ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    เขาแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งกันอย่างไร

    การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วันนั้น บัดนี้คณะกรรมการได้ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนแล้วเสร็จและส่งให้รัฐบาลเรียบร้อยแล้วเมื่อวันพุธ ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น ๑๐ วัน


    เพื่อเป็นการบอกเล่าเก้าสิบให้สาธารณชนได้ทราบถึงแนวคิด วิธีการทำงาน และเหตุผลต่าง ๆ จึงขอนำเบื้องหลังมาสรุปสู่กันฟังพอเป็นสังเขปดังนี้


    ๑. หลักเกณฑ์ในการร่าง : เมื่อลงมือทำงาน เราตั้งหลักกันว่าจะรวบรวมปัญหาทั้งปวงให้ครบถ้วนก่อน แล้วจึงช่วยกันคิดว่าปัญหาดังกล่าวจะมีวิธีการแก้ไขกันอย่างไร การเลือกตั้งจึงจะรวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ เมื่อได้วิธีแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พอใจแล้วจึงจะนำวิธีการดังกล่าวไปยกร่างเป็นกฎหมาย โดยต้องคอยระมัดระวังมิให้ล่วงล้ำก้ำเกินรัฐธรรมนูญตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้


    สำหรับปัญหาต่าง ๆ นั้น เราโชคดีที่สถาบันพระปกเกล้าได้ศึกษาไว้แล้วสามสิบกว่าปัญหา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศึกษาไว้อีกสิบกว่าปัญหา เราจึงลงมือด้วยการตรวจสอบปัญหาเหล่านั้นว่า ปัญหาอะไรบ้างที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบกระทำเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง สส. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าคงมีประเด็นที่น่าจะพิจารณาในชั้นนี้อยู่เพียง ๒๙ ประเด็น ซึ่งเราทำเสร็จตั้งแต่วันแรกของการประชุม คือ วันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น.ถึง ๑๗.๐๐ น.


    ในขั้นที่สอง คือการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น กรรมการทุกท่านที่มาประชุมได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เมื่อมีกรรมการคนหนึ่งเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา กรรมการอื่น ๆ ก็จะช่วยกันติติง ทักท้วง เพิ่มเติม ในแง่มุมต่าง ๆ กันทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ จนกว่าจะเป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย กรรมการ ๒ ท่านที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการที่มาจาก กกต. ได้ช่วยเหลือในด้านการชี้ให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคในเวลาที่จะนำไปปฏิบัติอย่างมาก น่าเสียดายที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งให้ร่วมเป็นกรรมการอีกท่านหนึ่งมิได้มาช่วยด้วย มิฉะนั้น คงจะได้รับฟังประสบการณ์อีกด้านหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในชั้นนี้เราใช้เวลา ๓ วัน คือวันอาทิตย์ที่ ๙ วันอังคารที่ ๑๑ และวันพุธที่ ๑๒ จึงได้ข้อยุติครบถ้วน


    ในชั้นยกร่างเป็นกฎหมาย เราได้รับความเอื้อเฟื้อจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการยกร่าง โดยใช้เวลาในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ และวันศุกร์ที่ ๑๔ แล้วจึงนำร่างไปให้ที่ประชุมพิจารณาที่พัทยา


    ๒. วิธีการทำงาน : โดยปกติในการทำงานร่างกฎหมายนั้น เลขานุการจะนำประเด็นต่าง ๆ เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เมื่อที่ประชุมพิจารณาได้ข้อยุติเป็นอย่างไรแล้วเลขานุการจะจดประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้นไว้ แล้วจึงนำมาให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นการสรุปในภายหลังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเวลาอีกสองสามวันหรือสองสามสัปดาห์ เมื่อถึงตอนนั้นกรรมการส่วนใหญ่ก็จะลืมเลือน หรือมิฉะนั้นก็จะต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ที่ตกลงกันไว้เป็นอย่างที่จดหรือไม่ บางครั้งจึงต้องย้อนกลับไปกลับมาเสียเวลาไม่น้อย และที่สำคัญในการแถลงให้สื่อมวลชนฟังบางทีก็ตรงกับมติบ้าง ตกหล่นไปบ้าง หรือบางกรณีผู้แถลงก็เข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถามจากกรรมการหลายคน ก็มักจะได้รับคำตอบแตกต่างกันไป ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจสับสนได้ ยิ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคยิ่งยากที่จะทำให้สื่อมวลชนเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น ๆ


    บังเอิญผมพอมีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการใช้คอมพิวเตอร์ และมีความสามารถในการพิมพ์ได้ดีพอสมควร ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการนำคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในห้องประชุม เมื่อที่ประชุมตกลงในแต่ละปัญหาว่าอย่างไร ผมก็บันทึกลงไว้ในคอมพิวเตอร์แล้วอ่านให้ที่ประชุมฟัง ในบางกรณีก็พิมพ์ออกมาให้ดูในทันที จนเป็นที่พอใจของทุกคนแล้วจึงจะผ่านประเด็นต่าง ๆ ไปทีละประเด็น เมื่อจบการทำงานแต่ละวัน ก็จะพิมพ์ออกมาให้คนที่เป็นโฆษกนำไปใช้แถลงข่าว ด้วยวิธีนี้จึงทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ข่าวที่ออกมาก็ค่อนข้างจะชัดเจนตรงตามที่ที่ประชุมได้ตกลงกันไว้ ปัญหาเรื่องที่จะมาถกเถียงกันภายหลังว่าที่ประชุมมีมติว่าอย่างไร จึงหมดไป


    มีคนใจร้ายไม่น้อยที่ติติงหรือกระแนะกระแหนในเรื่องการทำงานที่พัทยา


    ความจริงแล้วกำหนดการที่จะไปทำงานที่พัทยานั้นเป็นกำหนดการเดิมของสถาบันพระปกเกล้าที่เป็นเจ้าภาพในการศึกษาวิจัยผลกระทบและวิธีแก้ไขปัญหาในกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งได้ทำมาก่อนหน้าที่รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลขึ้น แต่โดยที่คนส่วนใหญ่ในกรรมการทั้งสองคณะซ้ำกัน ๘๐% ถ้าเราจะไปทำงานของสถาบันที่พัทยาเฉพาะงานของสถาบัน เราก็คงต้องทิ้งงานของรัฐบาลไว้ก่อนจนกว่าจะกลับจากพัทยา


    ไหน ๆ ก็จะไปทำงานให้สถาบันแล้ว คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนชุดเดียวกัน เราจึงถือโอกาสทำงานให้รัฐบาลเสียในคราวเดียวกัน เพื่องานจะได้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา แต่เอาเข้าจริง ในการทำงานที่พัทยา เราใช้เวลา ๘๐% ทำงานให้รัฐบาล เหลือวันสุดท้ายเท่านั้นที่ได้ทำงานให้สถาบัน ที่แย่เอามาก ๆ ก็คือ เราใช้งบประมาณเกือบทั้งหมดของสถาบันในการทำงาน


    สถาบันพระปกเกล้าคงอยากจะรอดูใจรัฐบาลว่า จะกรุณานำงบประมาณของรัฐบาลมาชดใช้เงินของสถาบันบ้างหรือไม่


    สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องไปทำงานกันที่พัทยา ก็เพราะว่ากรรมการแต่ละท่านต่างก็มีภาระกิจกันเต็มมือ เมื่อนั่งทำงานกันที่กรุงเทพ ต่างคนต่างก็ต้องเดินเข้าเดินออกเพื่อไปทำธุระของตนจนน่าเวียนหัว ที่สำคัญงานนี้ต้องการระดมความคิดเห็นของทุกคนเพื่อจะได้เกิดความรอบคอบขึ้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือไปหาสถานที่ที่อยู่ไกลพอสมควร เพื่อทุกคนจะได้ตัดภาระอื่นและไปนั่งทำงานกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราก็ได้ทำงานกันจริง ๆ เริ่มตั้งแต่ ๙.๐๐ น. จนถึง ๑๙.๐๐ น. โดยเว้นช่วงทานอาหารกลางวันระหว่าง ๑๓.๐๐ ถึง ๑๔.๐๐ น. เพียงชั่วโมงเดียว ตอนเย็น กกต.กรุณาควักกระเป๋าเลี้ยงข้าวเย็น แต่การที่ต้องนั่งทำงานกันมาทั้งวัน ทำให้หลายคนนอนแผ่สองสลึงหมดสิทธิ์ออกไปกินข้าวด้วย


    บางคนใจร้ายยิ่งกว่านั้น กล่าวหาว่าพวกเราไปมุบมิบทำงานกันที่พัทยา โถ…..ช่างคิดร้ายอะไรถึงขนาดนั้นได้ลงคอ


    เราจัดให้มีการแถลงข่าวตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ดูเหมือนวันละสองสามครั้ง และทุกครั้งที่กรรมการท่านใดเดินออกมาจากห้องประชุม ถ้าผู้สื่อข่าวซึ่งไปทำข่าวกันอยู่เป็นสิบ ๆ คนอยากซักถามอะไรก็ซักถามกันได้เสมอ เอกสารอะไรที่เป็นผลสรุปก็แจกจ่ายให้สื่อมวลชนได้ดูกันเดี๋ยวนั้น แม้แต่ร่างที่ยกร่างไว้ก็ทยอยส่งให้ดูโดยตลอดเช่นกัน สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำก็คือให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปนั่งฟังด้วย เพราะเกรงว่าการพูดจากันจะไม่สามารถพูดได้เต็มที่ โดยเฉพาะในการยกตัวอย่างของการกระทำผิดในแต่ละกรณี ถ้ามีสื่อมวลชนอยู่ด้วยก็จะทำไม่ได้ถนัด


    ในชั้นพิจารณาตัวร่างพระราชบัญญัติซึ่งทำกันที่พัทยา เป็นเวลา ๓ วัน ๆ ละ ๙ ชั่วโมงรวมเป็นเวลา ๒๗ ชั่วโมง เป็นช่วงที่หนัก เครียด และเหนื่อยกันที่สุด


    อย่านึกว่าเราทำเสร็จได้เร็วกว่ากำหนดแล้วจะนึกเอาว่าทำกันอย่างรวบรัด


    แต่ละมาตรากว่าจะผ่านกันไปได้ ต้องใช้เวลาถกเถียงกันไม่น้อย เพราะวิธีแก้ไขปัญหาที่ตกลงกันมาแล้วนั้น เมื่อมาเขียนเป็นกฎหมายแล้วจึงพบว่า จะมีช่องโหว่ ช่องว่าง ที่ใดที่สามารถแก้ไขปรับปรุงเพื่ออุดช่องดังกล่าวได้ ก็ได้แก้ไขปรับปรุงกันเดี๋ยวนั้น โดยผ่านทางคอมพิวเตอร์ ฉายขึ้นจอขนาดใหญ่เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและช่วยกันติติงเพื่อแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน ด้วยวิธีนี้จึงประหยัดเวลาไปได้มาก


    บางเรื่องบางราวก็พบว่าไม่มีทางที่จะแก้ไขให้อุดช่องโหว่ได้จนต้องยกเลิกวิธีการนั้นไปก็มี เช่น การป้องกันการซื้อเสียงที่กระทำก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนอยากให้มี แต่พอเขียนเป็นร่างกฎหมายก็พบว่า มาตรการใด ๆ ก็ตามที่เขียนขึ้นจะพลอยลงโทษคนทั่วไปที่มีเมตตาจิตสงเคราะห์คนยากคนจนเป็นปกติวิสัยโดยมิได้มีเป้าหมายในทางการเมืองไปด้วย ซึ่งถ้าขืนเขียนเป็นกฎหมายไว้ ก็จะทำให้สังคมและวิถีชีวิตของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไป และเอาเข้าจริงกลับจะไม่สามารถจับผิดนักการเมืองได้


    วิธีการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่คิดว่าน่าจะดี จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรม แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะการจะทำเช่นนั้นจะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งคณะกรรมการถูกจำกัดไม่ให้ทำ ดังนั้น ในการพิจารณาร่างกฎหมายทุกมาตรา จะต้องคอยระมัดระวังมิให้ไปขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ บางเรื่องจึงต้องใช้วิธีอ้อมไปอ้อมมาเพื่อให้ทำได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


    ทุกมาตราและวิธีการที่ได้ยกร่างไว้ กรรมการทุกคนได้พิจารณากันตามหลักวิชาทางกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบแล้วว่าสามารถทำได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ถ้าจะเกิดผิดพลาดถูกวินิจฉัยโดยองค์การที่มีอำนาจว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ก็แปลว่าขีดความรู้ความสามารถของคณะกรรมการที่ร่ำเรียนกันมามีไม่ถึงขั้น เข้าทำนองคำโบราณที่ว่า “สุดไม้ถ่อจะหยั่งถึง”


    บัดนี้ การร่างกฎหมายเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามภาระหน้าที่ของคณะกรรมการและได้ส่งร่างให้กับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องขององค์กรแต่ละองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่จะต้องนำไปพิจารณาเพื่อให้ร่างนี้มีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ต่อไปโดยเร็ว ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไร ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้น ๆ ที่จะต้องกระทำด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง


    ต่อจากนี้ไปใครที่ยังมีปมค้างคาอยู่ในใจว่าจะควรออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ก็เชิญถกเถียงหรือเร่งเร้ากันได้ตามสะดวก เพราะมีร่างรองรับไว้ให้แล้ว


    เหตุที่คณะกรรมการพยายามทำให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด จนสามารถทำได้เสร็จก่อนเวลา ก็เพราะไม่ต้องการถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการถ่วงเวลายุบสภา คนที่กล่าวหาไปแล้ว มาถึงบัดนี้ก็จะได้เลิกกล่าวหาให้ทุกข์ใจตัวเองไปเปล่า ๆ


    เพราะมาถึงวันนี้ การยุบสภาก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี ไม่ว่าใครจะอยากให้ยุบอย่างไรก็ตาม เนื่องจากวุฒิสภายังมีสมาชิกไม่ครบ ๒๐๐ คน ยังไม่สามารถทำการงานอะไรได้ แม้แต่ประธานวุฒิสภาก็ยังมีไม่ได้ ถ้าขืนยุบสภาไปในตอนนี้ บ้านเมืองจะถึงทางตันโดยสิ้นเชิง


    การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการยุบสภา ถ้าหากจะพึงมี


    ถ้าจะมีความผิดก็คงเป็นเพียงว่า การทำงานของคณะกรรมการเป็นการเปิดช่องหายใจมิให้บ้านเมืองเกิดทางตัน อย่างที่ใครบางกลุ่มอาจจะอยากให้เกิดขึ้น


    คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยประเภทที่เห็นว่าความคิดเห็นของตนถูกต้องที่สุด ใครจะแตะต้องไม่ได้ จึงไม่คิดที่จะผลักดัน หรือสร้างกระแสใด ๆ ไปบีบบังคับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติมิให้แตะต้องร่างที่เสนอไป


    จะปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไรก็เชิญตามสะดวก ขอเตือนสติแต่เพียงว่า


    มูลเหตุแห่งปัญหาทางการเมืองของไทยที่เป็นอยู่จนต้องเร่งเร้าให้มีการปฏิรูปการเมืองนั้น จุดใหญ่มาจากการซื้อเสียงในการเลือกตั้งมิใช่หรือ?


    คนสุจริตที่อาจถูกสะกัดกั้นด้วยความผิดพลาด (ถ้าหากจะบังเอิญมี) ไม่ให้เข้าสู่แวดวงการเมือง ๑๐ คน กับการปล่อยให้คนไม่สุจริตที่ใช้เงินสร้างฐานอำนาจทางการเมืองเข้าสู่วงการเมืองเพียง ๑ คน อย่างไรจะสาหัสกับบ้านเมืองกว่ากัน


    ตราบเท่าที่เรายังเปิดช่องปล่อยให้คนซื้อเสียงเข้ามาสู่สภาได้ การปฏิรูปการเมืองจะทำได้อย่างไร ?

    มีชัย ฤชุพันธุ์