ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    "ใบแดง" ของ กกต.

    ผมนึกว่าเมื่อผมและคณะได้ร่างกฎหมายลูก เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกทั้งสองสภาเสร็จแล้วก็ควรจะหมดภาระหน้าที่กันไป ต่อจากนั้นใครมีอำนาจหน้าที่อย่างไรก็ต้องทำกันไปโดยผมจะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือผลักดัน เพราะเคยถูกคนอื่นบีบคั้นและผลักดันมาแล้ว จึงรู้ดีว่าขมขื่นเพียงใดและก่อให้เกิดปัญหาแก่บ้านเมืองเพียงใด


    มาบัดนี้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวไปใกล้จะเสร็จแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของขบวนการเลือกตั้งเสียใหม่ ผู้คนทั่วไปก็ดี กกต.ก็ดี สื่อมวลชนก็ดี ต่างแสดงความเห็นคัดค้านกันอยู่ทุกวัน ดังนั้นเพื่อให้สังคมได้ทราบถึงแนวความคิดที่คณะผู้ร่างได้มีอยู่ในขณะที่ทำการยกร่างกฎหมายนี้ ผมจึงจำเป็นต้องหันกลับมาพูดเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันจะได้ถือโอกาสแสดงความเห็นต่อวิธีการใหม่ของคณะกรรมาธิการไปพร้อมกัน


    ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นปัญหาโต้แย้งกันอยู่ในขณะนี้ คืออำนาจของ กกต.ที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง อันจะมีผลทำให้บุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันติดปากว่าอำนาจการให้ "ใบแดง”


    ตามร่างเดิมที่กำหนดไว้นั้น ให้เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะให้ใบแดงได้ตลอดเวลานับแต่สมัครรับเลือกตั้งจนถึงเลือกตั้งแล้วเสร็จ (โปรดสังเกตว่าเป็นอำนาจของ กกต.๕ คน ไม่ใช่อำนาจของ กกต.จังหวัดซึ่งมีอยู่จำนวนมากในทุกจังหวัด)


    เหตุผลที่คณะผู้ยกร่างกำหนดไว้เช่นนั้น มีดังต่อไปนี้


    ๑. รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของ กกต. ในการควบคุมและดำเนินการเลือกตั้ง อำนาจเช่นว่านี้ รวมถึงอำนาจสำคัญ ๆ ซึ่งแต่ก่อนเคยอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่น (มหาดไทย ตำรวจ อัยการ และแม้แต่ศาล) เช่น

    • อำนาจในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และอำนาจในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง (รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕(๓) และมาตรา ๑๔๗)
    • อำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา ๑๔๕ (๔))
    • อำนาจในการประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา ๑๔๕ (๕))
    • อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยสั่งการหลังจากที่สืบสวนสอบสวนแล้ว (มาตรา ๑๔๗)

    บรรดาข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งศาล ล้วนถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ต้องกระทำการตามคำขอของ กกต.ทั้งสิ้น


    นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังได้เคยกล่าวไว้แล้วในคำวินิจฉัยครั้งหนึ่งว่า เมื่อ กกต.ใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดแล้วศาลไม่มีอำนาจก้าวล่วงเข้าไปในการใช้อำนาจของ กกต.ได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเด็ดขาดของอำนาจ ของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ


    อำนาจทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะถูกต้องหรือถูกใจใครหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะไม่มีใครสามารถจะปฏิเสธได้ เนื่องจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ใครไม่ชอบใจหรือเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรต้องไปดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน


    กล่าวโดยสรุป กกต.มีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเทียบเท่ากับศาล และอาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่ามีอำนาจมากกว่าศาล เพราะศาลยังมีหลายระดับ สามารถอุทธรณ์ฎีกากันต่อไปได้ แต่ กกต.นั้นเมื่อชี้ขาดแล้วย่อมเป็นที่สุด


    ๒. ในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กกต. ต้องดำเนินการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่สามารถจะตัดคนที่ไม่สุจริตออกจากขบวนการเลือกตั้งได้ โดยผลดังกล่าวนอกจากจะต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนานและสิ้นเปลืองเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมากมายแล้ว ยังทำให้ขบวนการในการขจัดการซื้อเสียงไม่เกิดผลโดยสิ้นเชิง


    ๓. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตายตัวว่าจะต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้ง หากปล่อยให้ขบวนการเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ในการเลือกตั้ง สว. ย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่มีทางที่การเลือกตั้งจะแล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้งครั้งแรกได้ และถ้าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันได้ นอกจากจะเกิดปัญหาในทางรัฐธรรมนูญแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ รัฐบาลเก่าก็จะต้องรักษาการกันต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จะเป็นกี่วันกี่เดือนไม่มีใครบอกได้ ซึ่งจะทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะรัฐบาลที่รักษาการย่อมไม่สามารถดำเนินการใดในเชิงนโยบายได้


    ๔. ทางออกที่คิดกันได้ ก็คือ ต้องบังคับให้ กกต.ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน แต่การบังคับเช่นนั้นก็จำเป็นต้องให้เครื่องมือแก่ กกต.เพิ่มขึ้น เครื่องมือที่ดีที่สุด ก็คือ การขจัดคนไม่สุจริตออกไปเสียจากขบวนการเลือกตั้ง


    ๕. ในเมื่อ กกต.รู้เห็นพฤติกรรมของผู้สมัครมาแต่แรกตั้งแต่วันที่ลงสมัคร จึงควรให้ กกต.มีอำนาจเช่นว่านั้นนับแต่วันที่ลงสมัครเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่าผู้ใดกระทำการไม่สุจริต ก็ตัดออกจากขบวนการการเลือกตั้งทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการเลือกตั้งเสียก่อน ด้วยวิธีนี้ จะทำให้ กกต.มีเวลาตรวจสอบและสั่งการได้ตลอดระยะเวลาที่หาเสียงกัน ถ้า กกต.เข้มงวดและมีกลไกดีจริง ๆ ถึงวันเลือกตั้ง คงจะเหลือแต่คนที่ไม่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงความไม่สุจริต หรือหากจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็จะน้อยลง เมื่อลงคะแนนเลือกตั้งแล้วย่อมสามารถตรวจสอบได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยกลไกเช่นนี้น่าเชื่อว่าผู้สมัครต่างจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมของตนและพวกพ้องมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ กกต.จะจับตาดูเท่านั้น คู่แข่งในการเลือกตั้งต่างจะจับตาดูซึ่งกันและกัน อันเป็นการช่วย กกต.อีกทางหนึ่งด้วย


    คนที่สุจริตไม่มีเงินจะใช้ซื้อเสียง ก็อาจสู้คนซื้อเสียงได้ โดยคอยจับตาดูคนที่มีเงินและซื้อเสียงเพื่อแจ้งเบาะแสให้ กกต.ดำเนินการต่อไป


    ๖. มีคนห่วงกันว่า การพิจารณาวินิจฉัยของ กกต. ย่อมจะรับฟังคำเสนอแนะจาก กกต.จังหวัดบ้าง จากเจ้าหน้าที่ของ กกต. บ้าง เกรงว่าจะไม่รอบคอบ และไม่เป็นธรรม คณะผู้ยกร่างจึงได้จัดตั้งคณะผู้ทำการสอบสวนขึ้นประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญและน่าเชื่อถือได้ เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ให้มาช่วยดูสำนวนก่อนที่ กกต.จะวินิจฉัย ซึ่งก็ยังเป็นห่วงกันอีกว่าในชั้นที่ กกต.วินิจฉัยนั้น โดยที่อาจมีสำนวนมาถึงมากมาย กกต.อาจไม่มีเวลาเพียงพอ ไม่รอบคอบจนเกิดความไม่เป็นธรรมได้ (ซึ่งความจริงไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะเนื่องจากอำนาจที่ให้ไว้ตามข้อ ๕ ย่อมทำให้สำนวนค่อย ๆ ทยอยมาถึง กกต.อยู่แล้ว) คณะผู้ร่างจึงได้ตั้งคณะบุคคลอีกคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยคนชั้นหัวกะทิของบ้านเมืองเพื่อให้มาช่วยคอยดูแลว่า ถ้าเมื่อไรที่ กกต.จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใคร ก็ให้ส่งสำนวนให้คณะบุคคลดังกล่าวช่วยดูอีกทีหนึ่งว่าเป็นธรรมเพียงพอหรือยัง แต่อำนาจทั้งปวงจะยังคงเป็นของ กกต. ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ


    การตั้งคณะบุคคลทั้งสองชุดดังกล่าว ล้วนได้รับการต่อต้านจากบรรดาผู้พิพากษาอย่างมาก ซึ่งก็น่าเห็นใจ และมีเหตุผลดีอยู่ แต่เรื่องนี้คณะผู้ยกร่างมิได้เสนอโดยไม่มีมูลฐานอันจะอ้างอิง ถ้าใครอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕ (๒) และ มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง ดูก็จะรู้ว่า อำนาจเช่นว่านี้ กกต.มีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายนี้เพียงแต่กำหนดวิธีการในการสั่งหรือขอหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาช่วยเท่านั้น ถ้าจะเห็นกันว่าเป็นการก้าวก่าย หรือผิดหลักสากล ก็ต้องไปโทษรัฐธรรมนูญ คณะผู้ร่างมิได้อุตริคิดอะไรขึ้นใหม่ แม้กระนั้นถ้าคณะกรรมาธิการฯจะตัดส่วนนี้ออกไป ก็ไม่มีอะไรเสียหาย


    หลักการและขบวนการดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกคณะกรรมาธิการฯ แก้ไขเสียใหม่ โดยในชั้นต้นแก้ไขเป็นว่า ให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาในการให้ "ใบแดง” (คือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) ต่อมาครั้งสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม ได้แก้ไขใหม่เป็นว่า เมื่อ กกต.วินิจฉัยให้ใบแดงใครแล้ว ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอีกทีหนึ่งว่า กกต.ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ และมีความลำเอียงหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอย่างไรแล้วให้ส่งกลับมาให้ กกต. หาก กกต.ยังยืนยันมติเดิมก็ให้ดำเนินการไปได้แต่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีคนฟ้องร้องต่อศาล


    ผมมีความเห็นต่อการแก้ไขดังกล่าว ดังนี้


    ๑. ถ้าแก้ไขให้อำนาจการให้ใบแดงไปเป็นของศาลฎีกา ก็จะเท่ากับย้อนกลับไปหาระบบการเลือกตั้งแบบเดิมก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือนำเรื่องขบวนการเลือกตั้งไปให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้โอนอำนาจดังกล่าวมาให้ กกต.แล้ว ข้อสำคัญอย่าลืมว่าระยะเวลาในการดำเนินการตลอดทั้งขบวนการมีจำกัดอยู่เพียง ๓๐ วัน การพิจารณาของ กกต.ในเบื้องต้นก็ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง ศาลฎีกาก็ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเช่นกัน อย่างน้อย ๆ ก็ต้องไม่น้อยกว่าฝ่ายละ ๑๐ วัน ถ้ารวมขบวนการทางด้านธุรการเข้าไปด้วย ก็จะเกิน ๓๐ วันแล้ว


    ประการสำคัญที่สุด กกต.เป็นผู้รู้เห็นและสัมผัสกับบรรยากาศของการทำทุจริตในการเลือกตั้งมาแต่ต้น การวินิจฉัยจึงยากที่จะผิดพลาด การรู้เห็นและการสัมผัสดังกล่าวยากที่จะนำมาบันทึกเป็นสำนวนการสอบสวน แต่เป็นองค์ประกอบทำให้ "ควรเชื่อได้ว่า” มีการกระทำไม่สุจริตหรือไม่ เมื่อสำนวนไปถึงศาล ๆ จะรับรู้ได้อย่างซาบซึ้งถึงสัมผัสและบรรยากาศดังกล่าวได้อย่างไร ถ้าอ่านแต่สำนวนที่เป็นลายลักษณ์อักษรย่อมยากที่จะวินิจฉัยตามความเป็นจริงได้


    คนที่ดูละครเศร้านั้น ส่วนใหญ่ดูไปร้องไห้ไป แต่เมื่อคนดูนำไปเล่าให้อีกคนหนึ่งฟัง ไม่ว่าจะเล่าละเอียดหรือมีท่าทางประกอบอย่างไร เคยมีใครเห็นคนฟังร้องไห้บ้างไหม?


    ในการขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น เราต้องการความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จริงหรือเราต้องการความจริงตามที่ปรากฏตามเอกสารที่เรียกกันว่า "พยานหลักฐาน” กันแน่? ในการซื้อเสียงนั้นเคยมีใครจับได้ไล่ทันโดยใช้ "ความจริงตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐาน” ได้บ้าง คำพิพากษาของศาลในคดีที่เกิดขึ้นที่บุรีรัมย์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าระบบของศาลสามารถสาวไปได้ไกลเพียงใด


    การดำเนินการของ กกต.ในการเลือกตั้ง สว. นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ไม่ได้มีการกระทำผิดตัว ถ้าจะผิดก็เป็นเพียงเรื่องที่ไม่สามารถจับได้ไล่ทันทั้งหมด คนที่จับได้ไล่ทันนั้น แม้จะออกมาบ่น ๆ กันแต่ก็ไม่มีใครเคยอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าตนมิได้กระทำการอันไม่สุจริต


    ๒. ถ้าแก้ไขเป็นว่า เมื่อ กกต.วินิจฉัยแล้วให้ส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยก่อน ว่าปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ ลำเอียงหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยจึงส่งกลับมาให้ กกต.ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง กกต.จะยืนยันคำวินิจฉัยเดิมก็ได้หรือจะเห็นด้วยกับศาลฎีกาก็ได้ แต่ถ้ายืนยันคำวินิจฉัยเดิมจะต้องรับผิดชอบในทางอาญาเมื่อมีคนฟ้องร้องขึ้น


    วิธีการนี้ ดูจะแย่ยิ่งกว่าวิธีการแรก ที่คุณยุวรัตน์ ออกมาพูดว่า “เหมือนไม่ใช่วิธีของมนุษย์” นั้น จึงน่าเห็นใจอยู่ ความเห็นของผมมีดังนี้


    ๑) เป็นการนำศาลฎีกามาควบคุมการดำเนินการของ กกต. ซึ่งน่าจะมีปัญหาว่าจะเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่าลืมว่า ตามรัฐธรรมนูญนั้น กกต.มีอำนาจในเชิงวินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเช่นเดียวหรือมากกว่าศาลด้วยซ้ำไป ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ในสายตาของรัฐธรรมนูญ กกต.และศาลมิได้มีความเหลื่อมล้ำหรือสูงต่ำกว่ากัน และไม่อาจอ้างได้ว่าสถาบันใดน่าเชื่อถือกว่ากัน เพราะต่างก็เป็นสถาบันที่สร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และแต่ละสถาบันต่างประกอบไปด้วยคนไทยที่ถูกหล่อหลอมมาจากสังคมเดียวกัน มีโลภ โกรธ หลง เหมือนกัน จะต่างกันก็แต่เฉพาะขบวนการทำงาน


    ศาลมีกระบวนการทำงานที่กำหนดให้ศาลดำรงตนเป็นกลาง ทุกกรณีปล่อยให้เป็นเรื่องของคู่กรณีที่จะต่อสู้กัน แม้จะรู้ความจริงว่าน่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อหลักฐานบ่งชี้ทางใด ก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้น ผู้พิพากษาเองถูกฝึกมาว่าการปล่อยคนทำผิดสิบคนดีกว่าเอาคนสุจริตเข้าคุกหนึ่งคน จึงยึดหลักที่ว่าทุกกรณีจะต้องได้รับการยืนยันด้วยหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์จำเลยนำสืบ และถ้าเป็นคดีอาญาก็ต้องถึงขนาดปราศจากข้อสงสัยใด ๆ จึงจะยอมลงโทษ โดยศาลเองไม่ได้ถูกฝึกมาให้ค้นคว้าหาความจริง นอกเหนือไปจากที่ปรากฏในสำนวน


    ส่วน กกต.ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มีส่วนได้เสียต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมตามที่เป็นจริง (ไม่ใช่ตามพยานหลักฐาน) มาตรฐานในการวินิจฉัยของ กกต. ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วว่า เพียง “มีเหตุอันควรเชื่อ” ว่ามีความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมเกิดขึ้น กกต.ก็ต้องดำเนินการจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ คำว่า “อันควรเชื่อ” นั้น มิได้หมายความว่า “ต้องเชื่อ” แม้จะไม่เชื่อ แต่เมื่อมีเหตุ “อันควร”เชื่อ ก็ปฏิเสธไม่ได้แล้ว


    จริงอยู่อาจมีผู้อ้างว่าผู้พิพากษาตุลาการนั้นได้มีการสอบคัดเลือก อบรม และฝึกงาน และถูกควบคุมมาอย่างเข้มงวด จึงน่าจะไว้ใจได้ แต่ กกต. ก็มิใช่เป็นคนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า ได้รับการคัดสรรมาจากองค์กรที่ประกอบด้วยคนที่เชื่อถือได้ ถูกตรวจสอบประวัติจากวุฒิสภา และได้รับความไว้วางใจจากวุฒิสภาตามกลไกของรัฐธรรมนูญ หากกระทำการอันไม่เที่ยงธรรมขึ้น นอกจากจะถูกถอดถอนได้แล้ว ยังอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้อีกด้วย ที่แย่กว่านั้นก็คือ คนที่จะเป็นผู้กล่าวหาและมีมติให้ถอดถอนนั้น ได้แก่ สส.และ สว. ซึ่งเป็นคนที่เคยเป็นคู่กรณีมากับ กกต.เป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น กกต.จึงต้องทำงานด้วยความระแวดระวังมากกว่าใคร ๆ


    เราไม่ควรนำเอาพฤติกรรมของบุคคล มาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหลักการ เพราะถ้าพูดถึงเรื่องตัวบุคคล ก็จะเหมือน ๆ กันในทุกวงการที่มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน


    ๒) เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลฎีกาโดยสิ้นเชิง การเขียนกฎหมายกำหนดว่าเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยอย่างไรแล้ว คนที่เกี่ยวข้องจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เช่นนี้ ผมนึกไม่ออกว่า ผู้คนในวงการยุติธรรมยอมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงจะนำผู้พิพากษามาช่วยทำงาน ยังบ่นกันเป็นหมีกินผึ้งว่าเป็นการผิดหลักเกณฑ์ของสากล เป็นการไม่สมเกียรติ์สมศักดิ์ศรีของท่านผู้พิพากษา (แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ทำได้) แล้วนี่ยอมให้เขียนกฎหมายทำนองดังกล่าวได้ ไม่เป็นการเสื่อมศักดิ์ศรีเสื่อมเกียรติศักดิ์ของศาลฎีกาหรอกหรือ มีหลักเกณฑ์ของสากลในที่ใดบ้างที่ยอมให้ทำกันได้ถึงเพียงนี้


    ๓) แม้ว่าจะเขียนกฎหมายเป็นทำนองว่า ในการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ศาลฎีกาจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปในการใช้ดุลพินิจของ กกต. และเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว กกต.ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะยืนยันความเห็นเดิมของตนได้ เพียงแต่จะต้องรับผิดชอบต่อความผิดทางอาญาที่อาจมีผู้หยิบยกขึ้นฟ้องร้องในภายหลัง


    ถามหน่อยเถอะว่า ในการที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต.ลำเอียงหรือไม่ เที่ยงธรรมแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาจะดูอะไรเป็นหลัก คำตอบก็คือศาลฎีกาคงต้องดูไปตามสำนวนการสอบสวนของ กกต.ว่า พอฟังได้หรือยังว่าผู้สมัครคนนั้นทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าศาลฎีกาฟังจากสำนวนแล้วไม่เชื่อว่าผู้สมัครผู้นั้นทำผิด ศาลฎีกาย่อมต้องวินิจฉัยว่าเกิดการลำเอียงหรือไม่เที่ยงธรรมขึ้น การพิจารณาเช่นนี้ย่อมเป็นการก้าวล่วงเข้าไปในดุลพินิจของ กกต. อย่างปฏิเสธไม่ได้


    และเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเสียแล้วว่าไม่เที่ยงธรรม จะมี กกต.หน้าไหนกล้าดำเนินการต่อไป เพราะทันทีที่ดำเนินการต่อไป ผู้สมัครผู้นั้นย่อมยื่นฟ้องต่อศาลได้ว่า กกต.ประพฤติมิชอบในหน้าที่ และเมื่อศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ ก็เกือบจะตัดสินคดีได้เลยว่า กกต.ผิด เพราะศาลที่ไหนจะเชื่อคำชี้แจงของ กกต. มากกว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกาซึ่งตนเคารพนับถือ


    ถ้าศาลชั้นต้นเชื่อคำชี้แจงของ กกต. ก็เท่ากับบอกว่าศาลฎีกาของตนไม่รอบคอบ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับเป็นการให้ศาลชั้นต้นกลับคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์ของศาลฎีกาจะเหลืออะไร


    มีเสียงบ่นทำนองไม่เข้าใจว่า ทำไม กกต.จึงไม่เห็นด้วย? ทำไม กกต.จึงเรียกร้องให้เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของตนแต่เพียงถ่ายเดียว?


    การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เห็นจะต้องลองยกตัวอย่างดูบ้างว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเกิดสภาไม่ไว้ใจว่าคณะรัฐมนตรีจะสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงออกกฎหมายมาว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติหรืออนุมัติโครงการใด ๆ แล้ว ให้ส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนว่ามติหรือการอนุมัตินั้นเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีนอกไม่มีในใด ๆ หรือไม่ ถ้าศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริต ก็ให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยเอาเองว่าจะยังยืนยันมติหรือการอนุมัตินั้นต่อไปหรือไม่ ถ้ามีกฎหมายเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการแผ่นดินตามหน้าที่ของตนได้อย่างไร จะกำหนดนโยบายหรือปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ได้อย่างไร และถ้าศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามติหรือโครงการดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริต จะมีรัฐมนตรีหน้าไหนยังจะกล้ายืนยันตามมติเดิม ถ้าหากคณะรัฐมนตรียอมรับกฎหมายเช่นนั้นไม่ได้ด้วยเหตุใด กกต.ก็คงรับหลักการที่แก้ไขใหม่นี้ไม่ได้ด้วยเหตุนั้น


    มีบ้างบางคนออกมาบอกว่าคณะผู้ยกร่างเองก็มิได้ไว้วางใจ กกต.นัก จึงได้ตั้งคณะบุคคลขึ้นสองชุดคอยสอบสวนและตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของ กกต. ดังนั้นจึงไม่แตกต่างอะไรกัน ถ้าหากจะโอนการตรวจสอบสำนวนไปไว้เสียที่ศาลฎีกา ซึ่งถ้ามองอย่างหยาบ ๆ ก็คงเห็นเป็นเช่นนั้นได้ แต่ความจริงคณะบุคคลดังกล่าวถูกกำหนดให้มาทำงานในฐานะช่วยเหลือและเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของ กกต. เพื่อให้เกิดความรอบคอบขึ้น โดยอาศัยความชำนาญและความน่าเชื่อถือของบุคคลเป็นสำคัญ เพื่อช่วยให้ขบวนการทำงานของ กกต.รวดเร็ว และรอบคอบยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการยกอำนาจการให้ใบแดงของ กกต.ไปให้ศาลฎีกา หรือให้ศาลฎีกามาตรวจสอบคำวินิจฉัยของ กกต.อย่างที่กำลังแก้ไขกันอยู่ เพราะกรณีตามที่แก้ไขกันนี้ เป็นการเฉลี่ยอำนาจให้ไปอยู่ใน ๒ องค์กร ซึ่งต่างก็มีศักดิ์เท่ากันตามรัฐธรรมนูญ แต่ กกต.จะอยู่ในฐานะแย่กว่าหน่อยตรงที่จะต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ในขณะเดียวกันก็มีคุกตารางรออยู่เบื้องหน้า ส่วนศาลฎีกานั้นนั่งรอเฉย ๆ และเมื่อวินิจฉัยแล้วก็แล้วกันไป ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร จะเสียหายหน่อยก็ตรงที่วินิจฉัยแล้วอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เคยเป็น แต่ก็อาจเอาคนที่ทำให้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ (คือ กกต.) เข้าคุกในภายหลังได้


    การที่ใครต่อใครอยากให้ศาลเข้ามาเป็นผู้วินิจฉัยคดีเลือกตั้งเสียเอง (ซึ่งขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ) ก็คงเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่รู้กันดีว่าโอกาสที่ศาลจะวินิจฉัยตามระบบของศาลเพื่อลงโทษคนทุจริตในการเลือกตั้งนั้นมีน้อยเต็มที หรือถึงมีได้ก็ใช้เวลายาวนานเต็มทีจนสภาหมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุไปแล้ว เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ใครต่อใครที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตจะใช้อำนาจรัฐในระหว่างนั้นไปพลางก่อนได้


    การที่ กกต.ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ได้ยินเสียงขู่มาว่าถ้า กกต.ไม่ยอมทำตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขไว้ ก็อาจถูกถอดถอนได้


    ผมยังนึกไม่ออกว่าถ้ากฎหมายเลือกตั้งถูกแก้ไขให้เป็นไปตามมติของกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนในครั้งหลังสุดนี้จริง กกต.จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะไม่เพียงแต่แก้ไขเพื่อโอนอำนาจการให้ใบแดงไปแบ่งครึ่งกับศาลฎีกาเท่านั้น ยังโอนอำนาจอื่น ๆ เช่น อำนาจในการโต้แย้งคำสั่งของผู้อำนวยการการเลือกตั้ง จาก กกต. ไปเป็นของศาลฎีกาอีกด้วย


    แก้กันไปแก้กันมา แทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ กกต. กลับกลายเป็นการตัดมือตัดเท้าของ กกต.ออกหมด พร้อมทั้งแถมขื่อคามาให้อีกหนึ่งอัน


    ถ้า กกต.ทำงานตามขบวนการใหม่โดยเอาตัวรอดไว้ก่อน การทุจริตหรือการซื้อเสียงก็คงสะดวกสบายขึ้น โดยมี กกต.นั่งมองตาปริบ ๆ แต่ถ้า กกต.เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติอาศัยความสุจริตและดุลพินิจของตนเป็นที่ตั้ง ก็คงไม่แคล้วติดคุกติดตารางในที่สุด


    นี่ถ้ากฎหมายออกมาตามร่างของกรรมาธิการฯจริง แล้ว กกต.เกิดกลัวติดคุกตอนแก่ หรือกลัวถูกถอดถอนให้เสียประวัติ เลยพากันลาออก มิเกิดปัญหาวุ่นวายกันใหญ่หรือ??

    มีชัย ฤชุพันธุ์