การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ได้ผ่านขบวนการของทั้งสองสภาเรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือขั้นตอนสุดท้ายแต่เพียงว่า จะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในประเด็นใดบ้าง และศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าอย่างไร
ในระหว่างที่มีการพิจารณาของแต่ละสภา ประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรง และนำไปสู่การส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความ คือ ประเด็นที่ว่าจะให้อำนาจแก่ กกต. ที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แก่ผู้สมัครที่ไม่สุจริตได้มากน้อยเพียงใด และ กกต.ควรจะมีอำนาจเด็ดขาดหรือไม่
ในที่สุดประชาชนถูกทำให้เชื่อว่า กกต.มีอำนาจเช่นว่านั้น และคงจะสามารถดำเนินการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้
ในการพิจารณาวันสุดท้ายของวุฒิสภา ได้มีการเติมข้อความ ไว้ในมาตรา ๑๑๓/๑ กำหนดให้ สส.ที่ได้รับเลือกมาจากเขตเลือกตั้ง และพรรคการเมืองของ สส.ผู้นั้น ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการเลือกตั้งซ่อม หากไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
เมื่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงทีท่าไม่เห็นด้วย สื่อมวลชนและประชาชนบางกลุ่ม ก็แสดงความโกรธและไม่พอใจ ถึงขนาดมีการปลุกระดมให้ต่อต้าน
ความสนใจของคนทั่วไป จึงมุ่งสู่ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียว โดยไม่มีใครสนใจอีกว่า เราเสียเวลา เสียเงินเสียทอง ไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งทำไม และได้มีการแก้ไข ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้วหรือไม่
หลักสำคัญของการดำเนินการ แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง มี ๓ ประการ คือ
๑. ทำอย่างไรจึงจะให้การเลือกตั้งดำเนินการไปได้โดยไม่ล่าช้า
๒. ทำอย่างไรจึงจะให้การเลือกตั้ง ไม่ซ้ำรอยการเลือกตั้ง สว. ซึ่งนอกจากจะล่าช้าแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คนที่ถูก กกต.วินิจฉัยว่าไม่สุจริต กลับมารับเลือกตั้งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะได้รับเลือกตั้ง
๓. ทำอย่างไรจึงจะอำนวยความสะดวกกับประชาชน และแก้ไขข้อขัดข้องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการดำเนินการเลือกตั้งได้
เมื่อสภาทั้งสองพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ตัดโน่น เติมนี่ แล้ว คงเหลือที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพียง ข้อ ๓ ข้อเดียว พร้อมทั้งข้อความที่ทำให้สะใจอีกหนึ่งเรื่อง คือเรื่องการชดใช้เงินค่าเลือกตั้งซ่อม โดยอ้างเหตุผลกันว่า การที่ สส.ที่มาจากเขตเลือกตั้งไปเป็นรัฐมนตรี ทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ ประชาชนเสียหาย และไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชน ทั้งยังสรุปเอาด้วยว่า ประชาชนจากเขตเลือกตั้งนั้น ต้องเสียเวลาไปลงคะแนนเลือกตั้งกันใหม่
นักอภิปรายทั้งหลายแน่ใจแล้วหรือว่า ประชาชนเขามีเจตนารมย์ ที่จะไม่ให้ สส.ที่เขาเลือกมา ไปเป็นรัฐมนตรี ก็แต่ก่อนเมื่อไม่นานมานี้ เห็นเดินขบวนจะฆ่าแกงกันแทบตาย โดยอ้างว่าเป็นเจตนารมย์ของประชาชน ที่จะให้ สส.เท่านั้น เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรี อะไรที่ผิดไปจากนี้ ล้วนเป็นเผด็จการ ยอมกันไม่ได้ นี่เพียงไม่กี่ปีเจตนารมย์ของประชาชน ที่อ้างถึงถูกเปลี่ยนไปเสียแล้ว หรือ การไม่ยอมให้ สส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี กลับกลายเป็นประชาธิปไตย อันบริสุทธิ์อย่างหน้าตาเฉย
จะเคยมีใครคิดกันบ้างไหมว่า ประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น เขาอาจดีใจ และพร้อมที่จะไปเลือกตั้งอีกกี่หนก็ได้ ถ้าหากคนที่เขาเลือกไปกับมือ ได้ไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เพราะคนเหล่านั้น จะสามารถกลับไปสร้างความเจริญ ให้กับเขตเลือกตั้งนั้น ได้ดีกว่าเป็น สส.ธรรมดา หรือดีกว่าคนที่มาจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งเขาไม่ได้เป็นคนเลือกโดยตรง
คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนั้น พรรคต่างหากเป็นคนเลือกแล้ว ใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อ บางคนประชาชนก็ชอบ แต่บางคนประชาชนอาจไม่ชอบ และบางคนอาจถึงขั้นเกลียดด้วยซ้ำไป แต่เมื่อบังคับให้ต้องเลือก บัญชีหนึ่งบัญชีใดเพียงบัญชีเดียว ก็จำใจต้องเลือกไป ที่สำคัญคนที่มาจากบัญชีรายชื่อ ย่อมไม่มีความผูกพันกับท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง
แล้วทำไมคนที่เขาเลือกมากับมือ จึงจะต้องถูกลงโทษเช่นนั้น ทีคนที่จู่ ๆ ก็ลาออกจากพรรค จนต้องเลือกตั้งซ่อม หรือขี้เกียจไม่มาประชุม จนพ้นจากสมาชิกภาพ และต้องเลือกตั้งซ่อม กลับไม่ต้องเสียเงินชดใช้ค่าเลือกตั้ง
น่าจะมีใคร ลองสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดูบ้างว่า ถ้าคนที่เขาเลือกมาจากเขตเลือกตั้ง ได้ไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เขาจะดีใจหรือเสียใจ และเขาอยากให้คนของเขา ต้องชดใช้ค่าเลือกตั้งหรือไม่ แต่ควรต้องสำรวจจากคนต่างจังหวัด มากกว่าคนในกรุงเทพ เพราะคนในกรุงเทพดีแต่เรียกร้อง และส่งเสียงดังเพียงอย่างเดียว ถึงเวลาไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยังล้าหลังกว่า คนในต่างจังหวัดมากนัก
สำหรับวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการแรก นั้น ตามร่างเดิมของรัฐบาล ได้วางมาตรการไว้ ดังนี้
๑. ให้อำนาจ กกต.ที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่ไม่สุจริต โดยสามารถเพิกถอนได้ ในห้วงเวลานับแต่วันสมัคร จนถึงการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา ๘๕/๑ และมาตราต่อ ๆ ไป)
๒. เมื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้อำนาจ กกต.สั่งเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้น เช่น ในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัคร ๗ คน หมายเลข ๑ ถึง ๗
ถ้าก่อนวันเลือกตั้ง ปรากฏว่าผู้สมัครหมายเลข ๑ และ ๒ กระทำการทุจริต กกต.จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของทั้งสองคน คนทั้งสองจึงมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และเป็นผู้สมัครไม่ได้ แต่เนื่องจากทั้งสองคน ได้สมัครไว้แล้วอย่างถูกต้อง จึงต้องให้อำนาจ กกต. สั่งเพิกถอนการสมัครของบุคคลทั้งสอง เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครหมายเลข ๓ - ๗ โดยไม่มีผู้สมัครหมายเลข ๑ และ ๒ อยู่ในรายชื่อผู้สมัครอีก (มาตรา ๓๔/๑)
๓. ถ้าพบการทุจริต ภายหลังจากการประกาศผล และผู้ทุจริตกลายเป็น สส.ไปแล้ว ได้ให้อำนาจ กกต.ที่จะไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น ได้ภายใน ๒ ปี (วุฒิสภาไปแก้ไขเหลือ ๑๘๐ วัน แต่เมื่อมีการประชุมกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภา ได้มีการออมชอมกันแก้ไขเป็น ๑ ปี) ซึ่งเมื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ย่อมเป็นเรื่องของสภา ที่จะดำเนินการให้ผู้นั้น พ้นจากสมาชิกภาพ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
๔. กฎหมายปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ว่า ในการนับคะแนนนั้น ต้องรอให้หีบบัตรทุกหีบ มาถึงสถานที่นับคะแนนแล้ว จึงจะเริ่มต้นนับได้ จึงเกิดปัญหาว่า ถ้าเกิดมีหีบบัตรสัก ๒ - ๓ หีบยังมาไม่ถึง หรือไม่มาเลย (เพราะหายไปในระหว่างทาง) การนับคะแนนย่อมเริ่มต้นไม่ได้ ในระหว่างที่จะต้องเก็บหีบบัตรไว้นั้น จะเก็บกันอย่างไร ถ้าเกิดความเสียหาย หรือสูญหายขึ้นจะทำอย่างไร จึงได้แก้ไขเป็นว่า ถ้าหีบบัตรมาถึงที่นับคะแนน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแล้ว ก็ให้เริ่มนับได้ และถ้าหีบบัตรที่ยังมาไม่ถึง มีเพียง ๒ - ๓ หีบ หากคะแนนของคนได้รับเลือกชนะขาดลอย เป็นหมื่น ๆ คะแนน กกต.ก็จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องพะวงต่อหีบบัตรที่หายไป
ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาทั้งสอง ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการดังกล่าว เป็นดังนี้
(๑) มาตราการที่ ๑ ไม่ได้แก้ไขในสาระสำคัญมากนัก แต่สมาชิกวุฒิสภาก็ติดใจว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
(๒) มาตรการที่ ๒ ที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ตัดคนไม่สุจริต ออกจากการเป็นผู้สมัคร ได้มีการแก้ไขโดยเปลี่ยนจากอำนาจของ กกต. ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ที่จะดำเนินสืบสวนสอบสวน เมื่อเห็นว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามจริงก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ไม่ยื่นคำร้อง หรือเมื่อยื่นแล้วแต่ศาลฎีกา พิจารณาไม่เสร็จก่อนวันเลือกตั้ง ก็ให้เรื่องเป็นอันยุติกันไป ผู้สมัครคนนั้น ก็ยังมีสิทธิได้รับเลือกตั้งอยู่ตามเดิม ดังนั้นถ้าผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ผู้สมัครคนนั้นได้รับคะแนนสูงสุด กกต.ก็คงได้แต่จะไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่คนนั้นก็คงยังเป็นผู้สมัครอยู่ตามเดิม แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง สว. ด้วยวิธีการตัดต่อแบบนี้ การมีมาตรการที่ ๑ จึงไม่ค่อยเหลือความหมายอะไรมากนัก
(๓) สำหรับมาตรการที่ ๓ ที่ให้สามารถเริ่มต้นนับคะแนนได้ เมื่อหีบบัตรมาถึงสถานที่นับคะแนนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแล้ว นั้น สภาผู้แทนราษฎรได้ตัดออกไป จึงต้องกลับไปใช้บทบัญญัติของเดิม ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง คือจะเริ่มต้นนับคะแนนได้ต่อเมื่อ หีบบัตรทุกหีบมาถึงสถานที่นับคะแนนแล้ว หากขาดไป ๑ - ๒ หีบ จะเริ่มต้นนับคะแนนไม่ได้เลย และถ้าหีบเหล่านั้นหายไป จึงเป็นอันไม่ต้องนับ คะแนนกัน
ตามร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอไปนั้น ได้กำหนดต่อไปด้วยว่า ถ้าหีบบัตรใดมาถึงสถานที่นับคะแนนเกิน ๒๔ ชั่วโมงโดยไม่มีเหตุอันควร กกต.จะสั่งให้เลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้น หรือสั่งอย่างอื่น เพื่อให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมได้ (เช่น ถ้าคะแนนจากหน่วยดังกล่าว ไม่มีความหมายแล้ว เพราะผู้ชนะ ๆ เป็นหมื่น ๆ คะแนน ก็อาจประกาศผลการเลือกตั้งไปได้เลย) ระยะเวลาดังกล่าว สภาผู้แทนแก้ไขให้เหลือ ๑๒ ชั่วโมง แต่พอมาถึงวุฒิสภากลับแก้ไขเป็นว่า
ถ้าหีบบัตรเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งใด ส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนล่าช้า โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัย สั่งมิให้เปิดหีบบัตรเลือกตั้ง หรือไม่นับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้นก่อน แล้วจึงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้น ผลจากการแก้ไขดังกล่าว จึงกลายเป็นว่าถ้าหีบบัตรมาไม่ถึง นอกจากจะนับคะแนนไม่ได้แล้ว ยังต้องเลือกตั้งใหม่ในหน่วยนั้นทุกกรณีไป
ด้วยมาตรการที่สภาทั้งสองได้แก้ไขใหม่นี้ ใครจะมีปัญญาดำเนินการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันได้บ้าง ยังสงสัยอยู่
ปัญหาที่หนักใจ กกต.ในเรื่องสำคัญ ๆ จึงยังคงอยู่เต็มอัตราศึก
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ สภาคอยพะวงและห่วงใยอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าคนที่ กกต.เห็นว่าไม่สุจริต จะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะสะกัดอำนาจของ กกต.ไว้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ได้รับเลือกตั้งโดยสุจริต (เพราะผ่านการตรวจสอบของ กกต.มาแล้ว) มีความรู้ความสามารถ จนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี สภากลับออกกฎหมายบังคับให้ กกต.ลงโทษคนเหล่านั้น
เป็นวิธีคิดที่หาความสะใจ หรือแก้เผ็ดได้ด้วยวิธีที่แปลกดี!!
|