ่งว่าด้วยพระอภิธรรมปิฎก (เขียนโดยอาจารย์บุญทัน มูลสุวรรณ) มาอ่าน ๆ ดู พบอะไรหลายอย่างในนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เลยเกิดความคิดว่าน่าจะนำบางเรื่องที่ใช้ได้กับเหตุการณ์บ้านเมืองของเรามาประยุกต์ดูบ้าง อาจจะเกิดประโยชน์แก่ผู้จะต้องสรรหาตัวบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีไม่น้อย


    ตามคำอธิบายพระไตรปิฎกดังกล่าว พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบบุคคลไว้กับสิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่ที่น่าสนใจและนำมาใช้ได้กับการสรรหาตัวรัฐมนตรี มี ๒ ประการ คือ การเปรียบกับฝน (วลาหก) และการเปรียบกับนักรบอาชีพ


    บุคคลที่ได้รับการเปรียบกับฝน มีอยู่ ๔ จำพวก คือ


    ๑. “ฟ้าร้อง ฝนไม่ตก” ได้แก่คนซึ่งชอบพูดในเรื่องราวต่าง ๆ แสดงตนถึงความรู้ความสามารถ แต่ไม่ยอมทำอะไรหรือไม่เคยทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน


    ๒. “ฝนตก ฟ้าไม่ร้อง” ได้แก่คนซึ่งเป็นผู้ทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายหรือที่คิดริเริ่มขึ้น แต่ไม่พูดโอ้อวดถึงการทำงานนั้น


    ๓. “ฟ้าร้อง ฝนตก” ได้แก่บุคคลที่ทั้งพูดด้วย และทำงานตามที่พูดด้วย


    ๔. “ฟ้าไม่ร้อง ฝนไม่ตก” ซึ่งเป็นพวกที่แย่ที่สุด คือพูดก็ไม่พูด ทำก็ไม่ทำ


    จะเลือกรัฐมนตรีที่อยู่ในประเภทไหนก็ลองคิดกันดู


    ส่วนบุคคลที่ได้รับการเปรียบกับนักรบอาชีพนั้น มี ๕ จำพวก คือ


    ๑. นักรบซึ่งเพียงแต่ได้เห็นฝุ่นคลุ้งขึ้นมาจากการเดินทัพของข้าศึก ก็เกิดอาการหวาดกลัว หยุดชะงัก ไม่สามารถจะนำทัพเข้าต่อสู้กับข้าศึกได้ เรียกว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้รบ ซึ่งท่านเปรียบได้เหมือนกับพระภิกษุ ที่เพียงแต่ได้ยินข่าวเล่าลือถึงหญิงงามก็เริ่มครุ่นคิดไปในทางไม่ดีไม่งาม ภิกษุประเภทนี้ย่อมไม่อาจดำรงตนเป็นพระภิกษุได้ต่อไป ต้องลาสิกขาบทไปในที่สุด


    ๒. นักรบผู้มองเห็นฝุ่นคลุ้งจากการเดินทัพของข้าศึก ยังมั่นคงอยู่ได้ แต่พอเห็นยอดธงของฝ่ายข้าศึกเท่านั้น ก็เกิดความระย่อ หยุดชะงัก ไม่สามารถจะนำทัพเข้าต่อสู้กับข้าศึกได้อีกต่อไป ซึ่งท่านเปรียบเหมือนพระภิกษุที่ได้ยินข่าวเล่าลือถึงสตรีงาม ยังไม่เกิดอาการหวั่นไหว แต่พอได้เห็นรูปโฉมโนมพรรณ ก็ทนอยู่ไม่ได้ต้องลาสิกขาบทไป


    ๓. นักรบที่เห็นฝุ่นคลุ้ง เห็นยอดธงของข้าศึกแล้วยังมั่นคงอยู่ได้ แต่พอได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครมของการเดินทัพของข้าศึก ก็เกิดอาการประหวั่นพรั่นพรึงจนไม่อาจสู้รบต่อไปได้ ซึ่งท่านเปรียบกับพระภิกษุซึ่งเมื่อได้ยินข่าวสตรีงาม ได้เห็นรูปร่างหน้าตาแล้ว ยังวางเฉยได้ แต่พอถูกสตรีงามนั้นทักทาย ยิ้มให้ ยั่วเย้า ความอดทนก็พังทะลาย จนต้องลาสิกขาบท


    ๔. นักรบที่เห็นฝุ่นคลุ้ง เห็นยอดธงของข้าศึก ได้ยินเสียงของฝ่ายข้าศึกแล้ว ยังตั้งมั่นอยู่ได้ ครั้นพอเข้ารุกรบ ถูกอาวุธของฝ่ายข้าศึกเพียงเล็กน้อย ก็เกิดความเกรงกลัวจนไม่อาจสู้รบต่อไปได้ ซึ่งท่านเปรียบเสมือนพระภิกษุที่วางเฉยได้แม้เมื่อถูกหญิงงามยิ้มหัวยั่วเย้า แต่ครั้นพอถูกเธอนั่งชิด นอนชิด และกอดรัด ก็ทนไม่ได้ต้องลาสิกขาบท


    ๕. นักรบที่เห็นฝุ่น เห็นยอดธง ได้ยินเสียงเดินทัพของข้าศึก แม้จนถูกอาวุธของฝ่ายข้าศึกแล้วก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะรบต่อไป บุคคลเช่นนี้ย่อมสามารถนำทัพจนเอาชนะสงครามได้ในที่สุด ซึ่งท่านเปรียบเสมือนกับพระภิกษุซึ่งแม้จะถูกหญิงงามนั่งชิด นอนชิด และกอดรัดแล้ว ยังสามารถเอาตัวรอด หลีกเร้นไปตามใจปรารถนาได้ พระภิกษุรูปนั้นย่อมสามารถบำเพ็ญธรรมจนบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้ในที่สุด


    การแก้ปัญหาของบ้านเมืองย่อมเหมือนกับการรบรุกกับข้าศึกศัตรูซึ่งจู่โจมมาอย่างรอบด้าน คนที่จะได้รับการมอบหมายให้มาทำงานจึงต้องเป็นคนที่มีความกล้าแกร่ง มุ่งมั่น ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ อย่างง่ายดาย แม้จะหาคนในประเภทที่ ๕ ไม่ได้ครบ ก็สมควรที่จะคัดเลือกเรียงตามลำดับขึ้นไป แต่หวังว่าคงไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเสียจนต้องเลือกคนประเภท ๑ - ๓


    ในส่วนที่ท่านเปรียบเข้ากับพระภิกษุนั้น ใช่ว่าจะไร้ความหมาย ถ้านึกเทียบสตรีเป็นเสมือนสิ่งยั่วใจในอำนาจที่จะมีมา และจะพาไปสู่การประพฤติมิชอบ ย่อมเป็นเครื่องเตือนสติในการเลือกคนได้ไม่น้อย


    ภาระหนักและเป็นภาระเฉพาะหน้าของรัฐบาลที่สำคัญประการหนึ่งคือการต่อสู้กับการคอรัปชั่นเพื่อขจัดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้


    ดังนั้น ถ้าไปเลือกใครก็ตาม ที่เพียงแต่ได้ยินเสียงเล่าลือแล้วเริ่มคิดแสวงหาจนไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ เอาไปไว้ในตำแหน่งไหนไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ย่อมนำพาให้คณะทั้งคณะพังทลายหรือมัวหมองได้ และการต่อสู้กับการคอรัปชั่นย่อมล้มเหลวเสียตั้งแต่ยังไม่ทันได้เห็นหน้าข้าศึก เพราะตัวไปเข้ากับข้าศึกเสียเอง


    นอกจากการแยกประเภทบุคคลดังกล่าวแล้ว ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านยังได้ชี้ให้เห็นถึงคนที่มี อกุศลเจตสิก ไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งถ้านำมาประยุกต์กับคนบางพวกบางคนในสังคมไทยเราจะพบว่ามีอยู่อย่างดาดดื่น บุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวย่อมไม่สมควรนำเข้ามาข้องแวะในแวดวงการเมืองในยุคที่ทุกฝ่ายกำลังต้องการปฏิรูป


    ลักษณะอกุศลเจตสิก ท่านกำหนดไว้ถึง ๑๔ ประการ แต่ขอนำมาประยุกต์ใช้กับลักษณะบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ในทางการเมืองเพียง ๘ ประการ คือ


    ๑. คนที่มีลักษณะหลงงมงาย (โมหะ) ไม่รู้หรือรับรู้สภาพแห่งปัญหาตามที่เป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นคนที่ไม่ชอบใช้ปัญญา


    ๒. คนที่มีลักษณะไม่ละอายต่อบาป คิดแต่เรื่องทุจริต (อหิริกะ) อันสืบเนื่องมาจากความไม่เคารพตนเอง เมื่อไม่เคารพตนเองเสียแล้วย่อมกระทำสิ่งใดก็ได้โดยไม่มีความละอายต่อบาปกรรม


    ๓. คนที่มีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรมหรือความชั่วหรือการทุจริต (อโนตตัปปะ) อันสืบเนื่องจากความไม่เคารพผู้อื่น เพราะเมื่อไม่รู้สึกเกรงกลัวว่าคนอื่นจะรู้เห็นการกระทำของตน จึงกล้าที่จะกระทำสิ่งไม่ดีไม่งามได้


    ๔. คนที่มีลักษณะฟุ้งซ่านในอารมณ์หรือความคิดต่าง ๆ (อุทธัจจะ) จนหาหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนไม่ได้ สุดแต่อารมณ์หรือกระแสจะพาไป เวลาทำงานนอกจากจะมีลักษณะจับจดแล้ว ยังอ่อนไหวง่ายต่อสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตน และง่ายต่อการที่จะถูกชักจูงไปในทางที่ผิด


    ๕. คนที่มีความต้องการและความปรารถนาอยากได้ในสิ่งต่าง ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด (โลภะ)


    ๖. คนที่มีลักษณะถือตัว โอ้อวด ทระนงตน คอยแต่จะเปรียบเทียบการกระทำของตนกับคนอื่นอยู่เสมอ (มานะ)


    ๗. คนที่มีความโกรธอยู่เป็นเจ้าเรือนแห่งตน คอยแต่จะคิดประทุษร้าย หรือมุ่งทำลายคนอื่นหรือสิ่งต่าง ๆ (โทสะ)


    ๘. คนที่มีแต่ความริษยา (อิสสา) ไม่พอใจหรือเป็นเดือดเป็นแค้นในสมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น


    ลักษณะทั้ง ๘ ประการดังกล่าว เป็นลักษณะที่ใครมีอยู่ในตน ย่อมยากที่จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ยิ่งมีมากประการเท่าใด ย่อมมีโอกาสทำงานสำเร็จได้น้อยลงเท่านั้น เป็นปฏิภาคต่อกัน


    ใครก็ตามที่อยู่ในแวดวงการเมืองแล้ว และรู้ว่ามีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในตัว สมควรที่จะค่อย ๆ ปรับจิตเพื่อขจัดอกุศลเจตสิกดังกล่าวให้ลดน้อยลง จึงจะประสบความสำเร็จในการทำงานการเมือง และสามารถนำพาบ้านเมืองไปสู่การปฏิรูปได้


    ส่วนคนที่มีหน้าที่คัดเลือกบุคคลเข้าร่วมทำงานกันเป็นรัฐบาล หากหลีกเลี่ยงคนที่มีลักษณะดังกล่าวได้ ย่อมมีเสถียรภาพและประสบผลสำเร็จจนได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนไปได้นานแสนนาน


    ขอให้โชคดี !! เพื่อคนไทยจะได้โชคดีด้วย

    มีชัย ฤชุพันธุ์