ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ประชาพิจารณ์

    ใคร ๆ ได้เห็นภาพเหตุการณ์การทำประชาพิจารณ์ที่จังหวัดสงขลาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ได้นำมาออกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้ว คงจะมีความรู้สึกแตกต่างกันไปตามทัศนคติและภูมิหลังของแต่ละคน บางคนอาจรู้สึกชื่นชมต่อวิวัฒนาการแห่งการมีส่วนร่วมและการต่อสู้ของประชาชน พร้อมทั้งตำหนิรัฐบาลและคณะผู้ทำประชาพิจารณ์ บางคนอาจเห็นว่าประชาชนเหล่านั้นและ NGO ทำผิดที่ใช้กำลังรุนแรงและขัดขวางการทำประชาพิจารณ์ และไม่พอใจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ไม่ระงับหรือปราบปรามความรุนแรงนั้น


    แต่ไม่ว่าใครจะรู้สึกอย่างไร ที่แน่ ๆ ก็คือสังคมไทยตกต่ำลงไปอีกระดับหนึ่ง


    เพราะไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ของดี เพราะต่างฝ่ายต่างยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์แห่งการทำประชาพิจารณ์ เมื่อคิดว่าต้องทำให้ครบถ้วน จึงทำไปตามที่ระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็กลับไปนึกเสียว่าการทำประชาพิจารณ์เป็นเงื่อนไขของการทำโครงการ ถ้าทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้วโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางมิให้เกิดประชาพิจารณ์ขึ้น


    รวมความว่าทั้งสองฝ่ายต่างสนใจในกระพี้ โดยไม่นึกถึงแก่นหรือประโยชน์ของประชาพิจารณ์


    หลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มีอยู่ ๓ มาตรา คือ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๐


    มาตรา ๕๖ คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ…เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง และถ้าจะทำอะไรที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจะต้องมีการศึกษาโดยองค์กรอิสระและรับฟังความเห็นขององค์กรอิสระประกอบด้วย มาตรา ๕๙ สร้างสิทธิของบุคลที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่กระทบต่อ….คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มาตรา ๖๐ สร้างสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการ..อันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน


    สรุปได้ว่า ถ้ารัฐจะทำอะไรที่กระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชน รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้ และถ้าการที่จะทำนั้นมีผลร้ายแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็จะต้องศึกษาหาทางแก้ไขเสียก่อน ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ไม่พึงกระทำ


    กล่าวอีกนัยหนึ่งการที่รัฐจะทำอะไรจะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ โดยไม่สนใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือชุมชน (ไม่ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเท่าไร) ดังเช่นที่เคยทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ไม่ได้อีกแล้ว


    จริงอยู่โครงการหรือกิจกรรมใด ที่จะเป็นประโยชน์ของประชาชน หรือประเทศชาติ เป็นส่วนรวมทั้งในระยะใกล้และระยะไกล รัฐยังคงต้องกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


    แต่การกระทำนั้นต้องไม่กระทำบนความทุกข์ยากของบุคคล หรือบีบบังคับให้บุคคลต้องเสียสละอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว หรือเปลี่ยนแปลงฐานะจนเขาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามมาตรฐานที่เขามีอยู่เดิม เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันประเทศให้พ้นจากอริราชศัตรู ในกรณีเช่นนั้นแม้จะทุกข์ยากหรือสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างไรก็คงต้องยอมกัน


    การที่ประชาชนจะรู้ว่าการกระทำของรัฐเป็นประโยชน์ส่วนรวมจริงหรือไม่ และคุ้มค่าหรือไม่ และการที่จะรู้ว่าการกระทำในเรื่องใดสร้างความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่บุคคลหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด นั้น รัฐจำเป็นจะต้องให้ข้อมูล ชี้แจง แสดงเหตุผล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนที่จะทำกิจกรรมหรือโครงการนั้น เพื่อนำไปชั่งน้ำหนัก และหาทางเยียวยาความเดือดร้อนหรือความทุกข์ยากของประชาชนเสียก่อนที่จะดำเนินการ


    ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “ประชาพิจารณ์”


    และหลักสำคัญของประชาพิจารณ์มิใช่จะแสวงหาความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อโครงการ หากแต่อยู่ที่จะแสวงหาว่าเมื่อทำโครงการแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร หรือสร้างความเดือดร้อน หรือความคับแค้นใจ อะไรให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะได้นำมาชั่งน้ำหนักว่าสมควรทำโครงการนั้นหรือไม่ และหากสมควรทำจะต้องแก้ไขความเดือดร้อนหรือความคับแค้นใจของประชาชนได้อย่างไร เพื่อให้เขาอุ่นใจว่ารัฐได้ดูแลเขาตามสมควร


    จำนวนผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ใช่สาระสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ผลกระทบหรือความเดือดร้อนนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และจะมีหนทางป้องกันหรือแก้ไขหรือไม่ เช่น คนทั้งเมืองเห็นด้วยกับโครงการ มีเพียงคนเดียวไม่เห็นด้วยเพราะมีหลักฐานว่าถ้าทำโครงการนั้นขึ้น ประชาชนในละแวกนั้นจะได้รับอันตรายจากพิษร้ายที่เกิดจากโครงการ รัฐจะต้องนำเหตุผลนั้นมาศึกษาว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงและไม่มีหนทางป้องกันหรือแก้ไข รัฐก็ไม่พึงทำโครงการนั้น


    การให้ข้อมูล ชี้แจง หรือแสดงเหตุผล รัฐจะทำด้วยวิธีใดก็ได้ ตราบเท่าที่สามารถทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างทั่วถึง ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นคงจะต้องใช้หลาย ๆ ทางจนแน่ใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความคิดเห็น ตลอดจนผลกระทบหรือความทุกข์ยากที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนมาอย่างครบถ้วนแล้ว


    การทำเพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการที่กฎกติกากำหนดไว้ โดยไม่สนใจว่าจะได้รับทราบถึงความคับข้องใจหรือความทุกข์ยากที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างครบถ้วนหรือไม่ จึงเป็นเพียงแต่กระพี้ มิใช่แก่นแท้ และในที่สุดความคับข้องใจหรือความทุกข์ยากของประชาชนย่อมไม่ได้รับการแก้ไข และโครงการหรือกิจกรรมนั้นย่อมเกิดปัญหาขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


    ความคิดเดิมของภาครัฐ ที่นึกว่าเมื่อเป็นเรื่องของส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติแล้ว คนส่วนน้อยจะต้องเสียสละนั้น แม้ในปัจจุบันจะยังใช้ได้ แต่ระดับแห่งความเสียสละจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของโลก แต่ก่อนเราอาจคิดเวนคืนที่ดินของราษฎรมาเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวม โดยชดใช้ค่าที่ดินให้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้ต้นทุนไม่สูงจนเกินไป และเมื่อชดใช้แล้วก็แล้วกันไป หรือการทำคลองส่งน้ำเพื่อประโยชน์เกษตรกรรมถ้าเป็นเรื่องโครงการขนาดเล็ก รัฐยังคิดว่าควรเป็นเรื่องเสียสละของประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะตนจะได้รับประโยชน์โดยตรง


    ความคิดดังกล่าวจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะเมื่อรัฐจะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม หรือเพื่อทำกิจการสาธารณูปโภค สิ่งที่รัฐจะขอให้ประชาชนเสียสละในปัจจุบันควรมีเพียงการบังคับให้เขาต้องขายที่ดินให้แก่รัฐ (คือการเวนคืน) แต่รัฐไม่มีสิทธิ์จะบีบบังคับในเรื่องราคา หรือละเลยต่อความเสียหายอื่นที่เกิดขึ้น หรือใช้เล่ห์อุบายหน่วงเหนี่ยวการชำระราคาอย่างที่เป็นอยู่ เช่นเอาที่ดินของเขาไปเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่มาชำระเงินค่าเสียหายในวันนี้ อย่างนี้เท่ากับเป็นการทำให้เขาสิ้นเนื้อประดาตัวและต้องระหกระเหินมาเป็นเวลาถึงสิบปี พอได้รับเงินมาก็ซื้ออะไรไม่ได้แล้ว ยิ่งรัฐนำที่ดินของเขาไปเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ รัฐยิ่งต้องนำราคาที่ดินที่เป็นธรรมไปรวมเป็นต้นทุน เพื่อให้ผู้ใช้บริการช่วยกันเฉลี่ยรับผิดชอบ หรืออย่างกรณีโครงการชลประทานขนาดเล็ก ที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกร รัฐจะอ้างว่าในเมื่อทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเหล่านั้นแล้ว ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่ควรจะได้รับค่าชดเชย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับการทำโครงการใด ๆ ในเมือง คนเมืองไม่เคยต้องเสียสละอะไร รอรับแต่บริการเพียงอย่างเดียว


    นอกจากในเรื่องของการชดเชยทรัพย์สินแล้ว รัฐยังจะต้องดูแลให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติตามมาตรฐานที่เขาเคยมีอยู่ มิใช่ถือเอาว่าเมื่อได้ให้เงินค่าชดเชยไปแล้ว เขาจะมีความเป็นอยู่อย่างไร ทำมาหากินได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกังวลสนใจอีก


    ถ้าไม่เปลี่ยนทัศนคติในเรื่องเหล่านี้ หรือไม่ดูแลความคับข้องใจหรือความทุกข์ยากให้ทั่วถึง อย่างชนิดที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ปัญหากระทบกระทั่ง และความไม่เข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชนจะไม่มีวันจบสิ้น และนับวันแต่จะรุนแรงยิ่งขึ้น


    แต่ชนิดที่เวนคืนที่ดินไปสิบยี่สิบปีแล้ว เพิ่งมีคนมาบอกว่าเสียโอกาสในการทำมาหากิน จึงเรียกร้องให้รัฐต้องชดใช้ให้นั้น ก็คงจะเกินไป แต่แม้กระนั้นรัฐก็ยังคงต้องลงไปดูแลเพื่ออุ้มชูให้เขาอยู่ได้และมีช่องทางทำมาหากินอยู่นั่นเอง จะปฏิเสธว่าธุระไม่ใช่ คงไม่ได้


    ในขณะเดียวกัน ใครก็ตามที่คิดขัดขวางหรือพยายามล้มล้างกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็น ก็เป็นการไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกลายเป็นผู้สะกัดกั้นมิให้ความคับข้องใจและความทุกข์ยากของประชาชนที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงการหรือกิจกรรมของรัฐได้รับการแก้ไข


    คนที่ทำหรือไปชี้นำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าต้องล้มล้างกระบวนการการรับฟังความคิดเห็น อาจภูมิใจในผลสำเร็จ (บางคนอาจถือโอกาสบันทึกเป็นผลงานของตนเพื่อของบประมาณจากผู้สนับสนุนจากองค์กรหรือบุคคลทั้งในและต่างประเทศ หรือใช้เป็นเกียรติ์ประวัติในการลงสู่สนามการเมืองในวันหน้า)


    แต่จะคิดบ้างไหมว่าความภูมิใจนั้นอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อประชาชนไม่มีโอกาสรับฟังข้อมูลและเหตุผล และบอกเล่าถึงความกริ่งเกรงต่อความทุกข์ยากที่เขาหรือชุมชนของเขาจะต้องประสบอันเนื่องมาจากการทำโครงการนั้น ๆ ความทุกข์ยากดังกล่าวจึงไม่ได้รับการนำไปชั่งน้ำหนัก รวมทั้งการเยียวยาหรือชดเชยอย่างเป็นธรรม


    จริงอยู่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิใหม่ ๆ หรือขาดวิธีการที่จะนำความทุกข์ของตนมาตีแผ่อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างได้รับการสนใจจากรัฐหรือหน่วยราชการ และประชาชนยังจำเป็นต้องได้รับการชี้แนะถึงวิธีการหรือกุศโลบายในการรักษาสิทธิ์ของตนจากคนมีความรู้ ความเข้าใจ มีความสนใจในการช่วยเหลือประชาชน แต่คนที่จะมาเป็นที่พึ่งของประชาชนดังกล่าวได้ต้องเข้าใจถึงสิทธิ์และขบวนการต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เพื่อว่าถ้าประชาชนเข้าใจผิดจะได้ชี้แจงให้เข้าใจและดำเนินการรักษาสิทธิ์อย่างถูกวิธี ไม่ใช่ใช้วิธีกระตุ้นหรือส่งเสริมในทางที่ผิดจนในที่สุดต่างก็ลืมเลือนถึงวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่จะเกิดขึ้น


    แถมยังสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นแก่สังคม


    ประการสำคัญที่สุด ต้องเข้าไปด้วยเจตนาที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจ ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่เข้าไปเพื่อสร้างความเด่นดัง สร้างผลงาน หรือสร้างประวัติการต่อสู้เพื่อนำไปใช้ในเวทีการเมืองในอนาคต และมิใช่เพียงเพื่อความสะใจในอารมณ์ นอกจากนั้นคนที่มีความจริงใจ จะต้องคอยระแวดระวังมิให้คนหรือองค์กรที่ไม่สุจริตเข้ามาอาศัยเหตุการณ์หรือสถานการณ์สร้างความเด่นความดังหรือผลงานให้ตนเอง จนพลอยเสียกันไปหมด


    การทำงานที่เกี่ยวกับประชาชนหมู่มากนั้น จะอาศัยแต่ความรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูกฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามความคิดหรือความรู้สึกของตน คงไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างจะต้องพยายามเข้าใจความรู้สึกและเคารพในความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งรับรู้ถึงข้อจำกัดของกันและกัน มิฉะนั้นจะเกิดการรบราฆ่าฟันจนตายไปทั้งสองฝ่าย โดยประชาชนไม่ได้อะไรเลย

    มีชัย ฤชุพันธุ์