ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ปัญหาของรัฐบาล

    ฝ่ายค้านลาออกแล้ว! และทำท่าว่าจะลาออกจนไม่เหลือฝ่ายค้านจริงๆ


    การลาออกนั้นใครจะว่าดีหรือไม่ดี หรือใครจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจแก้ไข ให้กลับคืนมาได้แล้ว


    ป่วยการที่จะไปคิดค้นหาสาเหตุ หรือพูดอะไรให้ทิ่มแทงใจกันอีกต่อไป


    อีกสองสามวันผู้คนในสังคมคงเลิกพูด ในประเด็นที่ว่าฝ่ายค้านควรลาออกหรือไม่


    ทุกคนจะหันกลับมาพูดแต่เรื่องว่า รัฐบาลจะควรยุบสภา หรือควรจะอยู่ทำงานต่อไป และยิ่งนานวันเข้า ประเด็นจะเหลือแต่เพียงว่า ทำไมรัฐบาลไม่ยุบสภา หรือเมื่อไรรัฐบาลจึงจะยุบสภา


    รัฐบาลคงหงุดหงิดใจอยู่ไม่น้อย เพราะตอนนี้ปัญหาพ้นจากอกฝ่ายค้านไปแล้ว และ กำลังเคลื่อนมาสู่รัฐบาลอย่างหนักหน่วง


    แต่ในฐานะที่จะต้องรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ รัฐบาลจะยุบสภาได้หรือ ถ้าปัญหาเรื่องงบประมาณ และกฎหมายเลือกตั้งยังคาราคาซังอยู่


    ถ้าไม่ยุบสภา รัฐบาลจะสามารถผลักดันงบประมาณรายจ่าย ให้ออกมาใช้ได้หรือไม่ เพราะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณต่อไป จะประดักประเดิดไม่น้อย ถ้าทำอย่าง รีบเร่งให้แล้วเสร็จ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ คือ ก่อน ๓๐ กันยายน โดยไม่แก้ไขหรือแก้ไขให้น้อยที่ สุด ผู้คนก็จะตำหนิอย่างรุนแรงว่า รัฐบาลถือโอกาสที่ไม่มีฝ่ายค้าน กระทำตามอำเภอใจ แต่ถ้ามี การแก้ไขอย่างที่ทำกันทุกปี ทั้งๆ ที่เกือบไม่มีฝ่ายค้านเหลืออยู่เลย ก็จะกลายเป็นการฟ้องว่า รัฐบาลทำงานสุกเอาเผากิน เพราะร่างกฎหมายงบประมาณ ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีมาแล้ว แต่กลับ มาถูกสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลแก้ไข โดยรัฐบาลยินยอม ซึ่งแสดงว่าคณะรัฐมนตรีทำมาผิดหรือ ไม่รอบคอบ


    รัฐบาลย่อมถูกตำหนิและเสียคะแนนนิยมได้


    ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ที่รัฐบาลอยากจะทำให้แล้วเสร็จ เพื่อว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น จะได้เรียบร้อยและรวดเร็ว กว่าที่เป็นอยู่ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา


    ปัญหาอยู่ที่ว่าขณะนี้ ได้มีการคิดกันแล้วหรือยังว่า จะต้องแก้กฎหมายอะไรบ้าง ใน ประเด็นใด และอย่างไร การเลือกตั้ง สส.จึงจะเรียบร้อย ไม่ยืดเยื้อยาวนาน และในขณะเดียวกัน สามารถขจัดการซื้อเสียงและการทุจริตให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาสู่สภามากๆ ตาม เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง


    เมื่อคิดได้จะต้องใช้เวลาอีกเท่าไรจึงจะสามารถส่งสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเริ่มต้นพิจารณาได้ และสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาพิจารณาเท่าไร วุฒิสภาจะใช้เวลาพิจารณาอีกเท่าไร และถ้าวุฒิสภาแก้ไข และสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันไปพิจารณา ขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาอีกกี่วัน


    ขณะนี้อายุของสภามีเหลือไม่ถึง ๑๕๐ วันแล้ว


    จะทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้แล้วเสร็จก่อนสภาจะสิ้นวาระ


    กฎหมายเลือกตั้ง มิใช่กฎหมายที่จะยอมเอออวยกันได้ง่ายๆ เพราะถึงจะไม่มีฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ย่อมมีประโยชน์ได้เสียที่แตกต่างกัน จึงยากที่จะหาข้อยุติ ในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นได้ คงต้องใช้เวลาถกเถียงกันไม่น้อย


    ถ้าเป็นในยามปกติ กฎหมายทำนองนี้ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เดือน ไปอยู่ที่ วุฒิสภาอีก ๑ - ๒ เดือน เพียงเท่านี้ก็จะเลยเวลาของอายุสภาแล้ว ยังไม่ต้องคิดถึงเวลาที่เกิดวุฒิ สภาแก้ไข และจะต้องย้อนกลับมาหาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาอีก


    ถ้าสภาซึ่งมีแต่ฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะรีบเร่งทำให้แล้วเสร็จโดยไม่แก้ไขเลย รัฐบาลก็จะถูกตำหนิอีกเช่นกัน เพราะคนที่เคยเป็นฝ่ายค้านที่อยู่นอกสภา คงไม่นิ่งเฉยปล่อยให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ตามต้องการโดยไม่ออกมาติติง


    ถ้าอดทนต่อแรงบีบคั้นไม่ได้ รัฐบาลเกิดยุบสภาขึ้น ปัญหาที่ค้างคาอยู่จะทำอย่างไร


    รัฐบาลคงต้องรีบคิดอย่างรีบด่วนถึงทางออกว่าทำอย่างไรจึงปฏิบัติภาระกิจของตนได้อย่างงดงาม เพื่อไม่ให้เสียคะแนนนิยม


    ทางออกที่ว่า คงไม่ใช่หาได้ง่ายๆ


    ถ้าหาทางออกไม่ได้ รัฐบาลคงตกหนักไม่น้อย เพราะจะอยู่ต่อไปก็ยาก จะยุบสภาตามที่ถูกบีบคั้นก็ยากเช่นกัน


    น่าเห็นใจรัฐบาลจริงๆ แต่ทำไมคนถึงอยากเป็นรัฐบาลกันนักก็ไม่รู้!

    มีชัย ฤชุพันธุ์