หมู่นี้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับคำกล่าวของผมอยู่ ๒-๓ เรื่อง ที่เมื่อเวลาปรากฏในสื่อมวลชนแล้ว ความหมายจะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ จึงขอโอกาสทำความเข้าใจดังต่อไปนี้
เรื่องแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ผมเขียนความคิดเสรี ในหัวข้อเรื่อง คนพันธุ์นี้หรือ...ที่จะมาบริหารบ้านเมือง? ซึ่งผมมุ่งหมายเฉพาะพวกที่ใช้ยาบ้าเป็นปัจจัยในการซื้อเสียงหรือเป็นค่าจ้างในการหาเสียง หรือใช้เงินที่ได้มาจากการค้ายาบ้าไปซื้อเสียง ต่อมาเมื่อไปพูดในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๓ อันเป็นงานทางวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติ ผมก็ได้เน้นเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง และเน้นด้วยว่า แม้ว่าการซื้อเสียงจะไม่ใช่เป็นของดี ทุกคนจะต้องช่วยกันขจัด แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป วันหนึ่งคงจะดีขึ้น แต่ใครก็ตามที่ใช้ยาบ้าเป็นปัจจัยในการซื้อเสียง เลวเสียยิ่งกว่าไฮยีน่า ทั้งหมดนั้นสื่อหลายฉบับได้นำไปสรุปกลายเป็นว่า ผมด่านักการเมือง (ดะไปหมด) ว่าเลวยิ่งกว่าหมา การสรุปเช่นนั้นอาจเป็นความสนุกสนาน ตื่นเต้น และอาจทำให้ขายดีขึ้นบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะคุ้มกันกับการทำหน้าที่ของสื่อ ที่สำคัญคอลัมนิสต์ก็อาศัยคำพาดหัวเหล่านั้นไปวิจารณ์ต่อไปอีก ความจริงเรื่องไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะเอามันแต่เพียงอย่างเดียว สื่อน่าจะช่วยกันขนัดคนที่ใช้ยาบ้าเป็นปัจจัยในการซื้อเสียงให้ได้ มิฉะนั้นบ้านเมืองเราจะหมดหวังโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าคนที่ใช้ยาบ้าเป็นปัจจัยหาเสียงได้รับเลือกตั้งเข้ามา บ้านเมืองจะเหลืออะไร
ในวันที่ไปแสดงปาฐกถาที่งานของสภาวิจัยเมื่อวันที่ ๑๐ ผมได้พูดถึงการขจัดคอรัปชั่น แล้วเล่าให้ฟังว่ามีพ่อค้ามาออกความเห็นว่า ถ้านายกรัฐมนตรีโกงกินไม่เป็น จะปกครองบ้านเมืองไม่ได้เพราะไม่มีบารมีและจะไม่มีทางรู้ว่าคนใกล้ชิดทำมิดีมิร้ายอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อโกงไม่เป็นก็เลยไม่รู้ว่าคนอื่นเขาโกงกันอย่างไร แล้วเขาก็ยกตัวอย่างนายกชวน หลีกภัย พอข่าวนี้รายงานในสื่อ คนที่ไม่ค่อยชอบนายกชวน หรือพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน ก็เลยรุมกันเล่นงานผม หาว่าผมไปประกาศว่า นายกชวนเป็นคนสุจริต
คนไทยส่วนหนึ่งเป็นอะไรกันไปหมดแล้ว สนใจแต่กะพี้ ไม่สนใจแก่นของเรื่อง ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่านายกชวนเป็นคนสุจริตหรือไม่ (เพียงแต่เล่าตามที่นักธุรกิจเขาพูด) ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าสังคมไทยเรากำลังเปลี่ยนแปลง ยอมรับนับถือการโกงกินกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะต้องมีและเกิดขึ้น เพื่อที่จะสร้างบารมีในการทำงาน ถ้าสังคมเปลี่ยนไปในแนวทางนี้มากๆ ขึ้น การพัฒนาประเทศในทุกเรื่องราวจะไม่มีทางเป็นไปได้ การปฏิรูปการเมืองก็จะล้มเหลว และบรรดานักธุรกิจทั้งหลายที่พออกพอใจต่อความสำเร็จในธุรกิจ ต่อไปก็จะไม่เหลืออะไร เพราะการทุจริตนั้นไม่มีวันที่จะอยู่ในอัตราคงที่ การเรียกร้องนับวันแต่จะอัตราสูงขึ้นๆ และเยาวชนจะถูกหล่อหลอมให้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นของถูกต้อง
นั่นคือประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะบอกให้สังคมรับรู้ เพื่อที่จะช่วยกันคิดอ่านแก้ไข เพราะคงยากที่จะแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งเพียงลำพัง
เรื่องต่อมาที่สื่อนำไปพาดหัวเป็นทำนองว่า ผมกล่าวหาว่า ปปช.โดยเฉพาะประธาน เอียงกระเท่เร่ ในการสืบสวนสอบสวนกรณีคุณทักษิณ บางฉบับก็ใช้คำว่า "จวก" บางฉบับก็ใช้คำว่า "เฮี้ยน" บางคนก็ใช้คำว่า "ฉะ"
เรื่องนี้อาจจะน่าเห็นใจสื่อมากกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้น สืบเนื่องจากมีผู้สื่อข่าวสตรีสองคนอ้างว่าทำรายการวิทยุ ๙๙.๕ มาขอสัมภาษณ์โดยตกลงว่าจะสัมภาษณ์เรื่องเบาๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในทางความเป็นจริงผมสังเกตเห็นว่าเธอคุยเรื่องเบาๆ เพียงนิดเดียว แต่ชวนคุยเรื่องการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีข้อตกลงกันว่าส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองจะเป็นเรื่องของการคุยสู่กันฟัง ในระหว่างที่คุยกันเธอก็เปิดเทปบ้างปิดเทปบ้าง ซึ่งผมมิได้ใส่ใจนัก แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้อยคำที่ว่า ประธาน ปปช. เอียง หรือลำเอียงนั้น มิใช่เป็นคำของผม เป็นคำของเธอคนใดคนหนึ่งที่เกริ่นนำเรื่องขึ้นมา เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของประธาน ปปช.
ในเรื่องนี้ผมได้ให้ความเห็นว่า น่าเป็นห่วงสถาบัน ปปช. เพราะถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปปช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไปสอบข้อเท็จจริง และจนถึงวันนี้ คณะอนุกรรมการยังไม่ได้สรุปผลเป็นประการใดทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประธาน ปปช. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นระยะๆ (ท่านอ้างว่าท่านตอบคำถามของสื่อมวลชน) เท่าที่จำได้ในสาระสำคัญคือ
- เมื่อมีปัญหาว่าทรัพย์สินที่ไม่ได้แจ้งนั้นเป็นของภรรยา จะมีผลเป็นประการใด ประธาน ปปช. ก็ตอบว่า สามีภรรยาเป็นคนๆ เดียวกันจะมาอ้างอย่างนั้นไม่ได้
- เมื่อมีปัญหาว่าเลขานุการไม่รู้กฎหมาย นึกว่าต้องแจ้งแต่เฉพาะที่มีชื่อของผู้ดำรงตำแหน่ง เลยไม่ได้แจ้งทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อคนอื่น ท่านประธาน ปปช. ก็ตอบว่า จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ มิฉะนั้นไปฆ่าคนตายแล้วก็มาอ้างว่าไม่รู้ว่ากฎหมายห้ามไว้
ผมได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้สื่อข่าวทั้งสองคนว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นนี้จะเป็นอันตรายต่อ ปปช. เองในอนาคต เพราะ ปปช. จะต้องมั่นคงในหลักการ ต้องให้ความเป็นธรรม และให้โอกาสในการต่อสู้ อย่างแท้จริงและเต็มที่ ไม่ตัดสินอะไรไปตามกระแสหรือตามแรงบีบคั้น ไม่ว่าจะมาจากที่ใด ถ้าสอบสวนทวนความแล้วว่าใครผิด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร จะมีใครมาบีบเค้นอย่างไร ก็ต้องวินิจฉัยว่าผิด
แต่ถ้าสอบสวนแล้วว่าไม่ผิด ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไร มีกระแสบีบคั้นจากประชาชนมากน้อยเพียงใด และอย่างไร ก็ต้องวินิจฉัยว่าไม่ผิด และเมื่อ ปปช. วินิจฉัยเป็นประการใดแล้วสังคมต้องยอมรับ
แต่ถ้าเมื่อไร ปปช. ออกมาแสดงความเห็นก่อนที่จะวินิจฉัย จะสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่สังคม และจะมีผลต่อความคิดเห็นของกรรมการท่านอื่นๆ และมีผลต่อกระแสสังคมที่จะคล้อยตาม อันจะกระทบกระเทือนถึงความน่าเชื่อถือของ ปปช. ต่อไปในอนาคตได้
ผมยกตัวอย่างให้ฟังว่า เหมือนกับคดีอาญาในศาล ถ้าผู้พิพากษาที่จะพิจารณาคดี หรืออธิบดีผู้พิพากษาของศาลนั้น ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จำเลยผิดแน่ๆ หรือไม่ว่าจำเลยจะต่อสู้ว่าอย่างไร ผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาก็ออกมาตอบโต้ว่า ที่ต่อสู้นั้นฟังไม่ขึ้น อย่างนี้จำเลยจะเหลืออะไร จะต่อสู้ได้อย่างไร หลักประกันแห่งความเป็นธรรมจะอยู่ที่ไหน แม้ว่าจำเลยจะกระทำผิดจริง แต่คำพิพากษาของศาลนั้นก็จะถูกตั้งข้อสงสัยเสียแล้ว ต่อไปใครจะวางใจในความเที่ยงธรรมของศาล นั่นคือตัวอย่างที่ผมยกให้ผู้สื่อข่าวทั้งสองฟัง (ดูเหมือนไม่ได้พูดเลยว่า ปปช. ทำหน้าที่เป็นเพียงอัยการ ไม่ใช่ศาล ผมก็ไม่รู้ว่าเธอทั้งสองไปแปลเอามาจากความตอนไหน เพราะความจริงนั้น ปปช. ทำหน้าที่เหมือนศาลชั้นต้นด้วยซ้ำไป)
เรื่องสุดท้าย ที่ดูจะแย่กว่าเพื่อน ที่ผู้สื่อข่าวสองคนนั้นไปสรุปแจกกันอย่างไรไม่ทราบได้ กลายเป็นว่า ผมทำนายทายทักว่า ถ้าคุณชวน คุณบรรหาร คุณชวลิต มาเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนจะปั่นป่วน จะเดินขบวนกันขับไล่กันในสามเดือนหกเดือน แต่ถ้าคุณกรหรือคุณทักษิณมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะอยู่ได้นานกว่าจึงจะถูกขับไล่
ฟังดูแล้วก็น่าตระหนกตกใจ และถ้าผมเป็นท่านที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง ๕ ท่าน ผมก็คงโกรธและเกลียดขี้หน้าคนพูดไม่น้อยทีเดียว เป็นวิธีที่ไม่น่าเอ็นดูเลยสำหรับผู้สื่อข่าวทั้งสองคนนั้น ที่ผมคิดว่าผมได้ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจพอสมควร และได้พยายามอธิบายอะไรๆ ให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา ไม่น่าจะเอาความรู้สึกส่วนตัวของตัวเองไปปะปนกับความเห็นของผมจนสรุปข่าวเป็นตรงกันข้ามเช่นนั้น
ความจริงมีเพียงว่า ผู้สื่อข่าวถามว่าภายหลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ผมก็บอกว่า เมื่อเลือกตั้งแล้ว ปัญหาทั้งปวงที่มีอยู่และดูเหมือนสงบนิ่งลงในปัจจุบันนั้นจะกลับฟื้นขึ้นมา บ้านเมืองจะลำบากมากขึ้น เพราะปัญหาต่างๆ ยังหมักหมมอยู่ หนี้ NPL ยังแก้ไม่หมด ปัญหาสถาบันการเงินยังคงคาราคาซังอยู่ ราคาน้ำมันไม่รู้จะขึ้นไปอีกเท่าไร เงินบาทจะอ่อนตัวลงอีกอย่างไร ที่สำคัญ เศรษฐกิจของโลกทำท่าว่าจะอ่อนตัวลง ไต้หวันกำลังเกิดปัญหาคล้ายๆ กับเรา (ในเรื่อง NPL) ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยและจะทำให้รัฐบาลที่เข้ามาลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่คุณชวน คุณบรรหาร และคุณชวลิต จะเสียเปรียบ เพราะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์ของช่วงการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ผมใช้คำว่า Honeymoon period) ดังนั้นทันทีที่เข้ามาบริหารประชาชนก็จะจับตามดูและเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาให้ได้ในทันที ส่วนคุณกรกับคุณทักษิณจะได้เปรียบ เพราะยังไม่เคยเป็น ดังนั้นประชาชนจะให้เวลาพอสมควรแล้วจึงจะเร่งเร้าเอา อย่างน้อยๆ ก็จะได้เวลาตั้งตัว ๓-๔ เดือน แต่สามคนแรกจะไม่ได้เวลาตั้งตัวดังกล่าว ผมเคยพูดด้วยความเห็นใจ (ณ ที่อื่น) ด้วยซ้ำไปว่า ถ้าอยากรู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็ให้ไปดูดวงของคนที่แข่งๆ กันอยู่ว่า ถ้าใครเคราะห์ร้ายหนัก คนนั้นคงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาบ้านเมืองไม่ใช่จะแก้ให้เห็นผลได้ในทันตา
สำหรับบรรดาคอลัมนิสต์ทั้งหลายที่คิดเห็นไปว่า ผมคงรู้อะไรดีๆ กว่าคนอื่น จึงทำนายทายทักอย่างที่เป็นข่าวนั้น ก็ขอได้โปรดรับทราบว่า ผมไม่ได้รู้อะไรดีไปกว่าท่านทั้งหลายหรอก และผมไม่ได้ทำนายทายทักอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใดทั้งสิ้น
|