ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ทำไมผมถึงรับเป็นประธานแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง

    ใคร ๆ ก็รู้ว่าการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเป็นปัญหาทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายกำลังใช้เรื่องนี้เป็นหมากสำคัญในการชิงไหวชิงพริบในเกมการเมือง


    ฝ่ายแรกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต้อนให้ฝ่ายที่สองจนมุม


    ฝ่ายที่สองใช้เป็นเหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกต้อน


    ส่วนประชาชนถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเห็นด้วยกับฝ่ายที่หนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับฝ่ายที่สอง กลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนข้างมากสับสนไปหมดไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร


    ในท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายดังกล่าว ใครก็ตามที่เข้ามารับทำหน้าที่ย่อมจะต้องเปลืองตัว เพราะจะเหมือนอยู่ในระหว่างเขาควาย หันไปทางไหนก็ต้องโดน


    โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงความเหนื่อยยากในการทำงาน ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันจำกัดที่กำหนดไว้ให้เพียง ๑๕ วัน ทั้งยังต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ให้กระดิกตัวแทบไม่ได้ เพราะให้แก้ไขแต่เฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง


    แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่าต้นเหตุสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ที่เป็นตัววางกรอบไว้ จนเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในขณะนี้ กฎหมายเลือกตั้งทั้งปวงจึงต้องเป็นไปตามกรอบนั้น ใครจะมีความคิดอ่านหรือวิธีการดี ๆ อย่างไร ย่อมไม่สามารถจะทำได้เต็มที่ เพราะจะไปติดขัดที่รัฐธรรมนูญ


    แล้วทำไมผมถึงยอมรับหน้าที่นี้


    ผมได้เคยวาดภาพของการเลือกตั้งที่ผ่านมาไว้ในบทความที่ลงใน website นี้ เรื่อง จะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งไปทำไม และสรุปว่าถ้ายอมรับภาพเหล่านั้นได้ก็ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ก็จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเปลี่ยนภาพดังกล่าวเสีย (มีคอลัมนิสต์จาก “ประชาชาติธุรกิจ” อ่านเพียงชื่อบทความแล้วเลยไปสรุปเอาว่าผมยืนยันว่าไม่ต้องแก้กฎหมายเลือกตั้ง ถ้าคอลัมนิสต์ท่านนั้นอ่านจนจบก็จะพบว่าเป็นเรื่องตรงกันข้าม)


    ผมก็เหมือนกับประชาชนเป็นจำนวนมากที่ยอมรับภาพเหล่านั้นไม่ได้ จึงคิดว่าจำเป็นจะต้องหาทางแก้ไขมิให้เกิดภาพเหล่านั้นซ้ำมาอีกในการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้


    ในช่วงที่สมาชิกฝ่ายค้านพากันลาออก จนเกิดกระแสอย่างรุนแรงที่จะให้มีการยุบสภา แต่ในหมู่ผู้ที่อยากให้ยุบสภานั้น ก็ยังเห็นกันเป็นสองฝ่าย ๆ หนึ่งเห็นว่าให้รัฐบาลรีบเสนอกฎหมายเลือกตั้งต่อสภา แล้วให้สภาพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วจึงยุบสภา


    ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเห็นว่ารัฐบาลควรยุบสภาแล้วออกเป็นพระราชกำหนดแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าให้ยุบสภาในทันทีโดยไม่ต้องไปแก้ไขให้เสียเวลา อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิด ไป หรือถ้ามีปัญหานักก็ให้ กกต. ไปแก้ไขระเบียบวิธีการเอาเอง


    ที่คิดกันอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นความรุนแรงของอารมณ์


    ถ้าได้ตั้งสติกันให้ดีแล้วถามตัวเองว่า ที่จะออกพระราชบัญญัติหรือออกพระราชกำหนดนั้น จะเอาร่างกฎหมายมาจากไหน มีใครคิดวิธีการแก้ไขได้แล้วหรือยัง ส่วนที่ว่าจะให้ กกต.ไปแก้ไขระเบียบเอาเองนั้น ปัญหาอยู่ที่ระเบียบหรืออยู่ที่กฎหมาย ถ้าอยู่ที่กฎหมาย แล้วจะให้ กกต.ออกระเบียบไปแก้ไขกฎหมายได้อย่างไร


    ส่วนพวกที่เห็นว่าอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิด นั้น ได้ตั้งคำถามบ้างหรือไม่ว่าถ้าในการเลือกตั้ง สส.แล้วต้องมีการเลือกตั้งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำกันอย่างไร การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวนเพียง ๒๐๐ คน จนป่านนี้ ๔ เดือนกว่าแล้ว ยังได้ไม่ครบ การยุบสภาโดยเร็วในวันนี้ แล้วต้องไปรออีก ๔ เดือนเป็นอย่างน้อยเพื่อจะให้ได้ สส.ครบ ๕๐๐ คน โดยมีรัฐบาลนี้อยู่รักษาการต่อไป กับการที่อดทนรออีกเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปรอผลการเลือกตั้งดังกล่าว อย่างไรจะเร็วกว่ากัน และอย่างไรจึงจะทำให้บ้านเมืองเสียหายน้อยที่สุด


    ต่างฝ่ายต่างทุ่มเถียงกันอยู่อย่างนี้ โดยไม่มีใครไปคิดอ่านหาวิธีการแก้ไขพร้อมทั้งยกร่างเป็นร่างกฎหมายเพื่อรองรับไว้ ถึงจะเถียงกันจนตายไปข้างหนึ่ง ก็คงหาข้อยุติไม่ได้


    เมื่อท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอร้องให้ผมเข้ามาช่วยทำหน้าที่ และมองเห็นหายนะของบ้านเมืองดังกล่าวข้างต้น ผมจึงไม่มีทางเลี่ยงได้


    มิฉะนั้น ผมก็จะกลายเป็นคนหนึ่งในหลาย ๆ คนในสังคมไทย ที่ดีแต่พูด


    ผมอยู่ในแวดวงการเมืองมานานพอสมควร และก็รู้เหมือน ๆ กับที่คนอื่นรู้ ว่าการเข้ามาทำหน้าที่นี้ นอกจากจะเหนื่อยยากแล้ว ยังมีแต่เปลืองตัวหรือเสมอตัว เท่านั้น


    ผมไม่ใช่ “นักการเมือง” ที่จะต้องคอยระวังคะแนนเสียง ดังนั้น แม้จะต้องเปลืองตัวไปบ้าง ถ้ามีส่วนทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้โดยเรียบร้อย ไม่เกิดทางตันขึ้น ก็น่าจะเกินคุ้มแล้ว อย่างน้อยก็เป็นการทดแทนบุญคุณเงินภาษีอากรที่เคยส่งเสียให้ผมได้ไปเรียนหนังสือถึงเมืองนอกเมืองนากับเขาด้วย


    ภายในระยะเวลาอันสั้น ๆ นี้ ถ้าสามารถหาวิธีการแก้ไขทางตันของการเลือกตั้งพร้อมทั้งมีร่างกฎหมายรองรับไว้แล้ว หลังจากนั้นใครจะเรียกร้องให้ออกเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือยุบสภา กันอย่างไร ก็เป็นเรื่องทางการเมืองที่จะไปต่อสู้กันเอาเองให้สนุก หากเกิดฉุกเฉินจะต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง อย่างน้อยก็จะได้มีตัวร่างกฎหมายไว้ให้หยิบฉวยได้

    มีชัย ฤชุพันธุ์