นิยามคำว่า "พนักงาน" ใน พรบ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
เรียน อาจารย์มีชัย ที่เคารพ
อ้างถึงความตาม มาตรา 4 แห่ง พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ได้ให้ความหมายของรัฐวิสาหกิจไว้ 5 ชนิด คือ
"รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า
(ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
หากว่าบุคคลที่เป็นพนักงานประจำในบริษัท ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม (ค), (ง) หรือ (จ) นั้น จะมีสถานะเป็น พนักงาน" ใน มาตรา 3 แห่ง พรบ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ด้วยหรือไม่ครับ
เนื่องจาก คำว่า "พนักงาน" ใน มาตรา 3 แห่ง พรบ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 นั้น กำหนดไว้เพียงว่า
พนักงาน หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้นๆ ทั้งนี้ นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย
ขอแสดงความนับถือ
ชัชพงศ์
|